WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

TUK-TUK

ม.เกษตรนำเครื่องสีข้าว 4 รูปแบบ...ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โชว์ในงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์

    การพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี บนฐานความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน รอบคอบ และมีคุณธรรม ประกอบการวางแผนในการตัดสินใจและการกระทำ โดยในหลักการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ สามารถนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีฐานเกษตรกรรมเป็นสำคัญ การพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นการสร้างความมั่นคงให้ระบบเศรษฐกิจการเกษตรได้ในระดับหนึ่ง

    'ข้าว'เป็นอาหารหลักของประเทศไทย และถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย ประเทศไทยมีจำนวนชาวนาประมาณ 3.8 ล้านครัวเรือน จากจำนวนเกษตรกรทั้งประเทศ 5.9 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 64 ของครัวเรือนเกษตรกร มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวรวมประมาณ 73 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 51 ของพื้นที่ถือครองทำการเกษตรทั้งหมดของประเทศไทย ซึ่งได้ผลผลิตปีละประมาณ 35 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งในจำนวนนี้จะถูกแปรรูปเป็นข้าวสาร โดยโรงสีข้าวหรือเครื่องสีข้าว เพื่อส่งออกนำเงินตราเข้าประเทศอีกปีละหลายหมื่นล้านบาท และที่สำคัญคือการบริโภคภายในประเทศ ประมาณ 11 ล้านตันข้าวสาร จึงนับได้ว่า ข้าวเป็นพืชที่สร้างความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทั้งทางด้านอาหาร ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

    เครื่องสีข้าว เป็นเครื่องจักรกลเกษตรประเภทหนึ่งใช้สำหรับการแปรรูปข้าวเปลือกเพื่อการบริโภคจัดเป็นเครื่องจักกลเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว เป็นเครื่องจักรกลเกษตรที่มีมูลค่าของการส่งออกเครื่องจักรกลเกษตรคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของมูลค่าทั้งหมดของการส่งออกเครื่องจักรกลเกษตรของประเทศจัดอยู่ในระดับต้นๆ ที่สำคัญของการส่งออกเครื่องจักรกลเกษตร ซึ่งในภาพรวมแล้วประเทศไทยยังต้องการการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรอีกมาก เพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างครบวงจรของการผลิตการเกษตรและลดภาวะของการขาดดุลการค้าเครื่องจักรกลเกษตร ในปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรโดยทั่วไปจะเป็นงานวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) และมีเป้าประสงค์ให้ได้มาซึ่งเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสม (Appropriate Machinery) ต่อสภาพพื้นที่และการผลิตของเกษตรกรไทย เป็นเครื่องจักรกลเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีศักยภาพผลิตเชิงพาณิชย์ได้

   โครงการวิจัยพัฒนาเครื่องสีข้าว ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้ทำการคิดค้นประดิฐเครื่องสีข้าวชุมชน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ซึ่งเครื่องสีข้าวดังกล่าวเป็นเครื่องสีข้าวจากผลการศึกษาวิจัยของทีมงานในโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยได้รับทุนแรกเริ่มจาก สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เป็นเครื่องสีข้าวที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พิจารณาเลือกให้เป็นเครื่องจักรกลเกษตรในโครงการเกษตรศาสตร์ เทิดพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชา โดยผลิตเครื่องสีข้าวชุมชนจำนวน 120 เครื่อง จากการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการของมูลนิธิสวิตา (โดยความเห็นชอบจาก ดร.กนิษฐา กาญจนจารี กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะ เหรัญญิก และ ประธานกองทุนการศึกษาเสริม มูลนิธิสวิตา) เพื่อมอบให้กับมูลนิธิพระดาบสและชุมชนเกษตรกรนำไปใช้สีข้าวเปลือกให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และกำหนดชื่อรุ่นของเครื่องสีข้าวนี้ว่า เครื่องสีข้าวชุมชน 120”

    เครื่องสีข้าวชุมชน 120 เป็นเครื่องสีข้าวขนาดเล็กสำหรับชุมชน โดยทีมงานนักวิจัยร่วมกันพัฒนาขึ้นจากการจำลองขั้นตอนการทำงานของโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ให้มีขนาดกะทัดรัด สะดวกในการเคลื่อนย้ายและติดตั้ง ผู้ใช้สามารถเรียนรู้และปรับแต่งการทำงานให้ได้เหมาะสมกับข้าวเปลือก ซึ่งสามารถผลิตได้ทั้งข้าวกล้อง และข้าวซ้อมมือ การออกแบบพัฒนาของทีมงานยึดอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ มีเหตุมีผลและบนฐานความรู้เชิงวิศวกรรม มุ่งใช้วัสดุในประเทศไทยเป็นหลัก เป็นเครื่องสีข้าวที่มีขนาดต้นกำลังและความสามารถทำงานของเครื่องที่เหมาะสม เกษตรกรใช้งานได้ทันที จึงพึ่งพาตนเองได้ทั้งในแง่ของการใช้งานและการดูแลรักษา สนับสนุนการผลิตข้าวของเกษตรกรอย่างครบวงจร ลดการปลอมปนของการแปรรูปข้าวเปลือกต่างสายพันธุ์ สีข้าวตามปริมาณทีต้องการ ตอบสนองพันธุ์ข้าวไทยและรองรับการทำงานของเกษตรกรสูงวัย

เครื่องสีข้าวชุมชน 120

เครื่องสีข้าวชุมชน 120 มีคุณสมบัติประจำเครื่อง ดังนี้

1) ขนาด 80 x 120 x190 มม. น้ำหนักรวม 350 กิโลกรัม

2) ขนาดมอเตอร์ไฟฟ้า 2.2 กิโลวัตต์ 220 โวลต์ 15 แอมแปร์

3) ความสามารถทำงาน 100 กิโลกรัมข้าวเปลือกต่อชั่วโมง

4) ประสิทธิภาพการกะเทาะ 80 เปอร์เซ็นต์

5) ปริมาณข้าวรวม  60 - 65  เปอร์เซ็นต์

  ชุดประกอบการทำงานของเครื่อง คือ

1) ชุดตะแกรงโยกทำความสะอาดข้าวเปลือก

2) ชุดคัดแยก ต้นข้าว ข้าวท่อน และปลายข้าว

3) กรวยแยกแกลบสามารถปรับเลื่อนตำแหน่งได้

    เครื่องสีข้าวชุมชน 120 รุ่นปัจจุบัน เป็นรุ่นหรือเครื่องที่พัฒนาต่อยอดจากเครื่องสีข้าวชุมชนที่ผลิตในโครงการเกษตรศาสตร์เทิดพระเกียรติ 84 พรรษามหาราชา จุดที่มีการพัฒนาต่อยอดคือ การพัฒนาออกแบบชุดคัดแยกข้าวเปลือกออกจากข้าวกล้อง หลังจากการผ่านขั้นตอนการกะเทาะแกลบให้ติดตั้งพร้อมทำงานอยู่ในโครงสร้างเดียวกันกับชุดกะเทาะแกลบ ชุดขัดข้าวและชุดการทำความสะอาดข้าวเปลือก จากการพัฒนาชุดทำงานดังกล่าว เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องสีข้าวชุมชน120 กล่าวคือ เครื่องสีทำงานได้เร็วขึ้น มีปริมาณเมล็ดข้าวแตกหักลดน้อยลง และในกระบวนการผลิตข้าวกล้องจะได้ข้าวกล้องพร้อมบริโภคในทันที

    การพัฒนาเครื่องสีข้าวชุมชนนี้ นอกเหนือจากการทำงานของทีมงานในโครงการฯ ร่วมกันแล้ว ยังได้พิจารณานำข้อเสนอแนะจากเกษตรกร นักวิชาการและผู้สนใจทั่วไป มาประกอบดำเนินการพัฒนาต่อยอด เพื่อมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการสีข้าว ให้ตอบสนองต่อผู้ใช้ภายในประเทศ ตลอดจนเพื่อสนองตอบต่อเป้าหมายการส่งออกสู่กลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคตต่อไป ซึ่งในปัจจุบันทางโครงการฯ พัฒนาเครื่องสีข้าวแบบครัวเรือนและแบบพร้อมพา เพื่อรองรับการใช้งานในระดับครัวเรือนขนาด 3 - 4 คน และตอบสนองความต้องการในระดับบุคคลโดยเครื่องสีข้าวแบบครัวเรือนสามารถทำงานได้ครั้งละ 1 กิโลกรัมข้าวเปลือก และประมาณ 400 กรัมข้าวเปลือกสำหรับเครื่องสีข้าวแบบพร้อมพา ซึ่งลักษณะการใช้ประโยชน์ของเครื่องแบบครอบครัวและแบบพร้อมพานี้ เน้นการใช้ชีวิตตามวิถีแห่งเศรษฐกิจพอเพียงกล่าวคือ สีข้าวเมื่อต้องการที่จะบริโภค เพื่อให้ได้ความสดใหม่ของข้าวและมีปริมาณที่พอเหมาะกับการบริโภค

   จากผลงานวิจัยเครื่องสีข้าวทั้งสามเครื่องที่กล่าวมาเป็นผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรมทั้งในแง่ของตัวเครื่องและการเพาะปลูกข้าว เพื่อการบริโภคที่ทุกคนสามารจะผลิตข้าวบริโภคได้ด้วยตนเองอย่างครบวงจร โดยในภาพรวมแล้วผลงานวิจัยสามารถสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร ได้อย่างยั่งยืน

  สำหรับในงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 2557 จะจัดแสดงทั้งเครื่องสีข้าวระดับชุมชน เครื่องสีข้าว ตุ๊ก ตุ๊ก เครื่องสีข้าวแบบครัวเรือน และเครื่องสีข้าวแบบพร้อมพา ตั้งแต่วันที่ 20 -29 มิถุนายน 2557 ณ บริเวณหลังหอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน  และหลังจากนี้ท่านใดที่สนใจเครื่องสีข้าวแบบต่าง ๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่  รศ.ดร.ศักดา อินทรวิชัย ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ ภายใน 1307-8 ภายนอก 0 2 561 3482 e-mail : agrsdi@ku.ac.th

                                                                                ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!