WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ป.ป.ช.จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการดำเนินคดีทุจริตและฟอกเงินตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 2

      สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะว่าด้วยการดำเนินคดีทุจริตและฟอกเงินอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้เทคนิคด้านข่าวกรองทางการเงินเพื่อความสำเร็จในการติดตามทรัพย์สินคืน ณ โรงแรมดุสิตพัทยา เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 22 - 24 กันยายน 2557 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 150 คน จากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ และจากหน่วยงานในประเทศไทย โดยจะมุ่งเน้นไปที่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น เจ้าหน้าที่ด้านการต่อต้านการทุจริต (เจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ด้านปราบปรามและตรวจสอบทรัพย์สิน ) เจ้าหน้าที่ปราบปรามการฟอกเงิน พนักงานอัยการ ตำรวจ เป็นต้น

     การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานอัยการสูงสุด ประเทศชิลี ที่ตระหนักถึงปัญหาการทุจริตที่สร้างความเสียหายให้กับเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศซึ่งขาดแคลนวิธีการที่เป็นระบบในการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีทุจริตและฟอกเงิน ส่งผลให้การติดตามทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าวกลับคืนเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ จึงมีเป้าหมายเพื่อจัดทำคู่มือ(handbook) ว่าด้วยวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดในการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีทุจริตและฟอกเงินรวมทั้งการติดตามทรัพย์สินคืน โดยมุ่งหมายให้เกิดความสะดวกในการประสานความร่วมมือ เพิ่มการบังคับใช้ และการปฏิบัติตามพันธกิจว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตของเขตเศรษฐกิจด้วยวิธีการติดตามกระแสทางการเงิน และใช้หน่วยข่าวกรองในการสืบสวนสอบสวนคดี อีกทั้งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเขตเศรษฐกิจเอเปคใน การสอบสวนและดำเนินคดีทุจริตและฟอกเงิน รวมทั้งการติดตามทรัพย์สินคืน คู่มือฉบับนี้จะมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพในการใช้เทคนิคการติดตามการไหลเวียนของเงินและข่าวกรองทางการสอบสวน อีกทั้งยังอาจถูกใช้เป็นฐานในการพัฒนาหน่วยข่าวกรองทางการเงินที่มุ่งเน้นเรื่องการต่อต้านการทุจริต (Anti-Corruption-focused financial intelligence unit) ระหว่างสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ในอนาคตอีกด้วย

     ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จึงได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการขึ้นครั้งแรกที่ประเทศชิลี ในระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2556 โดยเน้นไปที่เรื่องของการสืบสวนสอบสวนและการฟ้องคดีทุจริตและฟอกเงิน และกำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 ขึ้นที่โรงแรมดุสิตพัทยา ระหว่างวันที่ 22 – 24 กันยายน 2557 โดยจะมีเนื้อหาต่อเนื่องมาจากความรู้ที่ได้จากการประชุมครั้งแรก และจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการติดตามทรัพย์สินคืน สำหรับรายละเอียดการประชุมนั้น จะแบ่งเป็นการประชุมแบบเต็มคณะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจเอเปคมาเป็นผู้อภิปราย และแยกย่อยเป็นภาคฝึกปฏิบัติซึ่งจะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น FBI ของสหรัฐอเมริกา, International Centre for Asset Recovery (ICAR) ของ Basel Institute on Governance สวิสเซอร์แลนด์ มาให้ความรู้ และให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ฝึกปฏิบัติจริง เนื้อหาของการประชุมเน้น 3 หัวข้อหลักสำคัญ ได้แก่ 1) วิธีการและเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการระบุและติดตามค้นหาทรัพย์สินในคดีทุจริต (Asset Identification and Tracing) 2) รูปแบบและกลยุทธ์เพื่อการยึดและอายัดทรัพย์สิน (Freezing and Seizure) 3) แนวทางปฏิบัติที่ดีในการริบทรัพย์และเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้จาก  การทุจริตให้แก่เจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ จะมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ ๓ ขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ พร้อมกับการประชุม APEC SOM 1 ในช่วงต้นปี 2558 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานจากเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ทบทวนร่างคู่มือ ให้ความเห็นและให้ข้อเสนอแนะก่อนที่จะตีพิมพ์ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประสบการณ์จริงเกี่ยวกับการนำร่างคู่มือดังกล่าวไปใช้ในทางปฏิบัติ

    จะเห็นว่า การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้กรอบเอเปคดังกล่าว เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์ที่ 3-5 พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรต่อต้าน การทุจริตและเครือข่ายระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างกระบวนการทำงาน ในการป้องกันและปราบปราม การทุจริตให้เป็นสากล อีกทั้ง มุ่งสร้างเครื่องมือ กลไก ในการปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะเรื่อง การติดตามทรัพย์สินจากคดีทุจริตกลับคืนมา และเมื่อดำเนินการเรียบร้อยตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราจะมีเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในกลุ่มสมาชิกเอเปค นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับบุคลากรด้านการต่อต้านการทุจริตทั้งของประเทศไทยและจากประเทศสมาชิก

    นอกจากนั้น การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ จะมีส่วนช่วยย้ำเตือนให้คนไทยตื่นตัวกระแส การต่อต้านการทุจริตมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนเป้าประสงค์ของเอเปค ที่จะขับเคลื่อนการต่อต้าน การทุจริตในระดับภูมิภาคให้เข้มแข็งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับ ป.ป.ช. นั้น ก็มุ่งหวังที่จะใช้เวทีการประชุม เชิงปฏิบัติการนี้ในการขยายและยกระดับความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตกับหน่วยงานต่อต้านการทุจริตนานาประเทศ โดยเฉพาะการประสานงานคดีทุจริตระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่ผลสำเร็จในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างยั่งยืน

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!