- Details
- Category: กสทช.
- Published: Saturday, 07 December 2024 18:11
- Hits: 1648
กสทช. ธนพันธุ์ฯ เผย กสทช. ไฟเขียว (ร่าง) ประกาศที่เกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่สำหรับไมโครโฟนไร้สาย โดยเพิ่มการใช้เทคโนโลยี Digital Enhanced Cordless Telecommunications (DECT) เพื่อรองรับการใช้งานโดยเฉพาะการจัดงานคอนเสิร์ตขนาดใหญ่หรืองานอีเวนต์ระดับโลก
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านคลื่นความถี่และมาตรฐานทางเทคนิค กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ได้เห็นชอบการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลื่นความถี่และมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับไมโครโฟนไร้สาย จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
1. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมประเภทไมโครโฟนไร้สาย
2. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่และเครื่องวิทยุคมนาคมที่อนุญาตให้มีการใช้งานเป็นการทั่วไป
3. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล ซึ่งใช้เทคโนโลยี Digital Enhanced Cordless Telecommunications (DECT)
เพื่อรองรับการใช้งานไมโครโฟนไร้สายที่ปัจจุบันมีการใช้งานมากขึ้นโดยเฉพาะการจัดงานคอนเสิร์ตขนาดใหญ่และการถ่ายทอดสดที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งปัจจุบันยังไม่มีคลื่นความถี่และเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสม เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการประชุมและการจัดงานอีเวนต์ระดับโลกของประเทศไทย
กสทช. ธนพันธุ์ฯ กล่าวว่าไมโครโฟนไร้สายได้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในทุกภาคส่วนของสังคม เช่น การประชุม การศึกษา คอนเสิร์ต คาราโอเกะ กีฬา มหรสพ หรือการผลิตสื่อ ซึ่งปัจจุบัน กสทช. อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวในย่าน VHF จำนวน 2 คลื่นความถี่ ได้แก่ 88-108 และ 165-210 MHz และย่าน UHF จำนวน 3 คลื่นความถี่ ได้แก่ 694-703 748-758 และ 803-806 MHz ซึ่งทุกวันนี้การใช้งานดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น มีความแออัดและเป็นการใช้งานภายใต้อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีเก่า จึงได้ให้นโยบายแก่สำนักงาน กสทช. ไปพิจารณาวิเคราะห์หาคลื่นความถี่เพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องขออนุญาตในลักษณะ Unlicensed ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อพิจารณา และได้ข้อเสนอโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ปรับปรุงมาตรฐานทางเทคนิค เพื่อรองรับการใช้แถบความถี่ช่องสัญญาณที่สูงกว่า 200 kHz รองรับไมโครโฟนไร้สายแบบหลายช่อง (Wireless Multichannel Audio System: WMAS)
2. เพิ่มคลื่นความถี่ในย่าน 1880-1900 MHz รองรับเทคโนโลยี Digital Enhanced Cordless Telecommunications (DECT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐานในระดับสากลรองรับการใช้งานการจัดคอนเสิร์ตหรืออีเวนต์ขนาดใหญ่
3. พิจารณาความเป็นไปได้ทางเทคนิคในการเพิ่มคลื่นความถี่ในย่าน 470-694 MHz กรณีที่ยังคงหรือยกเลิกการใช้งานคลื่นความถี่ย่านนี้สำหรับโทรทัศน์ภาคพื้นดินในอนาคต
4. ปรับปรุงมาตรฐานทางเทคนิคและความปลอดภัยทางไฟฟ้าของอุปกรณ์ให้มีความทันสมัยรองรับคลื่นความถี่และเทคโนโลยีไมโครโฟนไร้สายปัจจุบัน
“การผลักดันในเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ในลักษณะ Unlicensed Band หรือคลื่นความถี่ที่ประชาชนสามารถใช้งานได้ฟรีโดยได้รับยกเว้นใบอนุญาต นับเป็นภารกิจสำคัญที่ผมได้พยายามผลักดันและสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพื่อให้คลื่นความถี่อันเป็นสมบัติของชาติสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัตินั้น สามารถทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องหลังจากที่ได้เพิ่มคลื่นความถี่ในย่าน 6GHz สำหรับอุปกรณ์ WiFi มาแล้ว อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มแล้ว การกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคของอุปกรณ์ที่ใช้คลื่นความถี่นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โดยต้องกำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่มีความเป็นกลาง ปราศจากนโยบายที่จะก่อให้เกิดการปิดกั้นการใช้อุปกรณ์จากผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งในเชิง GeoPolitic ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้งานได้รับประโยชน์ โดยสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ได้อย่างหลากหลายในราคาที่เป็นธรรมจากตลาดที่มีการแข่งขัน ดังนั้นผมจึงขอเชิญชวนให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาร่วมกันให้ข้อคิดเห็นต่อร่างประกาศฯ ดังกล่าว ซึ่งทางสำนักงานฯ จะดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายใน 30 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป” กสทช. ธนพันธุ์ฯ กล่าวปิดท้าย
12155