WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TRIS Worldทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตพันธบัตรรัฐบาลวงเงินไม่เกิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สปป. ลาวที่ระดับ ‘BBB+/Stable’

     ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตพันธบัตรมูลค่ารวมในวงเงินไม่เกิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ที่ระดับ “BBB+” พร้อมกันนี้ยังคงอันดับเครดิต สปป. ลาว และพันธบัตรที่ออกโดย สปป. ลาว ที่ระดับ ‘BBB+’ โดยแนวโน้มยังคง ‘Stable’หรือคงที่

      โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศที่ยังคงแข็งแกร่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในปี 2557 และ 2558 ตลอดจนการมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาที่เป็นสากลและขจัดความยากจน อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตได้รับผลกระทบจากภาระหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลที่อยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง รายได้ของรัฐบาลที่อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ข้อจำกัดของระบบข้อมูลของภาครัฐ การเกิดใหม่ของตลาดทุนในประเทศ และการพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

      แนวโน้มอันดับเครดิต’Stable’ หรือคงที่สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่ารัฐบาล สปป. ลาว จะมีความสามารถและความตั้งใจในการชำระหนี้ในระดับคงที่ต่อเนื่องไปในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่หนี้ต่างประเทศของภาครัฐจะอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 40-50 ของ GDP ในระยะปานกลาง นอกจากนี้ ภาระหนี้ที่ต้องชำระจะคงอยู่ในระดับร้อยละ 30-40 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี อัตราส่วนดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอนาคตเมื่อเงินกู้และเงินช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศถูกแทนที่ด้วยเงินกู้จากนักลงทุนระหว่างประเทศ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” ยังสะท้อนถึงความคาดหมายว่ารายได้ของรัฐบาลจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าตามสัญญาที่ทำไว้

    ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับผลกระทบในเชิงลบ ถ้ามีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลโดยปราศจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เพื่อรองรับภาระหนี้ที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความสามารถในการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลอาจได้รับผลกระทบจากการลดลงของการส่งออก หรือในกรณีที่รายได้ของรัฐบาลจากภาษีและไม่ใช่ภาษีลดลง

     อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอันดับเครดิตอาจเป็นไปได้หากมีการลดลงของหนี้ต่างประเทศของภาครัฐอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง รวมทั้งเมื่อมีการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อประชากร และการขยายตัวของรายได้รัฐบาล

     เศรษฐกิจของ สปป. ลาว ซึ่งประเมินจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product -- GDP) คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในปี 2558 ชะลอลงเล็กน้อยจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 7.8 ในปี 2557 GDP ของ สปป. ลาว ตามราคาประจำปีในปี 2557 เท่ากับ 11.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบเท่ากับประมาณ 1,671 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อประชากรต่อปี รายได้ต่อประชากร (GDP per Capita) ของ สปป. ลาว ในปี 2557 มีอัตราการเติบโตที่แท้จริงเท่ากับร้อยละ 5.8 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตของรายได้ต่อประชากรที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ

     หนี้ต่างประเทศของรัฐบาลของ สปป.ลาว ในปี 2557 เท่ากับร้อยละ 49.3 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47.2 ของ GDP ในปี 2556 หนี้ของรัฐบาลส่วนมากใช้ในการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภค อย่างไรก็ดีในปี 2557 หนี้ต่างประเทศของรัฐบาล สปป.ลาว มากกว่า ร้อยละ 80 เป็นเงินกู้จากองค์การระหว่างประเทศและเงินกู้จากรัฐบาลในต่างประเทศ โดยสัดส่วนหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลที่ต้องชำระ (Debt service) ต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเท่ากับร้อยละ 36.5 ในปี 2557 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 25.0 ในปี 2556

      รายได้ของรัฐบาล สปป.ลาว ในปี 2557 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 11.7 ซึ่งทำให้สัดส่วนของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ต่อรายได้ลดลงเหลือร้อยละ 3.9 จากร้อยละ 5.1 ในปี 2556

     รัฐบาล สปป.ลาวมีรายได้หลัก มาจากภาษีอากร สปป. ลาว ได้มีการนำแผนปฏิรูปภาษีอากรมาใช้ และมีการนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ตั้งแต่ปี 2553 พร้อมไปกับการพัฒนาระบบการบริหารและการจัดเก็บภาษี สัดส่วนรายได้รัฐบาลจากภาษีอากรเทียบกับรายได้รัฐบาลทั้งหมดเท่ากับร้อยละ 65.3 ในปี 2557 อย่างไรก็ดีสัดส่วนของรายได้จากภาษีอากรมีแนวโน้มลดลงเนื่องมาจากการขยายตัวของรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากรของรัฐบาลจากค่าภาคหลวงที่เก็บจากธุรกิจเหมืองแร่และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ รัฐบาล สปป. ลาว มีรายได้จากภาคการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะอันใกล้ ภายหลังจากที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลาย ๆ แห่งแล้วเสร็จและเปิดดำเนินกิจการ ในปี 2557 รายได้รัฐบาลจากภาคการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเท่ากับ 656 พันล้านกีบ (82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และคาดว่ารายได้จากภาคการผลิตดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 พันล้านกีบ (125 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2558 จากข้อมูลของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank -- ADB) ประมาณว่าโดยทางเทคนิคแล้วสาขาลุ่มแม่น้ำโขงใน สปป. ลาว มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้มากถึง 20,000 เมกะวัตต์ และคาดว่าในปี 2563 สปป. ลาว จะมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นประมาณ 8,100 เมกะวัตต์ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศและเพื่อการส่งออก

      ภาครัฐของ สปป. ลาว รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินอยู่ในระหว่างการพัฒนาปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูลและสร้างฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากลให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้มีระบบข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทั่วถึงและทันเหตุการณ์ ในปัจจุบัน หน่วยงานหลักของ สปป. ลาว ที่รับผิดชอบในการจัดเก็บรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มี 2 หน่วยงานได้แก่ ธนาคารแห่ง สปป. ลาว (Bank of the Lao PDR) และ Lao Statistics Bureau ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงแผนงานและการลงทุน (Ministry of Planning and Investment) ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญประกอบด้วยรายได้ประชาชาติ อัตราการขยายตัวของ GDP อัตราเงินเฟ้อ สินเชื่อและเงินฝากของระบบสถาบันการเงิน การค้าระหว่างประเทศ และอื่น ๆ ทั้งนี้ ข้อมูลทางเศรษฐกิจและข้อมูลตลาดการเงินล่าสุดของ สปป. ลาว ที่มีการเผยแพร่เป็นข้อมูลของไตรมาสที่ 1 ปี 2558

      สปป. ลาว มีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองและสถาปนาประเทศใหม่เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการในปี 2518 ระบบการปกครองประเทศประกอบด้วยพรรคเดียว คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว โดยมีสภาแห่งชาติลาว (National Assembly of the Lao PDR) เป็นคณะผู้มีอำนาจบริหารประเทศเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่น ๆ โดยความเห็นชอบของสภาแห่งชาติลาว การเมืองที่มีเสถียรภาพสูงทำให้รัฐบาลมีความต่อเนื่องในการนำนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ระบบการบริหารและการปฏิบัติงานของภาครัฐของ สปป. ลาว กำลังมีการทบทวน และพัฒนาภายใต้การช่วยเหลือขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้กระบวนการในการบริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นระบบและไม่ซับซ้อนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการทบทวน ปรับปรุง และจัดทำร่างระเบียบกฎเกณฑ์พื้นฐานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยระเบียบและกฎเกณฑ์ที่กล่าวถึงนี้รวมถึง กฎหมายและระเบียบข้อบังคับด้านการพาณิชย์ การลงทุน และการดูแลสิ่งแวดล้อม

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

อันดับเครดิตประเทศ:                                                                                                           BBB+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

MOFL186A: พันธบัตรรัฐบาล 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี พ.ศ. 2561                          BBB+

MOFL206A: พันธบัตรรัฐบาล 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี พ.ศ. 2563                          BBB+

MOFL256A: พันธบัตรรัฐบาล 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี พ.ศ. 2568                          BBB+

พันธบัตรรัฐบาล ในวงเกินไม่เกิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2568 และ 2570 BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต:                                                                                                          Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com

ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

         บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!