WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Aอาคมสภาพัฒน์ หั่นเป้าเป้าจีดีพีปี 58 เหลือโต 3-4% ส่งออกเหลือโต 0.2% มอง Q2/58 ศก.ฟื้นหลังรัฐเร่งลงทุน ลั่นศก.ไทยยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด

    พิษศก.ทรุดฉุดสภาพัฒน์ หั่นเป้าเป้าจีดีพีปี 58 เหลือโต 3-4 % ส่งออกเหลือโต 0.2% มองQ2/58 ศก.ฟื้นหลังรัฐเร่งลงทุน แถมกนง.ลดดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นส่งออกฟื้น พร้อมลั่นศก.ไทยยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด

    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยว่า สศช.ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 58 ลงเหลือ 3-4% จากเดิมที่ 3.5-4.5% เนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การอ่อนค่าของเงินยูโรและเงินเยน ความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการส่งออก อุปสงค์ภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้ต่ำกว่าประมาณการไว้

     สำหรับ ปัจจัยที่สนับสนุนต่อการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ คือการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

    ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2558 ที่ผ่านมา จีดีพีขยายตัวได้ 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกบริการ

   ทั้งนี้ สศช.ปรับประมาณการส่งออกปี 58 เหลือโต 0.2% จากเดิมคาดโต 3.5% ขณะที่ไตรมาสแรกที่ผ่านมาการส่งออกติดลบ 4.3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซบเซาในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ที่การฟื้นตัวยังไม่มีแนวโน้มชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง อุปสงค์ในประเทศญี่ปุ่นที่ยังอ่อนแอและเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวล่าช้า รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์

    นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะในไตรมาสแรกเงินเยนอ่อนค่าลง 13.7% และยูโรอ่อนค่าลง 17.8%เมื่อเทียบกับเงินบาทภาวะตกต่ำของราคาสินค้าในตลาดโลก การผลิตภาคเกษตรยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำชองราคาสินค้าในตลาดโลก

    ด้านการนำเข้า สศช.ปรับลดประมาณการทั้งปีลงเหลือ -0.8% จากเดิมที่ 1.8% และไตรมาสแรก -7.2% เนื่องจากการลดลงของราคานำเข้า เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ และเคมีภัณฑ์ ส่วนในไตรมาสแรกปี 2558 ดุลการค้าเกินดุล 7,425 ล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8,238 ล้านดอลลาร์

   สำหรับ ดุลการค้าในปี 2558 คาดว่าดุลการค้าจะเกินดุล 26.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเกินดุล 24.6 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2557 แต่ต่ำกว่าประมาณการในครั้งก่อน เนื่องจากการปรับลดมูลค่าการส่งออกสินค้าที่มากกว่าการปรับลดมูลค่าการนำเข้า และเมื่อรวมกับการปรับเพิ่มการเกินดุลบริการ ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 16.0 พันล้านดอลลาร์

     นอกจากนี้ สศช.ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2558 อยู่ที่ -0.3-0.7% จากเดิมคาดอยู่ที่ 0-1% เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานราคานำเข้าและอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสแรกอยู่ที่ -0.5% ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 4 ที่ 1.1% และเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 22 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2552 เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งราคาอาหารสดชะลอตัวลง

    โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1.8% ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้น 3.3% ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากราคาไข่และผลิตภัณฑ์นมลดลง เช่นเดียวกับราคาผักและผลไม้ในช่วงฤดูกาลที่มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 1.7% เนื่องจากราคาพลังงานลดลง ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรหรือ FT ในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2558 ที่ลดลง 10 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.5% ชะลอลงจาก 1.7% ในไตรมาสก่อนหน้า

    ทั้งนี้ นายอาคมยืนยันว่า แม้อัตราเงินเฟ้อจะมีการปรับลดต่อเนื่อง รวมไปถึงการปรับประมาณการทั้งปีลง แต่ยืนยันว่าสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่เข้าข่ายภาวะเงินฝืด เนื่องจากในขณะนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมในการอุปโภคบริโภค โดยคาดว่าประชาชนจะเริ่มใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงหลังจากนี้ไปจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้

      อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐที่จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม รวมไปถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นและสามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

    นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง 2 ครั้ง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวลดลงและช่วยกระตุ้นให้ค่าเงินบาทมีการปรับตัวอ่อนค่า ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังมีมาตรการผ่อนคลายเงินทุนไหลออก ส่งผลให้การส่งออกน่าจะฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน

     อย่างไรก็ตาม การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2558 และในระยะยาวยังมีข้อจำกัด ดังนั้นการแก้ไขไทยจะต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภาพการผลิต และเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรม เช่น การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วกว่าประเทศคู่แข่ง การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆของภาครัฐและภาคเอกชนในการแสวงหาตลาดและเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าที่สำคัญ การดูแลราคาสินค้าในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบนำเข้าสำคัญ การลดปัญหาอุปสรรคความล่าช้า และข้อจำกัดในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ เพื่อลดต้นทุนทางธุรกรรมของผู้ส่งออก เป็นต้น

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!