WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

5palug

5 เครือข่ายผนึกกำลังครั้งสำคัญ ผลักดันเกษตรกรไทย เปลี่ยนวิธีคิด พลิกชีวิตด้วยปัญญา เน้นพึ่งพาตนเอง สร้างสังคมสุขยั่งยืน

    มูลนิธิมั่นพัฒนา กองทัพบก เอสซีจี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหอการค้าไทย ร่วมกันจัดโครงการพลังปัญญา ส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรไทยและผู้นำชุมชนด้วยการสร้างปัญญา เปลี่ยนวิธีคิด มีเหตุมีผล มีคุณธรรม นำไปสู่การสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง พร้อมแบ่งปันสู่ชุมชนเครือข่ายอื่นๆ เพื่อสร้างสังคมความสุขยั่งยืน

   'โครงการพลังปัญญา'จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและผู้นำชุมชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีคุณสมบัติเป็นทั้งคนเก่งและดี ซื่อสัตย์สุจริต มีภาวะผู้นำ มีจิตอาสาพร้อมแบ่งปัน โดยจัดอบรมหลักสูตร'ผู้นำทางปัญญาเพื่อความสุขยั่งยืน'เพื่อให้เกิดการสร้างปัญญาผ่านการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด คิดนอกกรอบ มีเหตุและผล นำไปสู่การปรับเปลี่ยนและพัฒนาการประกอบอาชีพให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ ลดหนี้สินและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

   ดร.เสนาะ อูนากูล ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวถึงการดำเนินโครงการพลังปัญญาว่าเอสซีจีได้ดำเนินกิจกรรมสังคมเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านโครงการ'นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม'ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา การฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ผลดี มีรายได้เพิ่มและที่สำคัญคือ เกษตรกรเปลี่ยนวิธีคิด ดำเนินชีวิตด้วยหลักเหตุและผล และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาดินเค็มที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนความคิดให้ชุมชนสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง จึงเกิดเป็นโครงการพลังปัญญาขึ้นโดยมีภาคีเครือข่ายมาร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นเพื่อขยายแนวคิดนี้ออกไปในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยพัฒนาผู้นำชุมชนด้วยกระบวนการสร้างปัญญา นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง และสร้างสังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

    ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานมูลนิธิมั่นพัฒนา เปิดเผยว่าการพัฒนาศักยภาพของคนให้เกิดความพร้อมที่จะยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยการเปลี่ยนความคิดให้ทันสมัย คิดนอกกรอบ สอดคล้องหลักเหตุผล หลักการทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปแก้ไขปัญหาของตนเองได้ตรงกับปัญหาที่แท้จริงเพื่อให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนของชีวิต ตามแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นความสมดุล ครอบคลุมในทุกมิติอย่างเป็นองค์รวม ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พัฒนาอย่างบูรณาการ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

   พล.อ.ปรีชา จันร์โอชา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า กองทัพบกรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังปัญญา เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการบริหารจัดการทางปัญญา นำวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผลไปใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนอย่างเหมาะสม เป็นระบบ ช่วยลดช่องว่างเรื่องรายได้ของคนในชุมชน สร้างค่านิยมเรื่องการพึ่งพาตนเอง มีวินัย รู้จักพึ่งพาตนเองโดยไม่หวังพึ่งรัฐแต่เพียงอย่างเดียว และเมื่อชุมชนมีความสุข มีความสมดุลในชีวิต จะลดความขัดแย้งทางความคิดที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ อีกทั้งชุมชนที่มีศักยภาพยังสามารถช่วยปกป้องคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาติ ให้พ้นจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศได้ด้วย

  คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย กล่าวเสริมว่าโครงการพลังปัญญา จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยต่อยอดให้กับโครงการลดความเหลื่อมล้ำที่หอการค้าไทยได้ดำเนินการอยู่คือ โครงการ 1 ไร่ 1 แสน และโครงการ 1 บริษัท 1 ชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นที่เกษตรกรและชุมชนให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและปฏิรูปอาชีพเกษตรกรรม ช่วยยกระดับการทำการเกษตร สร้างรายได้ เพื่อให้เกษตรกรและชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มั่นคง มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ และมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกรรม การส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรให้เปลี่ยนวิธีคิด สร้างสมดุลชีวิต จนเกิดความพอเพียงและยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวไทย

    ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวถึงการสร้างสังคมแห่งปัญญาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าสวทช. ให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาถ่ายทอดวิธีการคิดอย่างมีเหตุมีผลเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ มีแนวทางการบริหารจัดการและพึ่งพาตนเองจากทรัพยากรในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การคิดนวัตกรรม เพื่อสร้างช่องทางการพัฒนาการเกษตร การแปรรูป และการตลาดที่มีมูลค่าสูง รวมถึงการขยายช่องทางการจำหน่าย  การทำตลาด โดยมีระบบการบริหารจัดการที่ดีซึ่งจะช่วยสร้างรายได้

   โครงการพลังปัญญาเริ่มจัดอบรมเกษตรกรและผู้นำชุมชนตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้จัดอบรมเกษตรกรและผู้นำชุมชนต้นแบบในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้วกว่า 200 คน โดยสร้างความเข้าใจเรื่องการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด (Mindset) ตั้งเป้าหมายให้ผู้นำชุมชนต้นแบบสามารถประกอบอาชีพได้อย่างสมดุลและอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนรอบข้าง 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!