WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

สศก. ศึกษาสินค้าประมงในเมียนม่าร์ เผย เข้าสู่เออีซี ช่วยขยายลู่ทางลงทุนของไทยในเพื่อนบ้านได้

     สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลการศึกษาศักยภาพสินค้าเกษตรเพื่อรองรับการเข้าสู่เออีซี ของสินค้าประมงในเมียนม่าร์ ระบุ แม้เมียนม่าร์จะมีทรัพยากรประมงที่อุดมสมบูรณ์สูง แต่การเพาะเลี้ยงยังไม่พัฒนามากนัก ทั้งด้านบุคลากรและเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเลี้ยง โดยยังคงเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญของไทย มั่นใจ การรวมเข้าเออีซีนับเป็นโอกาสดี ช่วยให้ไทยนำเข้าสินค้าประมงในราคาที่ถูกลง และขยายการลงทุนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเพื่อนบ้านได้

     นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาศักยภาพสินค้าเกษตรเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรณีศึกษาสินค้าประมงในเมียนม่าร์ พบว่า ปัจจุบันเมียนมาร์ถือเป็นแหล่งวัตถุดิบประมงทะเลที่สำคัญของไทย มีทรัพยากรประมงที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงมีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่การเพาะเลี้ยงยังไม่แพร่หลายและพัฒนามากนัก เนื่องจากยังมีทรัพยากรประมงจากธรรมชาติจำนวนมาก รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร และขาดบุคลากรรวมทั้งเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยง ซึ่งแหล่งทำประมงทะเลสำคัญอยู่ที่เมืองมะริด โดยในปี 2554 มีผลผลิตภาคประมงรวม 4.5 ล้านตัน ใช้บริโภคภายในประเทศร้อยละ 90 ส่งออกร้อยละ 10  หรือประมาณ 4 แสนตัน ด้านตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ไทย ฮ่องกง ออสเตรเลีย โดยการส่งออกมาไทยผ่านขึ้นท่าที่จังหวัดระนอง และส่งต่อมายังตลาดกลางค้าสัตว์น้ำที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร

     จากการวิเคราะห์ศักยภาพการส่งออกสินค้าประมงในตลาดโลกและอาเซียน พบว่า ไทยและเมียนม่าร์ไม่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบจากการส่งออกสินค้าประมงไปยังตลาดโลกและอาเซียน เนื่องจากการส่งออกในตลาดโลกทั้งสองประเทศตำแหน่งทางการตลาดอยู่ในตำแหน่งสินค้าตกต่ำ (Dog)และสำหรับตลาดอาเซียน ไทยอยู่ในตำแหน่งสินค้ามีปัญหาปัญหา (Question Marks) ส่วนเมียนม่าร์อยู่ในตำแหน่งสินค้าตกต่ำ (Dog) โดยเมียนม่าร์ส่งออกในรูปวัตถุดิบจึงมีมูลค่าเพิ่มน้อย ส่วนไทยแม้มีการแปรรูปเพื่อส่งออกมากขึ้นแต่ขาดแคลนวัตถุดิบ

    ทั้งนี้ ไทยไม่มีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบจากการส่งออกสินค้าประมง ทั้งในตลาดโลกและตลาดอาเซียน เนื่องจากผลผลิตของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งการรวมเป็นประชาคมอาเซียนเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ไทยนำเข้าสินค้าประมงจากเพื่อนบ้านในราคาที่ถูกลง และเป็นลู่ทางขยายการลงทุนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเพื่อนบ้านในอนาคต เลขาธิการ สศก. กล่าว

                สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!