WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ส่องเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย IMF ชี้เศรษฐกิจโลกปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น

    ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปี 2559 นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประมาณไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.4 ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1  

      การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมยังเปราะบาง เพราะขาดแรงขับเคลื่อนที่ชัดเจน การขยายตัวที่ดีขึ้นของ เศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่ช่วยเศรษฐกิจประเทศขนาดเล็กได้ไม่มาก เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจีน รวมทั้งนโยบายการเงินของภูมิภาคต่างๆที่สวนทางกัน ประกอบกับกับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ  

    ในปี 2558 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เป็นการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องจากปี 2557 การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แรงสนับสนุนจากการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นมาก  โดยอัตราการว่างงานล่าสุด (ธันวาคม 2558) ของสหรัฐฯอยู่ที่ร้อยละ 5.0  อย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมแม้จะปรับดีขึ้น แต่ในส่วนของนอกภาคที่อยู่อาศัยชะลอลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 7.0 (ช่วง11เดือนแรก) ซึ่งเกิดจากการแข็งค่าของเงิน USD ทั้งนี้IMF ประมาณการว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 2.6  ซึ่งดีขึ้นกว่าปี 2558 โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากสภาพคล่องทางการเงินที่ยังผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากนั่นเอง 

     เศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2559 นั้น IMF ประมาณการว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.7 ถือได้ว่าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากการบริโภคของภาคเอกชนเป็นสำคัญ ได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่ถูกและสภาพคล่องของสินเชื่อที่มีมากขึ้น ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวช้าลงจากเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าที่ชะลอตัว

    ด้านเศรษฐกิจจีน IMFได้ประมาณการว่าในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 6.3  ซึ่งชะลอลงจากปี 2558  เศรษฐกิจมีความเสี่ยงจากการชะลอลงของเศรษฐกิจอาจจะเร็ว/แรงกว่าที่คาด(Hard-Landing) เนื่องจากในอดีตเติบโตด้วยการลงทุน โดยเฉพาะจากภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันมีการปรับโครงสร้างทำให้การใช้จ่ายภาครัฐลดลงไปมาก อีกทั้งนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศเริ่มมีข้อจำกัด เนื่องจากหนี้ภาคเอกชนอยู่ในระดับสูง

      ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเมื่อปี 2558 มีการฟื้นตัวดีขึ้น เพราะแรงสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชนที่ดีขึ้นจากการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อ เม.ย.2558 อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเปราะบาง เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวและการส่งออกที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนและประเทศเอเชียอื่น ในปี 2559 แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่สำคัญจะมาจากนโยบายการคลังของภาครัฐ ราคาน้ำมันในระดับต่ำ สภาพคล่องทางการเงินที่ผ่อนคลาย และรายได้ประชาชนที่เพิ่มขึ้น โดย IMF ประมาณการว่าในปี 2559 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 1.0 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2558 

     เศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB คาดว่า เศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ จะขยายตัวร้อยละ 4.4 เท่ากับปี 2557 ทั้งนี้เพราะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ และการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ทําให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัวตามที่คาด  อีกทั้งยังเผชิญกับความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลกที่ส่งผลต่อการอ่อนค่าลงมากของค่าเงินสกุลต่างๆ โดยเฉพาะค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย และรูเปียห์ของอินโดนีเซีย โดยรวมในปี 2558 มี 2 ประเทศหลักที่ยังขยายตัวสูงได้แก่ เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์  ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.5 และ 6.0 ตามลําดับ จากความต้องการภายในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง ขณะที่มาเลเซียและ อินโดนีเซียแม้จะประสบปัญหาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ แต่ก็ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.7 

      ทั้งนี้ ในปี 2559 IMF คาดว่า เศรษฐกิจทั้ง 10 ประเทศในอาเซียนจะขยายตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องจับตาการอ่อนค่าของค่าเงินซึ่งจะมีผลต่อเสถียรภาพของประเทศ โดยเฉพาะความสามารถในการชําระหนี้ต่างประเทศในรูปของ USD ของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย เพราะมีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการไหลออกของเงินทุนต่างชาติในอินโดนีเซียซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศจํานวนมาก

      สำหรับ เศรษฐกิจไทยนั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวค่อนข้างผันผวน โดยในปี 2558 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 2.5-2.9 หลังจากขยายตัวเพียงร้อยละ 0.9 ในปี 2557 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผันผวนของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากปัจจัยภายนอกอย่างวิกฤตเลห์แมนในปี 2552  และปัจจัยภายในประเทศอย่างมหาอุทกภัยในปี 2554  และสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในปี 2556 สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างอ่อนไหวกับเศรษฐกิจโลกและโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศบางส่วนที่เปราะบาง 

      ในปี 2558 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวค่อนข้างช้า ผนวกกับไทยขาดการลงทุนที่สําคัญเป็นเวลาต่อเนื่อง ทําให้ภาคส่งออกได้รับผลกระทบแย่ลงอย่างชัดเจน โดยหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่3 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนก็ถูกบั่นทอนจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและรายได้ของเกษตรกรที่ลดลงต่อเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ตกต่ำและภัยแล้ง  แรงสนับสนุนหลักของไทยจึงมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐและการท่องเที่ยว

      ในปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลยังได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้เงินนอกงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและยาวตลอดทั้งปี ทําให้การลงทุนภาครัฐโดยรวมจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 23.1 คาดว่าจะเห็นเบิกจ่ายเม็ดเงินอย่างต่อเนื่องในปี 2559 เช่นกัน

       การท่องเที่ยวไทยล่าสุดในปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 20.4 สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 10.8 ต่อ GDP) ได้แรงสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นสําคัญที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 71.1 คาดว่าปี 2559 การท่องเที่ยวจะเป็นแรงสนับสนุนของเศรษฐกิจไทยต่อไป 

   ภาพรวมของการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2558 (ข้อมูล 11 เดือน) สินค้าทุกหมวดหดตัว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่หดตัวเพิ่มขึ้นมาก สําหรับสินค้าเกษตรกรรมส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ตกต่ำ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมลดลงจากความต้องการของสินค้าอุตสาหกรรมไทยลดลง โดยเฉพาะจากประเทศจีนและญี่ปุ่น  ในรายสินค้าสําคัญ 10 อันดับแรกที่ยังขยายตัวดีอยู่มีเพียงรถยนต์และส่วนประกอบ ส่วนที่เหลือถึง 7 ชนิดหดตัว โดยรวม 11 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 5.5 นําเข้าลดลงร้อยละ 11.2 

     เศรษฐกิจไทยในปี 2559 หลายสถาบันประมาณการว่าจะขยายตัวดีขึ้น โดยจะขยายตัวร้อยละ 2.0-4.0 แรงสนับสนุนสําคัญยังคงมาจากการเบิกจ่ายของภาครัฐและการท่องเที่ยวเป็นสําคัญ ขณะที่ภาคส่งออกคาดว่ายังคงทรงตัวจากปีที่แล้ว แต่อาจปรับดีขึ้น หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกเพิ่มขึ้น ไทยมีความเสี่ยงจากตลาดทุนและตลาดเงินโลกที่อาจผันผวนจากแรงดึงของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของFedและเศรษฐกิจจีนที่กําลังปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องการนําเข้าสินค้าไทยน้อยลง และด้านตลาดเงินและตลาดทุนส่งผลต่อการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ  สศช. คาดว่าค่าเงินบาททั้งปี จะอยู่ที่ 36-37 จะอ่อนตัวร้อยละ 6.5 ในปีนี้

โดย CP Group / วันที่โพสต์ 4 ก.พ. 2559 โดย สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!