WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สัมภาษณ์พิเศษ: 'ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ' เดินหน้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

    บ้านเมือง : คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์สำหรับเปิดบริการ 4จี แอลทีอี ในเดือนสิงหาคม 2557 นี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชน ซึ่งทีมข่าวหนังสือพิมพ์บ้านเมืองได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ" กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(ด้านกฎหมาย) ถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz ดังกล่าวในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ที่จะนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้รับทราบ

จากสัมปทาน ถึงการประมูลคลื่นความถี่

   ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ด้านกฎหมาย) เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพย์สมบัติของชาติซึ่งต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน คลื่นความถี่จึงไม่ใช่เป็นของคนใดคนหนึ่ง เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วคลื่นความถี่คือคลื่นวิทยุที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยส่งผ่านสื่อคืออากาศเพื่อใช้ในการสื่อสาร ในอดีตที่ผ่านมาคลื่นความถี่เหมือนเป็นสมบัติของรัฐบาล และรัฐบาลให้เอกชนนำคลื่นความถี่ไปใช้ประโยชน์ในการสื่อสารโดยจ่ายค่าตอบแทนหรือที่เรียกว่าเป็นการให้สัมปทาน

    "ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ถ้าของหายากเป็นสมบัติของชาติ ก็ควรจะให้มีการแข่งขันเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด แต่เมื่อก่อนรัฐบาลทำเองแล้วไม่เกิดประสิทธิภาพหรือรัฐบาลเอาไปให้เอกชนทำสัญญาสัมปทาน ทำให้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลพินิจของฝ่ายผู้มีอำนาจ การได้รับสัมปทานก่อนหลังหรือเงื่อนไขสัมปทานของแต่ละรายไม่เหมือนกัน มีภาระการลงทุนที่สูงเกินความเป็นจริง ฯลฯ  การแข่งขันจึงไม่เกิดขึ้น เมื่อการแข่งขันไม่เกิดขึ้นประชาชนก็ไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้คลื่นความถี่อย่างเต็มที่"

    ดังนั้น จึงได้มีการตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่ 2 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ เพื่อดำเนินการทั้งในส่วนในการที่จะจัดสรรคลื่นความถี่ ตลอดจนการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ทั้งระบบ

     ในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่าจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นประการที่สำคัญที่สุด ในการนี้ต้องส่งเสริมให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้การประมูลคลื่นคือวิธีการอย่างหนึ่งของการจัดสรรคลื่น โดยคลื่นอยู่ในอากาศ จึงต้องมีการจัดระบบเพื่อที่จะให้คลื่นซึ่งเป็นทรัพยากรที่หายากถูกใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันและได้รับประโยชน์สูงสุด โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เพียงให้เอาคลื่นไปจัดสรร แต่ในกฎหมาย กสทช. คือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ พ.ศ. 2553 บังคับไว้เลยว่าในการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมจะต้องทำโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่เท่านั้น

เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

     หัวใจหลักของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 คือ การบริหารคลื่นความถี่และทรัพยากรสื่อสารของชาติในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และต้องดำเนินการ ในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่างๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

    "จากสัมปทานสู่กฎหมายใหม่คือระบบการอนุญาตให้ใช้คลื่น ทั้งนี้ระบบเดิมซึ่งเป็นระบบสัญญาสัมปทานนั้น รัฐบาลอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการโทรคมนาคม และให้เอกชนใช้คลื่นความถี่ตามที่รัฐบาลกำหนดภายใต้สัญญาสัมปทาน โดยข้อเสียของสัญญาสัมปทานคือ หากรัฐบาลเห็นว่าบริษัทนี้ดีกว่า รัฐบาลจะเอาอะไรเป็นเครื่องตัดสิน และถ้าถามว่าบริษัทอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เขาเข้ามาได้ไหม คำตอบคือเขาเข้ามาไม่ได้ ถ้ารัฐบาลให้สิทธิบริษัทแรกแต่เพียงเจ้าเดียว และเมื่อมีสิทธิในการใช้คลื่นเจ้าเดียวทำให้เกิดการผูกขาด คือ ไม่มีการแข่งขัน ไม่จำเป็นต้องลดราคา จึงเป็นผลเสีย ไม่สามารถทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ได้อย่างเต็มที่"

     ส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่ตามระบบใหม่คือการออกใบอนุญาตนั้นเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล โดยประเทศไทยมีปัญหาการขาดแคลนคลื่นความถี่สำหรับโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่นความถี่ที่สามารถที่จะส่งข้อมูลทั้งในส่วนของบริการทางเสียง และข้อมูลที่เป็นตัวข้อมูลเดต้า ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้บริการเป็น 2G หรือเรียกว่า voice service แม้สามารถส่งข้อความได้ด้วย SMS ส่งภาพได้ด้วย MMS แต่เดิมยังไม่สามารถส่งภาพเคลื่อนไหวได้ ต่อมา กสทช.ได้จัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz โดยการประมูลคลื่นความถี่เป็นครั้งแรก ทำให้มีการนำเทคโนโลยี 3จี มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ สามารถให้บริการทางเสียงและบริการทางข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างที่บริษัทผู้ได้รับใบอนุญาตทยอยเปิดบริการ 3จี ทั่วภูมิภาคต่างๆ อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังมีคลื่นความถี่อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในระบบสัมปทาน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัมปทาน

     สำหรับคลื่นความถี่ย่านแรกที่ กสทช.นำมาประมูลไปแล้ว คือคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz หรือ 2100 MHz ที่ถูกทิ้งไว้โดยไม่ได้นำมาใช้งาน ซึ่งมีอยู่จำนวน 45 MHz

      "คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในครั้งนั้นตัดสินใจว่าควรใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz หรือย่าน 2.1 GHz แต่ว่าเงื่อนไขต่างๆ ยังไม่ครบถ้วน เนื่องจากกฎหมายเดิมที่ใช้บังคับ ในขณะนั้นคือ พ.ร.บ.องค์กรฯปี 2543 โดยขณะนั้นกฎหมายกำหนดว่าจะต้องตั้งเป็น 2 องค์กร คือ กทช.และ กสช. แต่ยังไม่สามารถจัดตั้ง กสช.ได้ จึงมีเฉพาะ กทช. อย่างเดียว โดยกฎหมายบอกว่าในเรื่องสำคัญต้องให้คณะกรรมการประชุมร่วมกัน พอ กทช. เดินหน้าจัดประมูลเต็มที่ก็มีผู้นำเรื่องไปฟ้องที่ศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนประกาศ กทช.ที่จะจัดประมูลคลี่น 2.1 GHz ว่าไม่ผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อไม่ให้มีการจัดประมูล เมื่อศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้อง จึงทำให้จัดประมูลคลื่น 2.1 GHz ไม่ได้"

      เมื่อกำหนดจะประมูล แต่จัดประมูลไม่ได้ก็ส่งผลให้เกิดความเสียหาย เมื่อ พ.ร.บ.องค์กรฯ พ.ศ.2553 มีผลใช้บังคับและ กสทช.ชุดนี้เข้ามา จึงมาสานต่อการจัดประมูล 3G จนสำเร็จ โดยตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะต้องมี 3G ใช้ให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ เพราะขณะนั้น ในเรื่องบริการ 3จี ประเทศไทยยังล้าหลังกว่าประเทศอื่นประมาณ 10 ปี

     "ผมในฐานะที่เป็นบอร์ดสายกฎหมายในฝั่งของโทรคมนาคมเพียงคนเดียว เห็นว่าเมื่อมีปัญหาในทางกฎหมายเราก็ต้องแก้ด้วยกฎหมาย ในขณะเดียวกันลำพังกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด เราต้องไปดูให้ครบทุกมิติว่าตัวที่เป็นปัญหานอกเหนือจากกฎหมายแล้วมันมีอะไร ซึ่งต้องทำงานในเชิงบูรณาการ ประกาศหลายฉบับที่ออกมาแล้วก่อนผมเข้ามา แม้เป็นประโยชน์ แต่หลายฉบับล้าสมัยไปแล้ว บางฉบับมีจุดอ่อนในประเด็นข้อกฎหมาย และไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติ การทำงานจึงต้องร่วมกับฝ่ายเทคนิคอื่นๆ จุดที่ขาด เราก็ร่างขึ้นมาใหม่ จุดที่มีประกาศใช้บังคับอยู่แล้ว แต่เป็นปัญหาหรือมีจุดอ่อนก็นำมาปรับปรุงแก้ไข ทำให้สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

บทเรียน 3จี พัฒนาประมูล 4จี

      บทเรียนของ 3G คือ ระหว่างที่ กสทช.ดำเนินการจัดประมูลครั้งแรกนั้นยากมาก เต็มไปด้วยอุปสรรค เนื่องจากเป็นการดำเนินการครั้งแรกในประเทศไทย กสทช.ชุดนี้ก็เข้ามาใหม่ด้วย แต่ขณะนั้นก็มี "ขาใหญ่" อยู่ก่อนแล้ว คือ นักวิชาการบางคนที่อ้างตนเป็น "กูรู" เคยให้ความเห็นและข้อแนะนำตั้งแต่สมัย กทช.จัดประมูล 3จี แต่เราก็ต้องนำมาวิเคราะห์ว่าให้ข้อชี้แนะแล้ว เหตุใดจึงประมูลไม่สำเร็จ จุดอ่อนคืออะไร ซึ่งพิจารณาแล้ว ความเห็นหลายเรื่องไม่ได้ตอบโจทย์ของประเทศไทยอย่างแท้จริง และไม่ทันสมัย รวมทั้งไม่สอดคล้องต่อแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของโลก หากเราไปทำตามก็มีแนวโน้มว่า การประมูลอาจจะล่มอีกครั้ง เราจึงไม่อาจจะเสี่ยงได้อีก

     มุมมองของนักวิชาการบางครั้งก็มีจุดอ่อนเพราะท่านไม่ได้มองในแง่ปฏิบัติด้วย หลายท่านอาจจะเคยศึกษามาบ้างแต่เทคนิคหรือพัฒนาการด้านสื่อสารทางโทรคมนาคมมันก้าวกระโดด พัฒนาอยู่ตลอดเวลา หากไม่ติดตามอย่างใกล้ชิดก็อาจตกยุคได้ง่ายๆ เช่น เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ผู้กำกับดูแลเรื่องโทรคมนาคมระดับโลก และทาง ITU เขาเคยเห็นว่าการจัดสรรคลื่นความถี่โดยวิธีประมูลเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม แต่หลังจากใช้วิธีนี้ไประยะหนึ่ง ปัจจุบันเขาสรุปแล้วว่าการประมูลคลื่นไม่ใช่วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ดีที่สุด เช่น กรณีคลื่นความถี่ใช้กิจการดาวเทียมสื่อสาร ถ้าจัดประมูลอาจทำให้รัฐเสียประโยชน์ได้ เพราะคลื่นความถี่แต่ละคลื่นแต่ละย่านมีการใช้งานไม่เหมือนกัน คลื่นความถี่ที่ใช้กับดาวเทียมสื่อสารต่างจากคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในกรณีของคลื่นที่ใช้กับโมบายหากย่านนี้ บริษัท ก. ได้สิทธิไปใช้ บริษัท ข. จะใช้ไม่ได้ คือใช้ซ้อนกันไม่ได้ ซึ่งต่างจากกรณีดาวเทียมสื่อสาร ย่านหนึ่งสามารถใช้ได้หลายค่ายพร้อมกัน นี่คือความแตกต่าง

     จริงๆ แล้วการจัดสรรคลื่นความถี่มีหลายวิธี แต่น่าเสียดายที่กฎหมายองค์กร ปี 2553 ไปบังคับว่าในกรณีของกิจการโทรคมนาคมให้ใช้วิธีประมูลคลื่นความถี่อย่างเดียวเท่านั้น แม้เราจะเห็นว่าในบางกรณีวิธีอื่นน่าจะจัดสรรได้มีประสิทธิภาพมากกว่า เราก็ถูกบังคับให้ต้องทำการประมูลเท่านั้น ตรงนี้เป็นจุดอ่อนและข้อบกพร่องของกฎหมายที่เห็นได้ชัด

     "สาเหตุที่ ไม่ได้เปิดประมูล 4จี ก่อน หรือประมูล 4จีพร้อมกับ 3จี ไปเลย เพราะตอนที่ กสทช. เข้ามา เปรียบเหมือนบ้านเราเสร็จชั้น 2 และชั้น 2 มีคนอาศัยอยู่เยอะ ในสมัย กทช. พยายามสร้างชั้น 3 เริ่มสร้างแล้ว แต่ปรากฏว่า ทำไม่สำเร็จ คนอยากไปอยู่ชั้น 3 แต่ยังไปไม่ได้ พอ กสทช.เข้ามาเห็นแล้วว่าคนแออัดอยู่ชั้น 2

     เราจะทำอย่างไร ก็ต้องมาวิเคราะห์ว่าเหตุใดการต่อเติมเพื่อสร้างชั้น 3 ไม่สำเร็จ เทคนิคการก่อสร้างที่ใช้ถูกต้องหรือเปล่า เราก็ไปดู ซึ่งอยากจะเปรียบเทียบเรื่องการประมูลคลื่น 3จี กับการสร้างตึกต่อขึ้นไปเป็นชั้น 3 เมื่อ กสทช.เปลี่ยนเทคนิคและใช้วิธีการใหม่ อะไรที่เป็นอุปสรรค เป็นปัญหาก็แก้ไข จึงทำให้ต่อเติมไปเป็นชั้น3 ได้ หรือประมูล 3จีได้เป็นผลสำเร็จ"

    ถามว่าเราเข้ามาแล้วทำไมไม่ประมูล 4จี เลย เปรียบเทียบก็เหมือน กับว่าทำไมไม่สร้างบ้านชั้น 4 เลย ซึ่งเรามาดูแล้ว การสร้างบ้านชั้น 4 โดยยังไม่สร้างชั้น 3 ก่อน ย่อมเป็นไปไม่ได้ หรือในกรณีประมูล 3จี ไปแล้ว ถามว่าทำไมไม่รีบประมูล 4จี ไปเลยก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ต้องขอเรียนว่า ปัญหากรณีคลื่น 1800 ที่จะนำมาทำ 4จีนั้น ยิ่งยุ่งยากกว่ากรณีคลื่น 2100 MHz เพราะมีคนใช้บริการ 2 จี อยู่ในระบบถึงกว่า 17 ล้านคน ถ้าเราเร่งประมูล 4จี ทั้งที่การเปิดให้บริการ 3จี ก็ยังไม่เรียบร้อย เปรียบเทียบเหมือนสร้างชั้น 3 เพิ่งเสร็จ ยังไม่ฉาบผนัง ยังไม่ทาสี ปูนยังไม่แห้ง ถ้าจะให้ไปไล่คนที่อาศัยในชั้น 2 ให้ขึ้นไปอยู่ชั้น 3 และชั้น 4 เขาเหล่านั้นก็จะต่อว่าได้ว่า ชั้น 3 ก็ยังไม่เสร็จดี และชั้น 4 ก็ยังไม่ได้สร้าง แล้วจะให้พวกเขาไปอยู่ที่ไหน โจทย์ตรงนี้ต่างหากเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือต้องคุ้มครอง ผู้บริโภคจำนวนมากที่ใช้บริการ 2จี และยังค้างอยู่ในระบบก่อน ฉะนั้นระบบ 3จี จึงจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งและมีความพร้อมในทุกปัจจัย ก่อนที่จะเดินไปสู่เทคโนโลยี 4จี จึงเป็นเหตุผลที่เราจำเป็นต้องออกประกาศห้ามซิมดับ ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

ความต่างประมูลสินค้ากับประมูลคลื่นความถี่

       ดร.สุทธิพล กล่าวต่อว่า การประมูลคลื่นความถี่กับการประมูลสินค้าต่างกันมาก การประมูลสิ่งของ จุดที่สำคัญที่สุดคือ ในขั้นตอนการประมูล การแข่งขันจึงมองที่จุดนี้จุดเดียว ใครชนะการประมูลก็ได้กรรมสิทธิ์ในสิ่งของนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย ผู้จัดการประมูลหมดภาระที่จะต้องไปกำกับดูแลหลังจากนี้ แต่การประมูลคลื่นฯ เมื่อชนะการประมูลแล้วหมายถึงรู้ตัวผู้ที่มีสิทธิในการใช้คลื่นตลอดอายุ ใบอนุญาต แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทันที เช่น ชนะการประมูลคลื่นย่าน 2.1 GHz จนได้รับใบอนุญาตไปเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ไม่ได้หมายความว่า ในวันที่ 8 ธันวาคม 2555 จะเปิดให้บริการ 3จีได้เลย จะต้องมีขั้นตอนต่างๆ ตามมา อาทิเช่น ลงทุนสร้างโครงข่าย นำเข้าอุปกรณ์และติดตั้งเทคโนโลยีต่างๆ ฯลฯ ดังจะเห็นว่า ผู้ชนะการประมูล 3จี ใช้เวลาหลายเดือนจึงจะเริ่มเปิดให้บริการ 3จี ได้ ฉะนั้นเวลา กสทช.พิจารณาว่าการจัดสรรคลื่นความถี่โดย การประมูลจะก่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ เราจึงไม่สามารถดูเฉพาะในช่วงที่จัดประมูล แต่จะต้องกำกับดูแลทั้งระบบตลอดระยะเวลา 15 ปี ตามอายุของใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่านนั้น

     นอกจากนี้ ยังมีข้อกฎหมายที่ถกเถียงกันว่าหากสัญญาสัมปทานหมด คลื่นต้องคืนไปที่ใคร ระหว่าง กสทช.หรือผู้ให้สัมปทาน ซึ่งฝ่าย กสทช.ยืนยันว่าตามกฎหมายแล้วคลื่นจะต้องกลับมาอยู่ที่ กสทช. เพื่อให้ กสทช.นำไปจัดสรรโดยวิธีการประมูล ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญจาก ITU มาช่วยให้การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

     สำหรับ ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้การทำงานของ กสทช. มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กสทช.ได้ทำความร่วมมือกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกให้มาช่วยประเมินผลการประมูล 3จี ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์และนำเรื่องไปร้องเรียนว่า กสทช.จัดประมูลล้มเหลว ได้เงินน้อยเกินไป เราจึงขอให้ ITU ประเมินตามหลักวิชาการอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ ITU ประเมินว่า ประเทศไทยดำเนินการจัดประมูลได้อย่างน่าพอใจถูกต้องตามมาตรฐานสากล และประชาชนได้ประโยชน์ โดยทาง ITU เห็นว่าราคาที่กำหนดไว้ในการประมูล 3จี เป็นราคาที่ค่อนข้างสูง ไม่ได้ต่ำเหมือนกับที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ทาง ITU ให้ข้อเสนอแนะว่าในการประมูลคลื่นครั้งต่อไปควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่เริ่มกระบวนการเพื่อ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดำเนินการต่างๆของ กสทช.

      ฉะนั้นในการเตรียมการประมูล 4จี ครั้งนี้ กสทช.ได้ขอความร่วมมือให้ ITU เข้ามาช่วยตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งทาง ITU ก็ส่งทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญจากทั่วโลกทางด้านโทรคมนาคม การจัดประมูลคลื่น กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์มาช่วยตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการ

       "ผมเห็นด้วยว่าถ้าเราสามารถให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นกระบวนการให้เร็วที่สุด จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับการประมูลในครั้งนี้ได้ดียิ่งขึ้น ในการเตรียมการในครั้งนี้เราจึงทำตามข้อแนะนำของ ITU โดยตั้งแต่เริ่มต้นได้จัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อยๆหลายครั้งกับกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมตลอดจนกลุ่มผู้บริโภค ผู้พิการและกลุ่มนักวิชาการต่างๆ นอกจากนี้การดำเนินการยังให้ทาง ITU เข้ามาร่วมตั้งแต่ต้นโดยทำงานประสานกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญของ กสทช. อย่างใกล้ชิด ดูตั้งแต่กำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ต้องการอะไร เมื่อนโยบายชัดเจนก็นำไปสู่การกำหนดหลักการตามแนวปฏิบัติสากล จนมาสู่การยกร่างกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งเราต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดของประชาชน"

      หลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 25 MHz เบื้องต้นแบ่งเป็นช่วงคลื่น (สล็อต) ละ 12.5 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) ซึ่งมีอายุใบอนุญาต 19 ปี โดยกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งคำนวณโดย ITU ในราคา 11,600 ล้านบาท ต่อคลื่น 12.5 MHz หรือต่อ 1 ใบอนุญาต ซึ่งราคาขั้นต่ำจะสูงกว่าราคาขั้นต่ำใน การประมูล 3จี อยู่ประมาณ 3% โดย ITU เห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและจะช่วยให้การประมูลสำเร็จ

   ส่วนคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 17.5 MHz ที่สัมปทานจะสิ้นสุด ในปี 2558 จะจัดให้มีการประมูลล่วงหน้าในเดือน พ.ย.2557 โดยจะแบ่งเป็น 2 สล็อต 2 ไลเซ่นส์ สล็อตละ 10 MHz จำนวน 1 ใบ และ 7.5 MHz จำนวน 1 ใบ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการยกร่างหลักเกณฑ์การประมูล

    สำหรับ กติกาในการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ รวมทั้งเงื่อนไขต่างๆได้พัฒนามาจากกติกาและเงื่อนไขเดิมสมัยที่ประมูล 3จี สำเร็จ โดยปรับปรุงให้ดีขึ้น สอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และแม้จะนำแนวปฎิบัติที่ดีที่สุดของโลกมาใช้แต่ก็นำมาปรับให้เหมาะสมกับปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ให้ความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างมาก

เน้นประโยชน์ประชาชนสูงสุด

      เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 ที่ผ่านมาได้นำร่างประกาศเสนอที่ประชุม กสทช.ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ และมอบหมายให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยกำหนดช่วงเวลาไว้ 45 วัน ในระหว่างช่วงเวลารับฟังความคิดเห็นจะจัดให้มีลงเผยแพร่ทางเว็บไซต์ และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดประมูลได้ไม่เกินกลางเดือนสิงหาคม 2557 และหากไม่มีปัญหาก็สามารถออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นย่านนี้ได้ไม่เกินต้นเดือนกันยายน 2557 ส่วนการประมูลคลื่น 900 MHz คาดว่าจะเป็นไปตามกำหนดระยะเวลา โดยจะประมูลได้ในเดือนพฤศจิกายน 2557 และสามารถรับรองผลได้ภายในเดือนธันวาคม 2557 แต่ใบอนุญาตจะเริ่มในปี 2558 หลังจากสัมปทานคลื่นความถี่ 900 MHz หมดอายุแล้ว

      "ต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ และต้องคำนึงว่าโอกาสของประเทศไทยในเรื่องของความอยู่รอดทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการประมูลคลื่น1800 MHz ในครั้งนี้ จึงอยากให้ทุกคนคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ และอย่าได้เอาประเด็นทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการทำงานใหญ่ของชาติ ผมขอยืนยันว่า กสทช.ไม่ได้ทำตามใบสั่งของอำนาจทางการเมืองใดๆ เราจะตั้งใจทำงานอย่างสุดความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อให้ภารกิจในการจัดสรรคลื่นความถี่ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและต่อประชาชนอย่างแท้จริง" ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้าย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!