WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC1ส่งออกไทยไตรมาสแรกยังไม่ฟื้นตัว โดยหดตัวลงกว่า 4.7%

Event

    กระทรวงพาณิชย์ รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนมีนาคมอยู่ที่ 18,886.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่นับจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่ 4.4%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ส่งผลให้ไตรมาสแรกมูลค่าการส่งออกไทยหดตัวแล้วกว่า 4.7%YOY ด้านมูลค่าการนำเข้าในเดือนมีนาคมนั้นอยู่ที่ 17,391.2 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ 5.9%YOY โดยในไตรมาสแรกมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดลดลง 6.4%YOY ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าหดตัวลงรุนแรงกว่ามูลค่าการส่งออก จึงทำให้ไทยยังคงเกินดุลการค้าต่อเนื่องมาจากเมื่อเดือนที่แล้ว โดยในเดือนมีนาคมไทยเกินดุลการค้ามากถึง 1,495 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ในไตรมาสแรก ไทยเกินดุลการค้าราว 1,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Analysis

     มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับลดลงในเดือนมีนาคม ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมันหดตัวลงต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคมมูลค่าการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบหดตัวลง 5.0%YOY เช่นเดียวกับการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าที่ลดลงกว่า 10%YOY หลังจากที่สามารถขยายตัวในระดับสูงในช่วงสองเดือนแรกของปี ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงที่หดตัวลงรุนแรงในเดือนมีนาคมกว่า 27%YOY ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรหลักของไทยอย่างยางพาราและข้าวต่างหดตัวต่อเนื่องจากราคายางในตลาดโลกและปริมาณส่งออกข้าวที่ลดลง โดยในไตรมาสแรกมูลค่าการส่งออกยางพาราและข้าวหดตัว 36.1%YOY และ 5.1%YOY ตามลำดับ ขณะเดียวกันการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปของไทยหดตัวลงกว่า 13.8%YOY ในไตรมาสแรก เนื่องจากถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP จากสหภาพยุโรป และยังอาจถูกกดดันเพิ่มเติมจากปัญหาการใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมง นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติกที่มีสัดส่วนถึง 15% ของการส่งออกทั้งหมดนั้น ยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลง โดยในไตรมาสแรกมูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวปรับลดลง 27.2%YOY, 22.9%YOY, และ 9.8%YOY ตามลำดับ

   การส่งออกรถยนต์และน้ำตาลกลับมามีสัญญาณที่ดีอีกครั้งในเดือนมีนาคม มูลค่าการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ และน้ำตาลกลับมาขยายตัวในระดับสูงในเดือนมีนาคม โดยการส่งออกรถยนต์ในเดือนมีนาคมขยายตัว 5.0%YOY จากปริมาณการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดสหภาพยุโรปและอเมริกาเหนือที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในไตรมาสแรก ประกอบกับการส่งออกรถกระบะและรถบรรทุกไปยังตลาดออสเตรเลียกลับมาขยายตัวสูงถึง 24.6%YOY ในเดือนมีนาคม ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2015 การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบขยายตัวราว 5.5%YOY ด้านการส่งออกน้ำตาลกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกของปีที่ 21%YOY ในเดือนมีนาคม จากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นถึง 34%YOY

  การส่งออกไทยยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกไทยไปยังตลาดจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันราว 30% ของการส่งออกทั้งหมด ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ 8.3%YOY, 8.4%YOY และ 3.9%YOY ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และตลาดศักยภาพสูงอย่าง CLMV ยังสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคมขยายตัว 5.6%YOY และ 17.4%YOY ตามลำดับ

   มูลค่าการนำเข้ากลับมาหดตัวอีกครั้ง จากการมูลค่าการนำเข้าน้ำมันและเครื่องจักรที่ลดลง ในเดือนมีนาคมมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่องอีก 39%YOY ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนกลับหดตัวลง 9.1%YOY จากการนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้าที่ปรับลดลงราว 5%YOY และการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบที่หดตัวลง 11.7%YOY อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นราว 4%YOY ส่งผลให้ในไตรมาสแรกการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวถึง 9.9%YOY ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่หดตัวรุนแรงกว่าการส่งออกจะทำให้ในปีนี้ไทยมีทิศทางเกินดุลการค้าเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง 

Implication

   อีไอซีคาดว่าการส่งออกไทยปีนี้มีโอกาสหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยคาดว่าจะหดตัวลง 1.3%YOY ซึ่งอีไอซีมองว่ายังมีหลายปัจจัยที่กดดันการส่งออกไทยในระยะต่อไป ทั้งจากราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันโลกที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ การประกาศเตือนของสหภาพยุโรปในประเด็นเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายของไทยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป และการถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ในทุกหมวดสินค้าจะกระทบการส่งออกของไทยไปยังสหภาพยุโรป ประกอบกับเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนและยูโร รวมถึงค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งในการส่งออกของไทย เหล่านี้จะเป็นปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกตลอดทั้งปี 2015

สื่อสารองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน)

กุณฑลี  โพธิ์แก้ว (ผึ้ง) โทร. 02-544-4501 , 086-1308560 Email: koontalee.pokaew@scb.co.th

พิชญ์มน เกตุปมา (ปูเป้) โทร. 02-544-1902  Email: pichamon.ketupama@scb.co.th

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์

อัญญรัตน์ บุญนิธิวรกุล (อร) มือถือ 089-9222203

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!