WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การลงทุนหดตัวฉุดศก.6 เดือนแรกติดลบ สศช.หั่นจีดีพีปี’57 เหลือ 1.5-2%

     แนวหน้า : สศช.ระบุถึงแม้จะมีคสช.เข้ามาบริหาร เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ แต่เศรษฐกิจปี’57 ยังขยายตัวต่ำเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าส่งออกโตแค่ 2% ลงทุนภาคเอกชนติดลบ 2.9% ลุ้นปี’58 จีดีพีมีสิทธิ์โต 5-6% ถ้าภาครัฐอัดงบลงทุนเต็มที่ผ่านโครงการรถไฟรางคู่ บริหารจัดการน้ำ

   นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่าได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีปี 2557 ลงเหลือ 1.5-2.0% จากเดิมที่ได้ประมาณการไว้เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม อยู่ที่ 1.5-2.5% ต่อปี เนื่องจากสศช.มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ยังคงขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ แม้จะมีการเร่งตัวขึ้นหลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่ให้จีดีพีเป็นไปตามเป้าที่วางเอาไว้เดิม

  โดยการปรับลดจีดีพีดังกล่าวอยู่ภายใต้ข้อจำกัด 4 ประการคือ 1.การขยายตัวของการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังล่าช้า และราคาสินค้าส่งออกลดลง 2.การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลาและตลาดท่องเที่ยวมีการแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยว 3.การขยายตัวของการลงทุนยังมีข้อจำกัดจากการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และความล่าช้าในการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก 4.การจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ยังคงปรับตัวลงจากรากฐานการจำหน่ายที่สูงในปีก่อน

   นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดมูลค่าการส่งออกสินค้า คาดว่าจะขยายตัว 2.0% จากเดิมที่ประมาณการไว้ขยายตัว 3.7% ต่อปี โดยประเมินการลงทุนของภาครัฐทั้งปีขยายตัว 1% ภาคเอกชนยังหดตัว 2.9% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 3.7% การใช้จ่ายภาคครัวเรือน คาดว่าจะขยายตัว 0.8% อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในช่วง 1.9-2.4% ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุล 2.6% ของจีดีพี

   นายอาคม กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% ต่อปี และหากมีการเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 5-6% โดยหวังว่าการลงทุนของภาครัฐทั้งระบบรถไฟรางคู่ที่คาดว่าจะมีการก่อสร้างในช่วงปลายปีนี้ และลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำ จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งหากเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีก็อาจจะพิจารณาจัดทำงบกลางปีเพื่อการลงทุนของภาครัฐ

    สำหรับ การขยายตัวด้านการส่งออกในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัว 5-7% แต่ถือว่ายังเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศที่ควรจะโตได้เกิน 10% โดยภาคเอกชนจะต้องมีการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและขีดความสามารถในการผลิตสินค้าของไทยและขยายการลงทุนไปยังประเทศในแถบเพื่อนบ้านมากกว่าการพึ่งพิงสิทธิพิเศษทางการค้า หรือจีเอสพี จากประเทศต่างๆ

   นายอาคม กล่าวว่าในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 เริ่มปรับตัวดีขึ้นขยายตัว 0.4% เมื่อรวมกับไตรมาสแรก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกหดตัว -0.1% เป็นผลมาจากการที่การส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ประกอบกับ สถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหลังคสช.เข้ามาส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น ด้านการใช้จ่ายการปรับตัวดีขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออก แต่การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว 0.2% การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของรัฐบาล เพิ่มขึ้น 1.9% แต่ทั้งนี้การลงทุนโดยรวมลดลง 6.9% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงทั้งการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง

    ในด้านภาคการต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 55,765 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.4% ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัว 0.8% ในไตรมาสแรก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 49,835 ล้านดอลลาร์ ลดลง 14.8% โดยที่ปริมาณการนำเข้าลงลด 11.7% เนื่องจากความต้องการในประเทศยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ 1.0% อัตราเงินเฟ้อ 2.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 13,440 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.4% ของจีดีพี

สศช.ผวาลงทุน-ส่งออกวูบครึ่งปีหลังยังน่าห่วง 4 ปัจจัยทางเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลา

     บ้านเมือง : สภาพัฒน์ หั่นจีดีพีทั้งปีเหลือ 1.5-2.0% เหตุเศรษฐกิจไตรมาสสองโตต่ำกว่าคาด ฉุดครึ่งปีแรกติดลบ ขณะที่ผวาครึ่งปีหลังการลงทุนหดตัวต่อเนื่อง-ส่งออกวูบ เพราะ 4 ปัจจัยหลัก เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ท่องเที่ยว ต้องใช้เวลา การผลิตยังต่ำ และรถยนต์ ไม่โตเหมือนเดิม ส่วนแนวโน้มปีหน้าคาดจีดีพีโตได้ 5-6% อานิสงส์ภาครัฐอัดฉีดเม็ดเงินลงทุน

    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า สศช.ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 57 เหลือ1.5-2.0%จากเดิม 1.5-2.5%ถึงแม้ว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะติดลบเพียง0.1%ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเชื่อว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น แต่ สศช.ประเมินว่าการลงทุนโดยรวมจะติดลบเพิ่มขึ้น รวมทั้งการส่งออกคงจะขยายตัวได้เพียง2.0% จากเดิมคาดโต 3.7% "เศรษฐกิจไทยในปี57 คาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.0% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว2.0% การบริโภคของครัวเรือนขยายตัว 0.8%การลงทุนรวมหดตัว 2.0%อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 1.9-2.4%และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล2.6%ของจีดีพี" นายอาคม กล่าว

    ทั้งนี้ สศช. มองว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปีตามการใช้จ่ายภาครัฐ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและส่งผลดีต่อการใช้จ่ายและการลงทุน รวมทั้งการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ได้ปรับลดประมาณการทั้งปีนี้ลง เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อต่อเนื่อง การส่งออกขยายตัวช้า และการหดตัวของการจำหน่ายรถยนต์

   ประกอบกับการขยายตัวในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มต่ำกว่าศักยภาพ เพราะยังมีข้อจำกัดสำคัญ 4 ประการ คือ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้า และราคาสินค้าส่งออกลดลง 2.การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลาและตลาดท่องเที่ยวมีการแข่งขันกันมากขึ้นทำให้นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยว 3.อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำและความล่าช้าในการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกยังเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการขยายตัวของการลงทุน และ 4.การจำหน่ายรถยนต์และการผลิตรถยนต์ยังคงปรับตัวลงจากฐานการจำหน่ายที่สูงในปีก่อน

   "ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่ำ แม้ว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองจะทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจและการเบิกจ่ายของภาครัฐดีขึ้นก็ตาม" นายอาคม กล่าว

    นายอาคม กล่าวต่อว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี57 นั้น สศช.เห็นว่าควรให้ความสำคัญกับ6ด้านสำคัญ คือ1.การเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มรายได้จากตลาดหลักและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าในโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มรายได้จากตลาดหลักและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าในภูมิภาค ตลอดจนเร่งรัดแก้ไขปัญหาข้อจำกัดในด้านการผลิตของสินค้าที่สำคัญ 2.การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว โดยการสร้างความเชื่อมั่นและแก้ไขปัญหาสำคัญในภาคการท่องเที่ยว 3.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2557 ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 91.3% และการเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 31% รวมทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการสำคัญของรัฐวิสาหกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี

    4.การเร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุนและสนับสนุนให้การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมแล้วเริ่มการลงทุน และมีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่เศรษฐกิจโดยเร็ว รวมทั้งการเร่งรัดการประกาศใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ 5.การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและภาคธุรกิจโดยการเร่งรัดดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในช่วงที่เหลือของปี 57 และในปี 58 และ 6.การดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการดูและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท

    นอกจากนั้น การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาสานต่อโครงการต่างๆ ที่ยังค้างอยู่นั้น รวมถึงการปรับนโยบายต่างๆ ให้เข้าสู่การใช้นโยบายพื้นฐานโดยไม่ใช่ งบประมาณไปในโครงการที่เป็นภาระของงบประมาณ ก็น่าจะมีส่วนในการสร้างความเชื่อมั่นได้มากขึ้น ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจเองนั้นต่างเห็นตรงกันว่า ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยคงที่มานาน และไม่ค่อยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เพิ่มเติม ดังนั้นหากได้เห็นความชัดเจนของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก็เชื่อว่านักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นประเทศไทยมากขึ้นเป็นลำดับ

     นายอาคม กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/57 ที่ผ่านมาขยายตัว 0.4%ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัว 0.5%ในไตรมาส 1 ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก แต่การลงทุนภาคเอกชนหดตัว ในด้านการผลิต สาขาเกษตรขยายตัว ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรม และก่อสร้างหดตัวช้าลง แต่สาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 57 หดตัว 0.1%ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้4%

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!