WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

บอร์ดกทค.เคาะราคาประมูลแล้วค่าคลื่น 4G เริ่มที่ 1.1 หมื่นล.

    แนวหน้า : ‘เศรษฐพงค์’ ยัน4G ประมูลแน่สิงหาฯนี้ ล่าสุด ‘กทค.’เห็นชอบราคาเริ่มต้นแล้ว เริ่มต้นที่ 11,600 ล้านบาท แบ่งเป็นใบอนุญาต2ใบ คาด3รายเดิมเข้าชิง’เอไอเอส’ติงราคาสูงไป

    พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะอนุกรรมการ 1800  เมกะเฮิรตซ์ (MHz)ที่ บอร์ด กทค.ตั้งขึ้น ได้เห็นชอบราคาตั้งต้นการประมูล(reserve price)คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หรือ 4G แล้ว โดยราคาเริ่มต้นการประมูล 1800 MHz มีจำนวน12.5 MHz ต่อ1ใบอนุญาต เริ่มต้นที่ 11,600 ล้านบาท และจะมีการเสนอราคาแต่ละครั้งจะเพิ่มขึ้นครั้ง 580 ล้านบาท  นอกจากนี้ในการประกวดราคา จะแบ่งเป็นช่วงคลื่น (สล็อต) ละ 12.5 MHz ทำให้มีจำนวนใบอนุญาต (ไลเซ่นส์)  2 ใบ ใบละ 12.5 MHz ส่วนอายุใบอนุญาต 19 ปี

    ทั้งนี้ การคิดคำนวณดังกล่าว มี สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ไอทียู) เป็นผู้คิดคำนวณราคา โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐมิติต่างๆ อาทิ การเปรียบเทียบกับผลการประมูล 4G ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ และ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) และศักยภาพรวมทั้งแผนธุรกิจของผู้ประกอบการโทรคมนาคมในไทย เป็นต้น

    สำหรับ คลื่นความถี่ดังกล่าวเป็นคลื่นที่ บริษัททรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด( ในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิสหรือเอไอเอส) เคยได้รับสัมปทานจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)แต่สัมปทานสิ้นสุดลงเมื่อปี2556ที่ผ่านมา

   พันเอกเศรษฐพงค์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป จะมีการนำมติดังกล่าวจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช.ในวันที่ 23 เมษายน2557 เพื่อมีมติเห็นชอบให้นำร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อไป โดยยังคงกรอบระยะเวลาเดิมที่จะเปิดประมูลได้ในเดือน สิงหาคม2557 และให้ใบอนุญาตได้ในเดือน กันยายนปีนี้

    นอกจากนี้ จะมีการกำหนดอัตราเพดานการถือครองคลื่น 1800 MHz ผู้เข้าประมูลใบอนุญาตทั้ง 2 ใบจะต้องไม่เป็นผู้ประกอบการรายเดียวกัน มีข้อกำหนดความครอบคลุมของโครงข่าย โดยผู้ประกอบการจะต้องลงทุนโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของจำนวนประชากรภายใน4 ปี ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเดิมหรือรายใหม่

    พันเอกเศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า หลังจากการประมูลคลื่น1800 แล้ว ต่อจากนั้นจะมีการประมูลคลื่นความถี่ 900  MHz (ปัจจุบัน  เอไอเอส ให้บริการอยู่ และจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี2558)บอร์ดกทค.จะพิจารณาราคาเริ่มต้นการประมูลในเดือน พฤษภาคมปีนี้ โดย  จะจัดให้มีการประมูลล่วงหน้าเดือนพฤศจิกายนนี้ มีจำนวน 2 ใบอนุญาต จำนวน 17.5 เมกะเฮิรตซ์  แบ่งเป็น 2 สล็อต สล็อตละ 10 MHz และ 7.5 MHz ใบ อายุใบอนุญาต 15 ปี

    สำหรับ สัญญาสัปทานของ  เอไอเอส จะหมดสัมปทานวันที่ 30 กันยายน2558 โดย เอไอเอส ได้รับสัมปทานจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

    แหล่งข่าวจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ในเบื้องต้นบริษัทมองว่าราคาเริ่มต้นยังสูงไป และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย และเป็นรายเดิมคือ เอไอเอสเอง, บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค  และบริษัท ทรูมฟูฟ จำกัด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่

    เช่นเดียวกับ แหล่งข่าวจาก ทรูมูฟที่ระบุว่า ราคายังสูง เมื่อเทียบกับการประมูลคลื่น 2.1 GHz หรือ3G ที่ กสทช.ประมูลก่อนหน้านี้ โดยการคำนวณด้วยวิธีของไอทียู ในเบื้องต้นนั้นพบว่าละเลยความแตกต่างของการประมูลในแต่ละครั้งและแต่ละประเทศ โดยตั้งสมมุติฐานเบื้องต้นว่าลักษณะการประมูลในแต่ละครั้งและแต่ละประเทศไม่มีความแตกต่างกัน ซึ่งไม่เป็นความจริง

    ส่วนผู้ประกอบการที่คาดว่าจะเข้าร่วมประมูลมีจำนวนน้อย กล่าวคือน่าจะมีจำนวนเพียง 3 รายเหมือนครั้งประมูลคลื่น 2.1 GHz หรือคลื่น3G

เคาะราคาประมูลคลื่น 1800 ปล่อย 2 ใบอนุญาตคาดได้เงินขั้นต่ำ 2.3 หมื่นล.

    ไทยโพสต์ : สายลม * กทค.เคาะราคาประมูลคลื่น 1800 สูงกว่าประมูล 3จี อยู่ที่ 11,600 ล้านบาทต่อใบ ประมูล 2 ใบอนุญาต มูลค่าราคารวมที่ 23,200 ล้านบาท ชี้ต้องมีผู้ร่วมประมูล 3 รายอย่างต่ำ หากน้อยกว่าต้องล้มการประมูลตามเงื่อนไขประกาศ

    พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรม การกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรม การกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรม การอนุญาตให้มีการใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อ เตรียมความพร้อมสำหรับการประมูล 4จี ที่จะมีขึ้นในเดือน ส.ค.นี้ ได้สรุปราคาตั้งต้นตามที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือไอทียู ส่งมาให้พิจารณาของคลื่นความถี่ดังกล่าวที่ 11,600 ล้านบาทต่อใบอนุญาต ซึ่งการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ได้แบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต จำนวน 12.5 เมกะเฮิรตซ์ต่อใบอนุญาต ทำ ให้มีมูลค่าราคาตั้งต้นรวมอยู่ที่ 23,200 ล้านบาท

    ทั้งนี้ คิดคำนวณ 1 เม กะเฮิรตซ์ อยู่ที่ 464 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าการประ มูลในคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ที่ประมูลไปครั้งก่อน 450 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งคิดเป็นอัตราที่สูงกว่า 3% โดย การประมูลคลื่น 2100 เมกะ เฮิรตซ์ มีจำนวน 45 เมกะ เฮิรตซ์ แบ่งเป็น 9 ใบอนุญาต ใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาตั้งต้นต่อใบอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท โดยราคารวมทุกใบ คือ 40,500 ล้านบาท

   "การที่ราคาตั้งต้นประ มูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ สูงกว่าคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์นั้น เพราะได้พิจารณาจากอัน ดับมวลรวมภายในประเทศและได้ประเมินจากตลาดรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วย เพราะไทยมีคลื่น 2100 ใช้แล้วตอนนี้ ส่วนคลื่น 1800 นั้น เป็นคลื่นที่มาเสริมมากกว่า ซึ่งในต่างประเทศ คลื่น 2100 มีราคาสูงกว่า 1800 เพราะมีการประมูลและนำมาใช้งานที่ต่างกัน" พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าว

    พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวต่อว่า เงื่อนไขการประมูลมี อยู่ว่า ผู้ชนะการประมูลในแต่ ละใบจะต้องไม่เป็นผู้ประกอบการรายเดียวกัน ห้ามผู้ประ กอบการรายเดียวได้ทั้ง 2 ใบ อนุญาต เนื่องจาก กทค.ต้อง การให้เกิดการแข่งขันและเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการรายเล็กสามารถทำการแข่งขันได้ อีกทั้งหากมีผู้เข้าร่วมการประมูลเพียง 2 ราย หรือน้อยกว่า จะไม่สามารถทำการประมูลได้ ต้องมีการยกเลิกการประมูล ดังนั้นจะต้องมีผู้เข้าร่วมการประมูลอย่างต่ำ 3 ราย ทั้งนี้ คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จะมีการกำหนดอัตราการครอบคลุมจำนวนประชากร 40% ใน 4 ปี โดยอัตราดังกล่าว กทค.เห็นว่าคลื่น 1800 จะมาเป็นบริการด้านดาต้า ท็อปอัพ ดังนั้นหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงเหมาะสม

  สำหรับ การดำเนินการต่อไป จะนำผลสรุปดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. และนำร่างประกาศดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นเวลา 45 วัน ก่อนส่งกลับมาที่ กสทช. ในช่วงเดือน มิ.ย.57 จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และอีก 30 วันต่อจากนั้นในเดือน ก.ค.57 จะเปิดให้มีการยื่นเอกสารขอการประมูล และกลางเดือน ส.ค.57 จะสามารถเปิดการประมูลได้ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในวันยื่นเอกสารการประมูลจะมีค่าธรรมเนียม 500,000 บาทต่อซองเอกสารประ มูล และค่ามัดจำอีกจำนวน 580 ล้านบาท รวมเป็นค่าใช้จ่ายวันยื่น เอกสารจำนวน 580.5 ล้านบาท และจะมีอัตราราคาเคาะการประ มูลต่อครั้งที่ 580 ล้านบาท ส่วนรายละเอียดการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จะมีการพิจารณาในช่วงเดือน พ.ค.57 นี้.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!