WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'อภิชาต สถิตนิรามัย'ลอกคราบ'ชนบท-คนเมือง'สู่โรดแมปขจัดเหลื่อมล้ำ

 

 


สัมภาษณ์พิเศษโดย ขจรศักดิ์ สิริพัฒนกรชัย, เมธาวุฒิ เสาร์แก้ว 

มติชนรายวัน 2 กรกฎาคม 2557

      หมายเหตุ - ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงภาพของสังคมไทยที่เปลี่ยนไปในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและแนวทางสำหรับการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมไทย

สังคมของไทยที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ อย่างไร 

สังคมไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้ผลิตชนชั้นใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงทำให้ความยากจนลดลงไปมาก กระทั่งคนที่จนกว่าเส้นความยากจนเหลืออยู่ประมาณ 10% ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงมีฐานะทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าระดับคนจนแบบไม่พอกิน กลายเป็น "ชนชั้นกลางรุ่นใหม่" ที่เพิ่งหลุดพ้นจากความยากจนมาไม่นาน เมื่อเทียบกับชนชั้นกลางรุ่นเก่าใน กทม.ที่โตมานานกว่า หรือเลยระดับความยากจนมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์แล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดพลังทางสังคมขึ้นมาใหม่ เป็นพลังของคนชั้นกลางใหม่ ซึ่งในอดีตไม่เคยถูกนับให้เป็นส่วนหนึ่งของการเมือง แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี"40 ซึ่งเป็นฉบับที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลสามารถทำงานได้จริงบังคับใช้ จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศพอดี จะดีหรือจะเลวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ด้วยโครงสร้างรัฐธรรมนูญปี"40 จึงทำให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณยังทำให้ชาวบ้านตระหนักได้ถึงคำว่า "ประชาธิปไตยกินได้" โดยผ่านบัตรเลือกตั้ง 

เหตุผลใหญ่ๆ ที่ชนชั้นนำเก่าถึงยอมเปิดโอกาสให้มีรัฐธรรมนูญ 2540 

การออกแบบรัฐธรรมนูญก่อนฉบับปี′40 โดยบทบัญญัติต่างๆ โดยเฉพาะเขตการเลือกตั้ง ที่มักออกแบบเป็นพวงใหญ่ 1 เขตเลือกตั้งสามารถมี ส.ส.ได้ 3 คน ซึ่งวิธีการเลือกตั้งแบบนี้ทำให้พรรคการเมืองไม่โต เคยมีผลการศึกษาของนักรัฐศาสตร์ชี้ไว้ว่าระบบการเมืองเช่นนั้น จะทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กอยู่รอด ทำให้ ส.ส.กระจัดกระจายเพื่อให้มีรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศ ทั้งยังเป็นรัฐบาลที่ไม่มีอำนาจ ไม่สามารถทำงานเสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะส่วนใหญ่จะถูกการเมืองระหว่างพรรคร่วมแตะสกัดกันเอง จึงทำให้ชนชั้นกลางเก่าใน กทม.เบื่อนักการเมืองมาตลอด เพราะมีแต่ภาพโกงกิน ทำงานไม่เคยเสร็จ ขณะนั้นทุกคนเห็นปัญหาร่วมกัน จึงเกิดขบวนการธงเขียวที่ชูประเด็นปฏิรูประบบการเมือง เพื่อให้รัฐบาลมีประสิทธิผลมากขึ้น จึงเป็นที่มาของระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เกิดระบบปาร์ตี้ลิสต์เพื่อมาผลิตนโยบายระดับชาติ ซึ่งในตอนนั้นคน กทม.ก็เชียร์ เพราะต้องการลบภาพ "บุฟเฟต์คาบิเนต" หรือรัฐบาลผสมให้หมดไป ประกอบกับในช่วงเวลานั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 40 ขึ้นพอดี ซึ่งเป็นผลพวงมาจากบุฟเฟต์คาบิเนตนั่นแหละ จึงเป็นจังหวะที่ทำให้เกิดแรงทางสังคมกดดันให้ทุกฝ่ายยอมรับรัฐธรรมนูญปี′40 พอดี แล้วยังไปพอดีกับจังหวะคุณทักษิณขึ้นมามีอำนาจอีก

ในตอนนั้นชนชั้นนำเก่าได้ประเมินผลที่จะตามมาหรือไม่

ไม่มีใครนึกถึง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ในภาษาของนักสังคมศาสตร์ เรียกว่า ไม่ได้เป็นผลพวงโดยตั้งใจ ทั้งหมดนี้คือที่มาของความขัดแย้งในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความตื่นรู้ของคนที่ได้จากประสบการณ์ที่มาจากประชาธิปไตยกินได้ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจที่รัฐธรรมนูญ 40 บังคับให้กระจายอำนาจ โดย พ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ทำให้ประชาธิปไตยในท้องถิ่นในระดับต่างๆ มีการเลือกตั้งเกือบทุกปี คนจึงตื่นตัวทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหารปี 2549 ชาวบ้านจึงงงมาก เพราะเขาเพิ่งจะเลือกตั้งไปเมื่อปี 2548 แล้วมายึดอำนาจไป เหตุการณ์ในคราวนั้นคนที่ไม่เคยสนใจการเมืองเลย หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น ทุกคนล้วนตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น

จึงเป็นเหตุให้คนต่างจังหวัดตระหนักในสิทธิและเสียงของตัวเองขึ้นมา

ใช่ เพราะเขาสามารถออกสิทธิหย่อนบัตรลงคะแนนเพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายที่กินได้ ซึ่งในอดีตเขาไม่เคยได้ มันมีตัวเลขงบประมาณของรัฐเป็นรูปธรรมชัดเจนว่า ก่อนหน้าสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณงบกระจายไปยังชนบทเพียงแค่ 18% ส่วนที่เหลือก็กระจุกตัวอยู่ใน กทม.แต่ พ.ต.ท.ทักษิณได้เพิ่มตัวเลขนี้ขึ้นไปมาก และนี่จึงเป็นที่มาของความขัดแย้ง การเมืองกับฝ่ายชนชั้นกลางเก่าและชนชั้นนำที่อยู่ใน กทม. เพราะคนเหล่านี้ได้รับอภิสิทธิ์ และมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด เขาไม่เคยสนใจเลยว่ารัฐบาลจะมาจากพรรคใด จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ หรือจะเป็นรัฐบาลในนามของทหารหรือไม่ก็ตาม แต่รถไฟฟ้า 10 สายใน กทม.เกิดขึ้นแน่ๆ เนื่องจาก กทม.เป็นศูนย์กลางทุกอย่าง เขาจึงไม่ต้องพึ่งพาบัตรเลือกตั้งในการเรียกร้องนโยบาย ดังนั้นในแง่เศรษฐศาสตร์การเมืองความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่ชนชั้นกลางใหม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐกระจายผลประโยชน์ออกจากกทม.นั่นเอง

ทุกวันนี้ยังบอกว่าสังคมไทยเป็น "สังคมเกษตรกรรม" ได้อยู่หรือไม่

คนในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลากหลายมากขึ้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจตามที่ได้อธิบายไป คนต่างจังหวัดทำนาเป็นอาชีพพาร์ตไทม์ไปแล้ว สมมุติรายได้ของเกษตรกรในภาคอีสานได้ 100 บาท มาจากภาคเกษตรกรรมเพียงแค่ 20 บาทเท่านั้น ดูง่ายๆ กำลังแรงงานมีเพียง 30% เท่านั้นที่ยังคงเป็นเกษตรกรอยู่ คนอีก 70% ทำงานอกภาคการเกษตรแล้ว ขณะเดียวกัน หากดูจากขนาดของจีดีพีภาคเกษตรสามารถผลิตได้แค่ 10% เท่านั้น อีก 90% มาจากนอกภาคเกษตรทั้งหมด สังคมไทยไม่ใช่สังคมเกษตรอีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น คุณจะนำวิธีคิดแบบสังคมเกษตรกลับมาใช้ไม่ได้อีกแล้ว

แต่ชนชั้นนำและชนชั้นกลางเก่ายังมีจินตนาการแบบบิดเบือนว่าเรายังเป็นสังคมเกษตรอยู่เหมือนเดิม

นี่คือปัญหา ทำให้คน กทม.ตกอยู่ในวาทกรรมว่า คนชนบทยังเหมือนเดิมอยู่ ยัง "โง่ จน เจ็บ" ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงสภาพสังคมในต่างจังหวัดเปลี่ยนไปมากแล้ว จึงนำมาซึ่งวิธีคิดที่ไม่นับว่าเป็นคนเท่ากัน ถามว่าตั้งใจหรือไม่ ไม่รู้ แต่ว่าคนจำนวนมากใน กทม.ไม่รู้จักชนบท และคน กทม.ก็ไม่รู้ด้วยว่า สำนึกเรื่องคนความเท่าเทียมกันมันมีอยู่จริง ปัญหาที่สำคัญมากคือชนชั้นนำไม่ได้ตระหนักว่าสังคมเปลี่ยนไป ยังต้องการจัดการและต้องการกดทับสังคมแบบเดิมไว้ ขณะที่คนจำนวนมากตระหนักในสิทธิตนเอง ดังนั้น สิ่งที่ยังเป็นความเหลื่อมล้ำเขาจะไม่อยู่เฉยหรอก ประวัติศาสตร์ไม่ได้อยู่ข้างการหยุดรั้งความเปลี่ยนแปลง หากแต่อยู่ข้างการเปลี่ยนแปลงเสมอ ความขัดแย้งรอบ 10 ปีที่ผ่านมามันบอกให้รู้ว่าคุณทำอย่างเดิมอีกต่อไปไม่ได้แล้ว

ข้อเสนอที่เป็นแนวทางในแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมแบบยั่งยืนอย่างไรบ้าง

วิธีการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำเพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างนั้น คนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับนโยบายทั้งเทคโนแคต ทั้งนักวิชาการรู้ปัญหานี้มาตั้งแต่ผมยังเรียนปริญญาตรี แถมยังรู้วิธีการแก้ไขมานานแล้ว นั่นคือ ภาษีสินทรัพย์ ภาษีที่ดิน การเก็บภาษีมรดก ที่เล่ามากำลังจะบอกว่าไม่ใช่เราไม่รู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน ไม่ใช่เราไม่มีเทคนิคหรือวิธีการแก้ไข เรามีหมดทุกอย่าง แต่ที่ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นปัญหาทางการเมือง การออกนโยบายที่จะเก็บภาษีมรดก เก็บภาษีที่ดินทำไม่ได้เลยในทางการเมือง จึงไม่แปลกที่ไม่มีใครกล้าออกกฎหมายนี้ออกมา อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมในระดับเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีฐานะใกล้เคียงกัน ไทยเก็บภาษีต่ำกว่า ภาษีของไทยที่รัฐเรียกเก็บในแต่ละปีมีประมาณ 17-18% ของจีดีพี ประเทศในระดับเดียวกันเก็บโดยเฉลี่ย 23% เราจึงมีช่องว่าง ซึ่งสามารถจัดเก็บภาษีได้อีกเยอะ ชัดเจนที่สุดคือ ภาษีทรัพย์สิน ไม่ว่าจะที่ดินสิ่งปลูกสร้าง แล้วให้ท้องถิ่นเป็นคนจัดเก็บ เพื่อเป็นการเพิ่มงบประมาณท้องถิ่น เพราะแต่ละท้องถิ่นมีงบประมาณไม่พอใช้จึงต้องพึ่งแต่ส่วนกลาง วิธีนี้เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดในการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำ เป็นวิธีในทางเทคนิค แต่อาจจะยากในทางการเมือง

นอกเหนือไปจากการเก็บภาษีทรัพย์สินแล้ว อีกประการหนึ่งที่เป็นวิธีทางเทคนิคคือ การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ทั้งทางเศรษฐกิจ ต้องเพิ่มฐานภาษีของท้องถิ่น และให้ท้องถิ่นมีการจัดเก็บภาษีได้มากกว่านี้ พร้อมกับงบประมาณของรัฐที่ให้กับท้องถิ่นต้องเพิ่มด้วย ขณะที่ในแง่การเมืองต้องให้ท้องถิ่นมีการตัดสินใจมากขึ้นกว่านี้ แต่ว่าในปัจจุบันท้องถิ่นถูกควบคุมโดยกฎกระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้นต้องทำ ถ้าไม่ทำจะไม่มีทางปฏิรูปได้อย่างยั่งยืนได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!