WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานพิเศษ : เทรนด์อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะมาแรงทั่วโลก ‘PwC’คาดภายใน3ปียอดขายแตะ 130 ล้านชิ้น

     แนวหน้า : PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทริการด้านการตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก เผย อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะเทรนด์ใหม่มาแรงของโลกอนาคต คาดปี 2561 ยอดขายแตะ 130 ล้านชิ้น ดันมูลค่าตลาดแตะเกือบ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท

       ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นสินค้าไอทีที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิตอล ที่ต้องการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์อื่นๆได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยเฉพาะกลุ่มคน Gen Y หรือมิลเล็นเนียล ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีล้ำสมัย มองอุตสาหกรรมสื่อ-บันเทิง สุขภาพ และค้าปลีก ได้รับอานิสงส์จากเทรนด์นี้มากสุด

     “PwC แนะธุรกิจปรับกลยุทธ์ให้ทันเทคโนโลยีสวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สร้างความไว้วางใจ และยึดความต้องการผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางในการทำกลยุทธ์ พร้อมมองตลาดเทคโนโลยีสวมใส่ในไทยมีโอกาสเติบโตสูง เหตุอนาคตกลุ่ม Gen Y จะเข้ามามีอิทธิพลในตลาดมากขึ้น”

     น.ส.วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) ได้เปิดเผยถึงผลสำรวจ The Wearable Future ซึ่งทำการสำรวจกลุ่มผู้บริโภค ผู้บริหาร และผู้นำที่มีอิทธิพลกับเทคโนโลยีสวมใส่และสังคมออนไลน์ชาวสหรัฐ จำนวน 1,000 ราย ว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ (Wearable Technology) เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) กำไลข้อมือเพื่อสุขภาพ แว่นตาแบบมีจอภาพ หรือหูฟังไร้สาย กำลังกลายเป็นสินค้าไอทีที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วโลกอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นสินค้าที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ ที่นับวันจะมีไลฟ์สไตล์หรือรูปแบบการใช้ชีวิตผ่านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์อัจฉริยะเข้ากับสิ่งต่างๆรอบตัว (Internet of Things) มากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2561 ยอดขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่จะสูงถึง 130 ล้านชิ้น และมูลค่าตลาดจะสูงถึง 197,119 ล้านบาท

     “กระแสความนิยมของอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะทั่วโลกจะยิ่งเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆในระยะข้างหน้า นำโดยตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ผลสำรวจของเราพบว่า 20% ของชาวอเมริกัน เป็นเจ้าของอุปกรณ์สวมใส่แบบพกพา โดย PwC ยังมองอีกว่าอัตราการใช้งานจะยิ่งขยายตัวมากขึ้น หลังมีอัตราการเติบโตพอๆกับอุปกรณ์แท็บเล็ตในปี 2555”น.ส.วิไลพร กล่าว

    เวลานี้เทคโนโลยีกำลังเดินหน้าไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ ที่ไม่ใช่แค่การใช้โมบายหรือสมาร์ทโฟนเป็นแพลทฟอร์มอีกต่อไป แต่เรากำลังเคลื่อนที่ไปสู่การใช้อุปกรณ์อื่นที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ตแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y ที่เครือข่ายสังคมออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันอย่างแยกจากกันไม่ได้

     ในส่วนของภาคธุรกิจนั้น เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ จะกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการธุรกิจ (The next big thing) ในระยะข้างหน้า โดยผู้บริหารจะต้องเร่งปรับกลยุทธ์โดยรับเอานวัตกรรมใหม่ๆเหล่านี้มาปรับใช้กับองค์กร เพื่อสร้างความได้เปรียบและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งยังช่วยสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่งและเกิดความทันสมัยต่อทั้งลูกค้าและพนักงานภายในองค์กร

     ทั้งนี้ ผลการสำรวจ พบว่า ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y ถึง 53% และกลุ่มผู้บริโภคหัวก้าวหน้าที่ชอบลองสิ่งใหม่ๆ (Early adopter) ถึง 54% รู้สึกตื่นเต้นและสนใจพัฒนาการของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ในอนาคต ในขณะที่ 79% ยังคาดหวังว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ จะสามารถสร้างสรรค์สื่อและความบันเทิงให้พวกเขาได้ ดังนั้นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมสื่อ-บันเทิง สุขภาพ และค้าปลีก ควรเร่งปรับตัว หันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ บนแพลตฟอร์มหรืออุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่เหล่านี้

     อย่างไรก็ดี สิ่งที่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ คือ ราคา ความปลอดภัยทางด้านข้อมูล และความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ โดยผลสำรวจพบว่า มีเจ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ถึง 33% ที่บอกว่าตนเลิกใช้หลังซื้อมาได้ 1 ปี หรือแทบจะไม่ได้ใช้งานเลย โดย 82% กังวลว่าความไม่เสถียรของอุปกรณ์ จะทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว และคุกคามความเป็นส่วนตัวของพวกเขา ขณะที่ 86% เป็นห่วงความปลอดภัยของข้อมูล

    สำหรับ คุณประโยชน์ 3 อันดับแรก ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ ที่ผู้บริโภคคาดหวัง ได้แก่ 1.ความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต (Improved Safety) โดยผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคถึง 90% ต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ที่สามารถดูแลความปลอดภัยให้แก่เด็กๆได้ 2.สุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Healthier Living) โดยอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถระบุรายการอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังที่ถูกต้อง รวมไปถึงแนะนำสถานพยาบาลได้ด้วย 3.การใช้งานต้องง่ายและสะดวกสบาย (Simplicity and ease of use)

    ส่วนอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากระแสอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมบันเทิง สื่อ และการสื่อสาร (Entertainment, Media and Communications) ถือเป็นอุตสาหกรรมลำดับต้นๆที่มีโอกาสในการพัฒนาและเติบโตในตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้พึ่งพาจอแสดงผลเป็นหลัก จึงได้เปรียบกว่าอุตสาหกรรมอื่น โดยพบว่าอุปกรณ์สวมใส่ เช่น นาฬิกา แว่นตา หมวก จะกลายเป็นช่องทางการตลาดและการโฆษณารูปแบบใหม่ ที่บริษัทสามารถใช้ส่งข้อความโฆษณาไปถึงตัวผู้บริโภคได้โดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบการเล่นกีฬาจะนิยมใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่มากกว่ากลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้อุปกรณ์ดังกล่าวยังช่วยเพิ่มโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์ผ่านทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น อย่างไรก็ดีในอนาคตหากการโฆษณาผ่านอุปกรณ์ดังกล่าวแพร่หลายมากขึ้น อาจทำให้รายได้จากการโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงได้

    2.อุตสาหกรรมสุขภาพ (Health) ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความสนใจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสุขภาพแบบสวมใส่ (Wearable Health Technology) แม้อัตราการใช้ยังคงไม่สูง โดยผู้บริโภคมากกว่า 80% ระบุว่าประโยชน์ที่สำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ คือ ทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องง่ายและสะดวกมากขึ้น ผู้ประกอบการที่ต้องการหาประโยชน์จากการเทคโนโลยีสวมใส่อัจฉริยะ ต้องสามารถเข้าถึงและแปลงข้อมูลเชิงลึก รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เพื่อช่วยจัดการสุขภาพและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   3.อุตสาหกรรมค้าปลีก (Retail) ในอนาคตอันใกล้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ จะกลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจค้าปลีกในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้ามากขึ้น อาทิ  ให้บริการข้อมูลที่มากขึ้น ระบบการชำระเงินที่รวดเร็วขึ้น  ช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นในการเข้าถึงข้อเสนอที่ดีที่สุด รวมถึงป้อนข้อมูลเรียลไทม์เพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อ เรียกได้ว่าผู้บริโภคจะสามารถช็อปปิ้งผ่านช่องทางที่หลากหลาย ได้ทุกที่ ทุกเวลา และการเข้าถึงลูกค้าจากทุกช่องทาง (Omni-channel)  โดยไม่จำกัดเฉพาะหน้าจอบนมือถือ แท็บเล็ต หรือที่ร้านค้า จะกลายเป็นประสบการณ์ใหม่ของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้บริโภคกังวลมากที่สุด คือ การละเมิดความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการบริโภค การชำระเงิน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงความกังวลเหล่านี้

    นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ยังสามารถนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่มาใช้พัฒนาธุรกิจหรือสินค้าและบริการของพวกเขาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ธุรกิจค้าปลีก สามารถนำข้อมูลจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ มาพัฒนาบริการระบบการชำระสินค้าหน้าร้าน โปรแกรมในการสร้างความภักดีระหว่างลูกค้าและแบรนด์ (Loyalty Programmes) หรือธุรกิจด้านสุขภาพ สามารถนำข้อมูลมาพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ และวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมบันเทิง สื่อ และการสื่อสาร สามารถนำข้อมูลไปพัฒนาข้อความและวิธีการในการเข้าถึงผู้บริโภคได้อีกด้วย

    ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการธุรกิจ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนและกำหนดแนวทางการดำเนินกลยุทธ์ เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของโลกอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นกับทุกธุรกิจ

    โดยสิ่งที่องค์กรต้องยึดมั่นไว้เสมอเมื่อกำหนดแผนธุรกิจ คือ 1.ช่องทางในการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ การขยายตัวของอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ จะนำมาซึ่งช่องทางการตลาดใหม่ๆ โดยนำข้อมูลเชิงลึกมาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

     2.การออกแบบโดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง (Human-Centred Design) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่จะมีประสิทธิภาพได้นั้น ธุรกิจต้องยึดผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลางในการผลิต

     3.ความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ เพราะนี่เป็นความกังวลอันดับต้นๆของผู้ใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส่ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลผู้บริโภคไปใช้งาน หรือเปิดเผยวิธีการในการดึงข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้ผู้บริโภค

    4.การตระหนักถึงความสำคัญของอุปกรณ์สวมใส่นั้นมีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการต้องมีมุมมองในระยะยาวต่อการกำหนดกลยุทธ์ในการทำธุรกิจบนโลกดิจิตอล

    สำหรับ ตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ในไทยนั้น ปัจจุบันยังไม่คึกคักมากนักเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ หรือ ญี่ปุ่น เนื่องจากราคาค่อนข้างแพงและผู้บริโภคมองว่าเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่สนใจด้านสุขภาพ หรือกลุ่มที่ชื่นชอบเทคโนโลยีล้ำสมัยมากกว่า

   อย่างไรก็ดี PwC เชื่อว่าอนาคตตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ในไทยจะเติบโตกว่าปัจจุบันแน่นอน เพราะนอกจากสินค้าใหม่ๆที่ผู้ผลิตกำลังออกแบบมาจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคมากขึ้นแล้ว พฤติกรรมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ของไทย ส่วนใหญ่ชื่นชอบและต้องการก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่

     ก่อนหน้านี้ผลสำรวจของ อินิชิเอทีฟ โกลบอล ระบุว่า กลุ่ม Gen Y ของไทยเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน 81% สูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆที่ทำการสำรวจ และ 50% ครอบครองถึง 3 อุปกรณ์ ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ค้าและผู้ประกอบการไทย ที่ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ให้ทันกับเทคโนโลยีและพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป

                ที่มา: PwC ประเทศไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!