- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Monday, 20 November 2023 17:07
- Hits: 9654
สภาพัฒน์ฯ แถลง GDP จีดีพีไตรมาส 3/66 ขยายตัว 1.5% ส่งออกติดลบ 3.1% รวม 9 เดือนแรกขยายตัว 1.9 % คาดทั้งปี 2566 เติบโต 2.5% ปี 67 ขยายตัวได้ 2.7-3.7%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566-2567 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว โดยแรงส่งสำคัญยังคงเป็นเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการส่งออกยังหดตัวต่อเนื่อง
“แรงส่งสำคัญยังคงเป็นเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 8.1% การลงทุนรวมที่ขยายตัว 1.5% โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัว 3.1% ส่วนการลงทุนภาครัฐหดตัว 2.6% ซึ่งเป็นผลจากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ยังมีปัญหาในแง่การเบิกจ่าย ขณะที่การส่งออกบริการยังขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งทำให้สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสนี้ขยายตัวได้เพียง 1.5% นั้น มาจากเรื่องการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 และถ้านับรวมไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วด้วย จะเท่ากับว่าการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง 4 ไตรมาส และแม้ว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 3 จะมีสัญญาณของการฟื้นตัวในด้านการส่งออก แต่ยังต้องดูเรื่องการเร่งการส่งออก
ขณะเดียวกัน การส่งออกในไตรมาส 3 ที่หดตัว 3.1% ดังกล่าว ยังทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมหดตัว 4% ส่วนการบริโภคภาครัฐบาลหดตัว 4.9% นั้น เป็นผลจากเงินโอนสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลโควิด-19 ที่ไม่มีแล้ว และสถานการณ์การบริโภคภาครัฐบาลจะเป็นอย่างนี้ไปถึงสิ้นปี เพราะปีที่แล้ว เรามีเงินโอนพวกนี้ทั้งปี” นายดนุชา กล่าว
สำหรับ ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.2566) เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากดูตัวเลขเป็นรายไตรมาสจะพบว่า เศรษฐกิจไตรมาสที่ 3/2566 ยังคงขยายตัวได้ 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส 2/2566) ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2566 โดยไตรมาสที่ 1/2566 การบริโภคเอกชนขยายตัว 5.8% ไตรมาส 2/2566 ขยายตัว 7.8% และไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 8.1%
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และปี 2567 ว่า เศรษฐกิจในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัว 2.5% โดยมาจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 7% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2% เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกในรูปเงิน USD หดตัว 2% ส่วนปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.7-3.7% (ค่ากลาง 3.2%) โดยมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 3.2% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.8% และการส่งออกในรูปเงิน USD ขยายตัว 3.8% เป็นต้น
ทั้งนี้ สมมติฐานในการประเมินการเศรษฐกิจไทยปี 2566 และปี 2567 นั้น สศช.ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 2.8% ในปี 2566 และขยายตัว 2.7% ในปี 2567 ส่วนปริมาณการค้าโลกคาดว่าจะขยายตัว 2.1% ในปี 2566 และขยายตัวที่ 3.2% ในปี 2567 และมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 1.1% ในปี 2566 และขยายตัว 0-1% ในปี 2567 ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะอยู่ที่ 28 ล้านคนในปี 2566 และ 35 ล้านคน ในปี 2567 เป็นต้น
ในการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 ที่คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.7-3.7% นั้น สศช.ยังไม่ได้รวมโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต เข้าไว้ในประมาณการครั้งนี้ และต้องรอดูว่าโครงการดิจิทัลวอลเลตจะใช้เงินเท่าไหร่ รวมทั้งต้องรอคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาด้วย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องได้รับการปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เพียง 3% กว่าๆ เท่านั้น
ปัจจัยที่สนับสนุนเศรษฐกิจปี 2567 ได้แก่ 1.การกลับมาขยายตัวได้ของส่งออก เพราะถ้าดูโมเมนตัมการส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่าจะยังอ่อนตัวอยู่ก็ตาม 2.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการลงทุนภาคเอกชน ตามยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น 3.การขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ จากเงินเฟ้อปรับตัวลดลง และตลาดแรงงานดีขึ้น และ 4.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปี 2567 ได้แก่ 1.การลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง เนื่องจากความล่าช้าของงบปี 2567 ดังนั้น หน่วยงานต่างๆต้องเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง และเมื่องบปี 2567 ออกมาแล้วจะได้เบิกจ่ายได้ทันที รวมทั้งต้องปรับการหารายได้สุทธิของรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมาการหารายได้สุทธิของรัฐบาลลดลงเหลือ 14-15% ต่อจีดีพี และมีแนวโน้มลดลง จึงต้องปรับโครงสร้างภาษี พิจารณาค่าลดหย่อนต่างๆอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ภาครัฐมีฐานะการคลังดีขึ้น
2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ภาระดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง
3.ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร และ 4.ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัด รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามอิสราเอล-ฮามาส และรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจยกระดับความรุนแรงขึ้น
นายดนุชา กล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 และในปี 2567 ที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และแรงกดดันทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นมาก
2.การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเกิดจากการขยายตัวของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก และความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลก
3.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าให้กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
4.การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน
5.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง 6.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร และ7.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
More Articles
เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2566 และแนวโน้มปี2566 – 2567
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 3/2566
.muangthai.co.th" target="_blank" rel="noopener" dir="ltr">