- Details
- Category: กสทช.
- Published: Wednesday, 04 December 2024 23:33
- Hits: 1844
สำนักงาน กสทช. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือในการกำกับดูแลการโฆษณาสินค้าและบริการ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือการดำเนินการในลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) พร้อมด้วย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมการค้าภายใน (คน.) กรมควบคุมโรค (คร.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กรมอนามัย (กรม อ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รวม 10 หน่วยงาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือในการกำกับดูแลการโฆษณาสินค้าและบริการ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือการดำเนินการในลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า ในนามของ กสทช. ผมมีความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มากล่าวเปิดงานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจฯ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้จัดขึ้นในวันนี้
สำนักงาน กสทช. ในฐานะหน่วยงานรัฐได้ดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการที่มีการกระทำหรือการโฆษณาสินค้าและบริการที่มีลักษณะเข้าข่ายการหลอกลวง การโฆษณาเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญของบริการหรือสินค้านั้น และการโฆษณาเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ดำเนินงานร่วมกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อย. สคบ. ดศ. และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) มาอย่างเข้มแข็ง โดยได้เฝ้าระวังการโฆษณา มีการบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน และมีการจัดทำฐานข้อมูลและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ส่งผลให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมีการตรวจพบโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมายของ อย. สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการกับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้ อย. ดำเนินการกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือผู้ดำเนินรายการ และประสานความร่วมมือไปยัง สตช. เพื่อให้ บก.ปคบ. บังคับใช้กฎหมายหากพบว่าเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เถื่อน นอกจากนี้ ยังมีการประสานความร่วมมือไปยัง สคบ. เพื่อจัดการปัญหาการโฆษณาสินค้าและบริการอื่นๆ และ ดศ. ในการจัดการปัญหาการโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจฯ ในวันนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการพัฒนาแนวทางและบูรณาการความร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 10 หน่วยงาน และผมเชื่อมั่นว่า การดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่และความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจฯ ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ยิ่งในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป” ประธาน กสทช. กล่าว
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจฯ ในวันนี้ เป็นเรื่องสืบเนื่องจากสำนักงาน กสทช. มีภารกิจสำคัญด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับ อย. สคบ. ดศ. และ บก.ปคบ. ภายใต้ความร่วมมือในบันทึกข้อตกลง เรื่อง การกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย หรือการดำเนินการในลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งลงนามกันเมื่อปี พ.ศ. 2562 ต่อมาเมื่อบันทึกข้อตกลงดังกล่าวได้หมดอายุในปี พ.ศ. 2565 กสทช. ในการประชุมฯ ครั้งที่ 22/2566 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ เรื่อง ความร่วมมือในการกำกับดูแลการโฆษณาสินค้าและบริการ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือการดำเนินการในลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งทั้ง 10 หน่วยงานได้ประชุมหารือร่วมกัน และเห็นชอบให้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว และมอบหมาย ให้สำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจฯ เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการโฆษณาสินค้าและบริการ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมุ้งเน้นแนวทางบูรณาการบังคับใช้กฎหมายในเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม มีการประสานงานเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกัน อันจะทำให้ทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็ง เป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ โดยบันทึกข้อตกลงความเข้าใจฯ ฉบับนี้ ได้มีการเพิ่มเติมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากเดิมมีเพียง 5 หน่วยงาน เป็น 10 หน่วยงาน เพื่อให้ครอบคลุมขอบเขตการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคที่กว้างขวางมากขึ้น
12074