WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

สศก.คาดข้าวนาปี 57/58 ผลผลิตเพิ่มเล็กน้อย ด้านเนื้อที่เพาะปลูก-ราคาลดลง

    นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ข้าวนาปี ซึ่ง สศก.ได้ประมาณการผลผลิตข้าวนาปี (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2557) ปีเพาะปลูก 2557/58 โดยภาพรวมผลผลิตมีปริมาณ 27.1 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 0.06 จากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และไม่ประสบภัยหนาวอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เมล็ดลีบและอุทกภัยเหมือนเช่นในช่วงปลายปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงตั้งท้องถึงเก็บเกี่ยว โดยผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้วประมาณร้อยละ 94 คิดเป็นปริมาณ 25.5 ล้านตันข้าวเปลือก

  ส่วนเนื้อที่เพาะปลูกนั้น พบว่า ลดลงทุกภาค เนื่องจากการปรับเปลี่ยนนโยบายภาครัฐ และราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน และเกษตรกรในภาคใต้เปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งนี้ ในภาพรวมเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกมากในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2557 เนื่องจากปีนี้ฝนมาล่าช้า

  ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวถึงด้านการตลาดข้าวนาปีว่า เดือนพฤศจิกายน และธันวาคมปี 2557 ซึ่งเป็นเดือนที่ผลผลิตออกมาก พบว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน 15% ที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ยตันละ 7,878 และ 7,862 บาท โดยราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงกันยายนถึงตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งราคาอยู่ที่ตันละ 8,000 บาท และลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ตันละ 8,130 บาท เนื่องจากสต๊อกข้าวของรัฐมีจำนวนมาก และมีผลผลิตออกมาต่อเนื่อง

  สำหรับ ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิความชื้นไม่เกิน 15% ที่เกษตรกรขายได้ พบว่า ลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนตุลาคม 2557 ที่ตันละ 14,179 บาท เหลือเพียงตันละ 11,649 บาทในเดือนธันวาคม 2557 อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวมีโอกาสปรับตัวลดลงอีก หากความต้องการข้าวลดลง

   ขณะที่ในปี 2558 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าการส่งออกข้าวของไทยจะได้ปริมาณใกล้เคียงกับปี 2557 หรือสูงถึง 10.7 ล้านตัน

  ทั้งนี้ เกษตรกรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางพื้นที่มีการปรับตัวโดยปลูกข้าว Rice Berry แทนข้าวหอมมะลิ เพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นข้าวที่มีความต้องการของตลาดมาก และขายได้ราคาดี ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับราคาข้าวในปัจจุบันยังคงต่ำกว่าต้นทุน และอาจทรงตัวอยู่ในระดับนี้ในปี 2558 จึงขอให้เกษตรกรพยายามลดต้นทุนการผลิตและผลิตข้าวที่มีคุณภาพ โดยเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ดี ใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ปลูกข้าวในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง หรือเลือกปลูกพันธุ์ข้าวที่ขายได้ราคาดี มีความต้องการของตลาดสูง จะทำให้เกษตรกรไม่ต้องประสบภาวะขาดทุนหรือขายข้าวได้ราคาต่ำ

                        อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!