WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

TMA28

TMA เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันจาก IMD ของไทย เป็นอันดับที่ 30

    กรุงเทพฯ - สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เผยการประกาศผลของ International Institute for Management Development หรือ IMD ซึ่งการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ทั้งหมด 61 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกประจำปี 2558 ซึ่งปีนี้สหรัฐอเมริกายังคงอันดับอยู่ที่ 1 ฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 2 และสิงค์โปร์อันดับที่ 3 ในขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 30 ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่อันดับที่ 29

   นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า “การจัดอันดับ พิจารณาใน 4 หมวดด้วยกัน คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ โครงสร้างพื้นฐาน โดยประเทศไทย ทำอันดับได้ดีขึ้นใน 3 หมวด และมีหมวดสถานะทางเศรษฐกิจ ที่ปรับลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออันดับในหมวดนี้คือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเกี่ยวพันกับประเด็นอื่นๆ อีกหลายประเด็น อย่างไรก็ดี ผลที่ดีขึ้นในอีก 3 หมวด คือ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นสัญญาณที่ดีเนื่องจากตัวชี้วัดในหมวดเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นฐานในการสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว”

   โดยนายเทวินทร์ กล่าวต่อไปว่า “ถ้าดูจากผลคะแนน จะเห็นว่าเรามีคะแนนรวมสูงขึ้นจาก 64.98 เป็น 69.79 คะแนน แต่อันดับที่ต่ำลงทำให้เห็นว่าเรายังทำได้ไม่มากพอและไม่เร็วพอเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะมาขับเคลื่อนการพัฒนาในเรื่องที่ประเทศยังมีจุดอ่อน และหาทางใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่เรามี ถ้าเราสามารถบริหารจัดการการขับเคลื่อนในองค์รวมได้ จะทำให้เกิดความสอดคล้องและต่อเนื่อง และจะส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน”

    ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับของประเทศไทยเป็นรายหมวด สรุปได้ดังนี้

   1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีการปรับตัวลงเล็กน้อย โดยลดลง 1 อันดับจากอันดับที่ 12 มาเป็นอันดับที่ 13 อันเนื่องมาจากอันดับที่ลดลงของหมวดย่อยด้านสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ (จาก 33 เป็น 46) โดยเรื่องหลักคืออัตราการเติบโตที่แท้จริงของ GDP ที่ลดลง ส่งผลถึงดัชนีชี้วัดอื่นที่เกี่ยวข้องกัน คืออัตราการเติบโตที่แท้จริงของ GDP ต่อหัวของประชากร นอกจากนั้น หมวดย่อยที่มีอันดับลดลงอีก 2 หมวดย่อย คือ ด้านการค้าระหว่างประเทศ (จาก 5 เป็น 8) โดยตัวชี้วัดในหมวดดังกล่าวที่มีอันดับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ อัตราการเติบโตของการส่งออกภาคบริการ และความเห็นของผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันของธุรกิจ ในขณะที่ด้านดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมีอันดับดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และหมวดย่อยด้านการลงทุนระหว่างประเทศ (จาก 29 เป็น 34) ที่มีอันดับลดลงมากในเรื่องความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิต ส่วนอีกสองหมวดย่อยที่มีการพัฒนาดีขึ้นในปีนี้ คือปัจจัยด้านการจ้างงาน (จาก 4 เป็น 3) และปัจจัยด้านราคา (จาก 37 เป็น 19) โดยปัจจัยด้านการจ้างงานถือเป็นจุดแข็งของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยถือว่ามีอัตราการว่างงานที่ต่ำ

   2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ได้รับการจัดอันดับดีขึ้น 1 อันดับจากอันดับที่ 28 ในปี 2557 มาเป็นอันดับที่ 27 ในปี 2558 โดยมีการปรับตัวดีขึ้นในหมวดย่อยเกือบทุกหมวด ทั้งด้านการเงินภาครัฐ (จาก 19 เป็น 14) ด้านกรอบการบริหารภาครัฐ (Institutional Framework) (จาก 39 เป็น 34) และกรอบดำเนินการด้านสังคม (Societal Framework) (จาก 55 เป็น 45) ส่วนด้านนโยบายการคลัง และกฎหมายด้านธุรกิจ มีอันดับคงเดิม คือ อันดับที่ 6 และ 51 ตามลำดับ โดยปัจจัยชี้วัดที่มีอันดับดีขึ้นในหมวดนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นประเด็นที่สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริหารต่อการบริหารงานภาครัฐ เช่น ความสามารถในการปรับเปลี่ยนนโยบายของภาครัฐต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ การตัดสินใจของภาครัฐที่มีการนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล ความโปร่งใสของการดำเนินนโยบายภาครัฐ รวมถึงด้านความสมานฉันท์ในสังคม นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดด้านการกระจายรายได้ (GINI coefficient) ก็แสดงให้เห็นถึงการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตเกี่ยวกับหมวดย่อยด้านกฎหมายธุรกิจ ที่ถึงแม้จะมีอันดับไม่ลดลง แต่ก็เป็นประเด็นที่ควรได้รับการปรับปรุงเนื่องจากยังมีอันดับต่ำอยู่มาก (อันดับที่ 51)

    3. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) มีการปรับตัวดีขึ้น 1 อันดับจากอันดับที่ 25 ในปี 2557 มาเป็นอันดับที่ 24 ในปี 2558 โดยมีการปรับตัวดีขึ้นในด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพ (จาก 49 เป็น 47) และแนวปฏิบัติด้านการบริหารจัดการ (จาก 26 เป็น 25) ในขณะที่ด้านการเงินอยู่ในระดับคงที่ (21) และมีการปรับตัวลดลงในหมวดย่อยด้านตลาดแรงงาน (จาก 5 เป็น 8) และด้านทัศนคติและค่านิยม (จาก 20 เป็น 24) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอันดับโดยรวมในหมวดนี้จะดีขึ้น แต่ประเด็นที่ยังควรได้รับการพัฒนาโดยเร็วคือด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพที่ยังคงอยู่ในอันดับต่ำในทุกภาคเศรษฐกิจ

     4. โครงสร้างพื้นฐาน มีการปรับตัวดีขึ้น 2 อันดับจากอันดับที่ 48 ในปี 2557 มาเป็นอันดับที่ 46 ในปี 2558 ถึงแม้จะมีอันดับลดลงเกือบทุกหมวดย่อยยกเว้นด้านการศึกษา (จาก 54 เป็น 48) โดยผลการจัดอันดับของเกือบทุกหมวดย่อยยังอยู่ในอันดับค่อนข้างต่ำ ในหมวดสาธารณูปโภคพื้นฐาน (จาก 28 เป็น 30) ประเด็นที่มีอันดับลดลงอย่างเห็นได้ชัดมาจากความเห็นของผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจเกี่ยวกับ การบริหารจัดการน้ำให้มีเพียงพอ การเข้าถึงทรัพยากรพื้นฐานและอาหาร การบริหารจัดการเมือง คุณภาพของการคมนาคมทางอากาศ และด้านอุปทานพลังงานในอนาคต

  ในขณะที่ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (จาก 41 เป็น 44) และโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (จาก 46 เป็น 47) เมื่อพิจารณาดัชนีชี้วัดย่อยพบว่า มีหลายประเด็นของข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนาดีขึ้นแต่อันดับกลับลดลงหรือยังคงที่ เช่น การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Total Expenditure on R & D) ที่เพิ่มขึ้นทั้งโดยมูลค่าและสัดส่วนต่อ GDP ของประเทศ (จาก 1,340 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ เป็น 1,856 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ และจาก 0.39% เป็น 0.48%) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ต่างให้ความสำคัญและพัฒนาโครงสร้างด้านนี้อย่างเห็นได้ชัด และทำได้รวดเร็วกว่าประเทศไทย

   ส่วนด้านบริการสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (จาก 53 เป็น 54) ประเด็นที่ทำให้อันดับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อ GDP และผลกระทบของกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ในขณะที่ด้านการศึกษาอันดับของดัชนีย่อยจำนวนหนึ่งเพิ่มขึ้นหรือคงเดิม โดยประเด็นที่ควรให้ความสนใจคือ ความสามารถทางภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษและการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน รวมถึง การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและด้านการบริหารจัดการให้ตอบสนองความจำเป็นของภาคธุรกิจมากขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ จะมีผลต่อการก้าวข้าม Middle Income Trap ของประเทศไทย

  นายวิสิฐ ตันติสุนทร ประธาน TMA กล่าวว่า “การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ถือเป็นภารกิจที่ TMA ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดัน ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนในระดับชาติ โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยิ่งไปกว่านั้น TMA จัดตั้งศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน (TMA Center for Competitiveness) ขึ้นมาดำเนินงานด้านนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งมุ่งพัฒนาให้องค์กรไทยมีความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการ ผ่านการสร้างผู้บริหารที่มีความสามารถและมีภาวะผู้นำในการบริหารองค์กรให้แข่งขันได้ในระดับสากล”

    “นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแนวทางให้ TMA มุ่งศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาผู้บริหารและองค์กรไทย ให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับหลากหลายสถาบันชั้นนำระดับโลก เพื่อเสริมสร้างอาวุธทางทางทักษะและความสามารถให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้บริหารให้สามารถเชื่อมโยงธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยล่าสุด TMA ริเริ่มโครงการ TMA Leadership Development Center เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนาบุคลากรอย่างแท้จริง” คุณวิสิฐกล่าวเพิ่มเติม

    ทั้งนี้ ในปี 2558 ประเทศไทย ยังคงเผชิญกับความท้าทายในหลายประเด็น ซึ่งมีอยู่ 5 ประเด็นคือ

1. จำเป็นต้องกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นโดยเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการใหญ่

2.ส่งเสริมอุตสาหกรรมอื่นเพื่อทดแทนการส่งออกที่ลดลง รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและมีมูลค่าเพิ่มเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

3.ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้

4. ปฏิรูปภาครัฐและการเมืองที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและความโปร่งใสทางสังคม

5. ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมอย่างแท้จริง

   “ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีแสดงถึงความตั้งในจริงและมุ่งมั่น เพื่อเร่งเครื่องยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เน้นการทำงานที่เชื่อมโยงการพัฒนาทุกภาคส่วน โดยลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะ มีบทบาทหน้าที่ดูแลมาตรการทั้งเชิงรับเชิงรุก คือการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการพัฒนาเสริมศักยภาพให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน” คุณเทวินทร์ กล่าวสรุปทิ้งท้าย

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ TMA และ IMD

     มากกว่า 15 ปี ที่ TMA มีบทบาทในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยร่วมเป็น Partner Institute กับ IMD World Competitiveness Center แห่งสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศมาตั้งแต่ปี 2540  และได้ดำเนินการโครงการ Thailand Competitiveness Enhancement Program โดยความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการได้กระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และปัจจุบัน TMA ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) และในคณะอนุกรรมการที่ กพข. แต่งตั้งขึ้นรวม 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และคณะอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลและการสื่อสารประชาสัมพันธ์

     นอกจากนี้ TMA ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้ Thailand Competitiveness Conference จะจัดในวันที่ 15-17 กรกฎาคม 2558 ภายใต้หัวข้อ “Building Competitive Thailand for Sustainability and Inclusiveness” โดยจะมีการเชิญผู้บริหารของ IMD World Competitiveness Center มานำเสนอและวิเคราะห์แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งวิเคราะห์ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย บนเวทีการเสวนาแสดงความคิดเห็นโดยผู้บริหารองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ

สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ :

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) โทร. 02 319 7677 ต่อ 253,170 แฟกซ์ 02 319 5666

 วิทยา วงศ์หล่อ (ปิ๊ก) ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์  เบอร์โทร. 080 022 9999 , E-mail : wittaya@tma.or.th

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!