WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รุกและรับอย่างไรใน AEC

      แม้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคม AEC มาแล้วอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา  แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เข้าใจว่า จะเกิดผลกระทบอย่างไร หรือเกิดอะไรขึ้นในภูมิภาคอาเซียนนี้

     ในงานสัมมนา “การเกษตรทันสมัยเพื่อความยั่งยืนในสังคม AEC” จัดโดยคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรและศูนย์บ่มเพาะทางธุรกิจ สำนักบริการวิชาการ  สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ได้ฉายภาพรวมของ AEC ในการเสวนาหัวข้อ “รุกและรับอย่างไรใน AEC” โดยเน้นจุดเด่นของประเทศไทยอยู่ที่ความเหมาะสมของการเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตร

AEC ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเสรีสำคัญ 5 เรื่อง  (Five Free Flow) 

      การเข้าสู่ AEC (Asean Economics Community ) อย่างเป็นทางการของไทยตั้งแต่ปลายปี 58   ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศ นั่นหมายถึง การมีฐานการผลิต และตลาดที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น จะทำให้เกิดเสรีใน 5 เรื่องสำคัญ (Five Free Flow) ได้แก่

1. Free Trade Flow  การนำเข้า-ส่งออกเสรี  

2. Free Investment Flow  การเคลื่อนย้ายการลงทุนเสรี 

3.  Free Service Sector Flow  เคลื่อนย้ายภาคบริการเสรี  

4.  Free Capital Flow  การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี  

5. Free Skill labour Flow การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือเสรี  โดยมี 8 สาขาที่เปิดแล้วคือ แพทย์  ทันตแพทย์  พยาบาล  วิศวกร  สถาปนิก นักบัญชี  นักสำรวจ  การท่องเที่ยว 

      การเคลื่อนย้ายเสรีใน 5 เรื่องดังกล่าวนี้  ทำให้คนไทยต้องรู้ว่า จะเตรียมพร้อมอย่างไร สำหรับการรุกและรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น  หากมองในด้านเศรษฐกิจ จะพบว่าเศรษฐกิจในอาเซียนมีมูลค่า 2.5ล้านล้านเหรียญ คิดเป็น 3%  ของจีดีพีโลกที่มีจำนวน 78 ล้านล้านเหรียญ นับเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก แต่ความสำคัญอยู่ที่อาเซียนกำลังเป็นที่สนใจของชาวโลกอย่างมาก  ไม่เฉพาะประเทศในอาเซียนด้วยกันเท่านั้น ซึ่งหากเศรษฐกิจของอาเซียนได้รับการบ่มเพาะที่ดีจะทำให้สามารถเติบโตได้อีกมาก

ไทยเหมาะเป็นศูนย์กลาง (Hub)  สินค้าเกษตร

     จะเห็นว่า ศักยภาพของไทยใน 5 เรื่องที่กล่าวมา ไทยมีความพร้อม ด้านภาคบริการมากที่สุด เช่น การท่องเที่ยว  โรงพยาบาล  นอกจากนี้ไทยยังเหมาะกับการเป็น hub สินค้าเกษตร โดยเป็นผลมาจากการพัฒนาประเทศตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ฉบับที่หนึ่ง ที่ทำให้สามารถไทยพัฒนาภาคเกษตรใน 3 ด้านคือ  การขยายพื้นที่การเกษตร (expansion) การกระจายชนิดของผลิตภัณฑ์ (diversification) มีสินค้าเกษตรหลากหลายมากขึ้นที่เป็นที่ยอมรับจากชาวต่างประเทศ “ในอดีตไทยเคยมีเพียง “ข้าว” อย่างเดียวที่ใช้ส่งออก จนมีคำเรียกเศรษฐกิจไทยในสมัยหนึ่งว่า “Rice Economy” จนถึงปัจจุบันเรามีสินค้าเกษตรส่งออกอีกหลายชนิด  เช่น มันสำปะหลัง อ้อย รวมถึงพืชที่มีมูลค่าเพิ่มสูง” และปัจจุบันสามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรโดยผ่านกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรม เกิดเป็นอาหารหลากหลาย และมีมาตรฐานสอดคล้องกับตลาดโลก 

     “ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ใช้ไทยเป็นแบบอย่างของการพัฒนา ให้เครดิตกับภาคเกษตรของเราที่สามารถพัฒนามาก่อนเค้า ถึง 3 ระดับ โดยสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมของเราสามารถส่งไปขายได้ทุกประเทศในโลกนี้ เราสามารถเข้าญี่ปุ่นได้ ยุโรปได้ สหรัฐอเมริกาได้  ประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มีความพร้อมเท่าเรา”

โอกาสของสินค้าเกษตรไทยภายใต้ AEC

      เออีซี ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนการเติบโตของเมืองที่ขยายออกรอบนอกกรุงเทพมหานครไปถึงชายแดน อันเป็นผลจากการทำมาค้าขายระหว่างประเทศที่มีมากขึ้น ทำให้ความเป็นเมืองในภูมิภาคนี้เจริญเติบโตมาก การเกลี่ยความเจริญความเป็นชุมชนเมืองออกไปยังพื้นที่ชนบท (urbanization)  ทำให้มีดีมานด์ ความต้องการต่อสินค้าเกษตรใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น สินค้าออร์แกนิค  สินค้าเพื่อสุขภาพ (Health Conscious)  ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเป็นโอกาสให้เกิด Smart Agriculture เกิดผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่สามารถผลิตสินค้าออกมาป้อนตลาดได้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภค และต่อยอดไปถึงการประกอบธุรกิจอื่นๆที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมต่อไป

       ยกตัวอย่างเกษตรกรในจีนถือครองที่ดินขนาดเล็กๆ  ซึ่งในอดีตทำเกษตรเพื่อไว้ยังชีพกันเฉพาะในครอบครัว แต่ปัจจุบัน เกษตรกรจีนรายเล็กๆเหล่านั้น สามารถเปลี่ยนตัวเองไปสู่การทำมาค้าขายโดยใช้เครื่องมือสื่อสารทันอย่างสมาร์ทโฟน ในการทำเกษตร และการค้าขาย และเป็นประเทศหนึ่งที่น่าเรียนรู้ นี่คือตัวอย่างผลพวงที่จะตามมากับAEC ที่เกี่ยวพันกับเรื่องของการเกษตร

รับมือ AEC ความพร้อมข้อมูลข่าวสารสำคัญที่สุด

     นอกจากการ “รุก” ด้วยศักยภาพที่มีแล้ว การ “รับมือ” AEC ด้วยความพร้อมของข้อมูลข่าวสารก็เป็นเรื่องสำคัญ ด้วยว่าเราอยู่ในยุคของเทคโนโลยี  โลกาภิวัตน์ เนื่องจากทั้งปัจจัยการผลิตและความต้องการของตลาดไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่มีขอบข่ายที่กว้างออกไป โดยหลังจากนี้ประเทศเพื่อนบ้านจะมีการพัฒนาภาคเกษตรอย่างรวดเร็ว มาจากปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง อาทิ เช่น ยังมีที่ดินสำหรับทำการเกษตรอีกมาก  มีค่าแรงในภาคเกษตรต่ำ และในไม่ช้านี้ประเทศเพื่อนบ้านจะมีการพัฒนาสินค้าทดแทนการนำเข้า ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนของไทยที่เป็นด่านหน้าการบริหารจัดการตัวแปรของเออีซีต้องร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการ เช่น ความเชื่อมโยงสินค้าเกษตรระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จะเป็นอย่างไร เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น  โดยที่ เออีซี หรือ ภูมิภาคนิยมมาเริ่มในช่วงที่เป็นเศรษฐกิจขาลง จึงมีหลายตัวแปรที่มีความละเอียดอ่อนมาก  ทั้งนี้ตัวอย่างจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหภาพยุโรปที่รวมตัว เป็นฐานการผลิตเดียว และตลาดเดียวกัน โดยประเทศที่แตกต่างกันจากหลายประเทศในยุโรป และมีความพร้อมไม่เท่าเทียมกัน จึงกลายเป็นปัญหาที่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีทางออก  เป็นบทเรียนสำคัญในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน  ที่ไทยต้องนำมาเป็นบทเรียนในการกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนAECให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดย CP Group / วันที่โพสต์ 28 ม.ค. 2559 โดย รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!