WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ลงแขกทำนาอินทรีย์ สร้างธนาคารข้าวเพื่อผู้พิการ

    ไทยโพสต์ : "กระบวนการทำนาแบบอินทรีย์ นอกจากช่วยฟื้นฟูดินในแปลงนา ลดต้นทุนการผลิตโดยการย่ำตอฟางข้าวให้เป็นปุ๋ยในนา ลดการใช้ปุ๋ยลงด้วย ยังสามารถเลี้ยงปลาในนาข้าว และระบบนิเวศที่ดีกลับคืนมา สังเกตได้จากสัตว์น้ำต่างๆ เช่น ปลาธรรมชาติ กบ เขียดฯลฯ มาอาศัยในนาเป็นอาหารและยังขายได้"

    การทำนาปลูกข้าวทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะหันมาใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลง จนส่งผลกระทบให้กับทั้งคนใช้และสภาพของดินที่เสื่อมโทรม ดังนั้น บริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด ร่วมกับศูนย์การทหารม้าค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลดอนหญ้านาง อำเภอภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา และมูลนิธิพลังงานไทย ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวนาในพื้นที่ตำบลดอนหญ้านาง อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ทำแปลงนาสาธิตขึ้นเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ ประมาณ 20 ไร่ เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต หันมาทำนาปลอดสารเคมีในท้องทุ่ง เพื่อให้เกษตรกรชาวนาได้ทำนาอินทรีย์ แบบลดต้นทุน

     นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ชาวนามีทักษะความรู้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ รู้จักการทำน้ำหมักสารไล่แมลงจากวัสดุพืชสุมนไพรในท้องถิ่น และการรื้อฟื้นวัฒนธรรม "การลงแขกเกี่ยวข้าว" เป็น "นารวมบุญ" ด้วยความสามัคคีของคนในชุมชน และหน่วยงานภาคราชการและเอกชน ร่วมมือกันในครั้งนี้ โดยผลผลิตข้าวทั้งหมดจะจัดตั้งเป็นธนาคารข้าวให้กับผู้พิการในพื้นที่ รวมถึงการจัดให้มีการเลี้ยงหมูหลุม การปลูกผักสวนครัว ปลูกกล้วย รอบแปลงนา เพื่อการพึ่งตนเองของกลุ่มผู้พิการในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันต่อไป

    นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของบริษัทในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งพื้นที่นี้ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา และใช้การพึ่งพาสารเคมีในการผลิต ซึ่งส่งผลให้ดินเสื่อม ต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ สุขภาพแย่ลงเพราะสารเคมีและยาฆ่าแมลง ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมเสียสมดุล

    ซึ่งกัลฟ์ได้นำองค์ความรู้ในการทำนาอินทรีย์มาเผยแพร่ให้ชุมชนเรียนรู้ โดยการส่งเสริมแปลงนาสาธิต ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้อย่างมาก ที่ผ่านมาการทำนาอินทรีย์ ลงทุนเพียงไร่ละ 3,000-3,500 บาท เท่านั้น เทียบกับการทำนาแบบใช้สารเคมี จะต้องใช้ต้นทุนถึง 6,000-7,000 บาท และเรายังได้ข้าวปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค จำหน่ายได้ราคาสูงกว่าเดิม นอกจากนั้นยังได้ปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าว เช่น ข้าวหอมนิล ข้าวไรซ์เบอรี่ เป็นข้าววิตามินสูง เป็นอาหารสุขภาพที่ได้รับความนิยม ขายกันในท้องตลาดราคาสูงถึง 120-150 บาทต่อกิโลกรัม

    "กระบวนการทำนาแบบอินทรีย์ นอกจากช่วยฟื้นฟูดินในแปลงนา ลดต้นทุนการผลิตโดยการย่ำตอฟางข้าวให้เป็นปุ๋ยในนา ลดการใช้ปุ๋ยลงด้วย ยังสามารถเลี้ยงปลาในนาข้าว และระบบนิเวศที่ดีกลับคืนมา สังเกตได้จากสัตว์น้ำต่างๆ เช่น ปลาธรรมชาติ กบ เขียด ฯลฯ มาอาศัยในนาเป็นอาหารและยังขายได้ด้วย และนาก็มีผักสวนครัว กล้วย พริก มะเขือ ดอกแค มะละกอ ฯลฯ เลี้ยงหมู ไก่" นายชัยวุฒิ  ดังนั้น การทำนาแบบอินทรีย์ และเกษตรผสมผสาน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ชาวนาพึ่งตนเองได้มากยิ่งขึ้น "ลดต้นทุน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้"

      และวิถีการผลิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศในชุมชนด้วย จึงได้ส่งเสริมโดยนำนักวิชาการและปราชญ์ชาวนาระดับชาติ มาร่วมให้ความรู้ในโครงการนี้ เพื่อสร้างองค์ความรู้การทำนาอินทรีย์ สร้างชาวนาต้นแบบในชุมชน ขยายผลเป็นทางเลือกให้กับชุมชนได้นำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพแบบยั่งยืนต่อไป เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน เป็นเจตนารมณ์ที่เราคาดหวัง และมุ่งมั่นในการส่งเสริมมาตลอดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3.

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!