WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

กรมหม่อนไหม เปิด ศูนย์เรียนรู้เชิงอนุรักษ์ด้านหม่อนไหม จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งเป้าเปิดครบ 10 แห่ง ภายในปี 2557

    นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหมได้จัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้เชิงอนุรักษ์ด้านหม่อนไหม ไม้ย้อมสี และผ้าไหมขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านหม่อนไหม และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านหม่อนไหมครบวงจร เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความรู้ความเข้าใจด้านหม่อนไหมและองค์ความรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับหม่อนไหมให้แก่ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ให้มีความรู้และตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับหม่อนไหมมากขึ้น สามารถอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านหม่อนไหมและเกษตรกรสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพด้านหม่อนไหม โดยมีเป้าหมายจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เชิงอนุรักษ์ด้านหม่อนไหม ไม้ย้อมสี และผ้าไหม จำนวน 10 แห่งในพื้นที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แก่ ศมม. สระบุรี ศมม.ตาก ศมม. สกลนคร ศมม.นครราชสีมา ศมม.สุรินทร์ ศมม.ขอนแก่น ศมม.หนองคาย ศมม.ชัยภูมิ ศมม.ศรีสะเกษ และ ศมม.ชุมพร โดยได้มีการเปิดศูนย์เรียนรู้เชิงอนุรักษ์ด้านหม่อนไหม ไม้ย้อมสี และผ้าไหมไปแล้วในบางพื้นที่ เช่น ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ หนองคาย

   รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวต่อไปว่า สำหรับศูนย์เรียนรู้เชิงอนุรักษ์ด้านหม่อนไหมไม้ย้อมสี และผ้าไหม ในศมม. ศรีสะเกษ ประกอบไปด้วย 8 ฐานเรียนรู้ ดังนี้

   1.ฐานเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไหม จะเป็นการสาธิตกระบวนการเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน ตั้งแต่การแรกฟักไข่ไหม การเลี้ยงไหม ตั้งแต่วัย 1- วัย 5 สาธิตการหั่นใบหม่อน การถ่ายมูลไหม การใช้สารลดความชื้น แสดงการสุกของตัวหนอนไหม ไหมเข้าจ่อ ไหมทำรัง และการดูแลรักษาความสะอาดโรงเลี้ยงไหม แสดงตัวอย่างชนิดรังไหมอนุรักษ์ โดยจัดแสดงตัวอย่างรังไหมอนุรักษ์พันธุ์ต่างๆ ในขวดแก้ว พร้อมข้อมูลประกอบ จำนวนพันธุ์ไหมที่ดำเนินการ และพันธุ์ไหมที่มีศักยภาพสามารถนำมาผลิตเป็นพันธุ์บริการได้ต่อไป

   2.ฐานเรียนรู้เรื่องการสาวไหม มีการสาธิตการสาวไหมแบบพื้นบ้าน โดยใช้พวงสาวพื้นบ้านสาวไหมลงกระบุง สาธิตการสาวไหมด้วยเครื่องสาวไหมแบบมีมอเตอร์ (เครื่องสาวไหม UB2) เครื่องสาวไหมกำพล ชนิด 2 หัวสาว แสดงตัวอย่างเส้นไหมที่สาวได้อย่างมีคุณภาพไหม 1,2,3

  3.ฐานเรียนรู้เรื่องการทอผ้า มีการสาธิตการทอผ้าไหมลายลูกแก้วด้วยกี่ทอผ้าไหมแบบกี่กระทบที่มีขนาดฟืม 40 หลบ และกี่กระทบขนาดเล็กมีขนาดฟืม 15 หลบ

  4. ฐานเรียนรู้เรื่องหม่อน มีการสาธิตระบบการตัดแต่งหม่อน ตัดต่ำ ตัดกลาง ตัดแขนง โดยสาธิตกับหม่อนที่เตรียมการปลูกในกระถาง และสาธิตการตัดกลางกับหม่อนที่ปลูกในแปลงแสดงแปลงปลูกหม่อนผลสด และวิธีการบังคับการออกผลของหม่อนผลสดสาธิตการขยายพันธุ์หม่อนโดยวิธีการปักชำ เสียบข้าง ติดตา และการปักชำในถุงพลาสติกระบบสุญญากาศ  แสดงตัวอย่างพันธุ์หม่อนที่เป็นพันธุ์รับรอง เช่น บุรีรัมย์ 60 นครราชสีมา 60 หม่อนพันธุ์สกลนคร และหม่อนพันธุ์แนะนำ พันธุ์ SRCM-1905-46 

   5. ฐานเรียนรู้เรื่องการฟอกย้อมเส้นไหมด้วยวัสดุธรรมชาติ แสดงองค์ความรู้เรื่องกระบวนการฟอกย้อมสีเส้นไหมด้วยวัสดุธรรมชาติ ชนิดพืชที่ให้สีแต่ละชนิด ตัวอย่างของจริงของวัสดุธรรมชาติ และสาธิตการฟอกย้อมสีเส้นไหมด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น การย้อมเข ประโหด เป็นต้น

   6. ฐานเรียนรู้เรื่องพันธุ์ไม้ย้อมสี มีแปลงเรียนรู้พันธุ์ไม้ย้อมสี ชนิดพันธุ์ไม้ จำนวน 117 ชนิด โดยจัดทำเป็นแปลงปลูกไม้ย้อมสี พื้นที่ 2 ไร่ วิธีการขยายพันธุ์ไม้ย้อมสี และการให้บริการกล้าพันธุ์ไม้ย้อมสี แสดงองค์ความรู้พันธุ์ไม้ย้อมสีที่เป็นที่นิยม ตัวอย่างเส้นไหมที่ย้อมจากพันธุ์ไม้ย้อมสี 

    7. ฐานเรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ จัดแสดงการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากรังไหม เช่น ดอกไม้จาก รังไหม การประดิษฐ์ดอกไม้ในรูปแบบแจกัน การทำเข็มกลัดดอกไม้ติดอกเสื้อ ดอกไม้จากรังไหมชนิดต่างๆ สาธิตวิธีการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากรังไหม จัดแสดงผลิตภัณฑ์จากชาหม่อน สาธิตการทำชาหม่อนแบบครัวเรือน จัดแสดงองค์ความรู้วิธีการประดิษฐ์ดอกไม้จากรังไหม/ชาหม่อน

   8. ฐานเรียนรู้ตรานกยูงพระราชทาน จัดแสดงตัวอย่างผ้าไหมที่ผลิตจากนกยูงพระราชทานทั้ง 4 ชนิด สาธิตวิธีการติดดวงตรานกยูงพระราชทาน และการตรวจตกสี จัดแสดงองค์ความรู้กระบวนการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน

   ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เชิงอนุรักษ์ด้านหม่อนไหม ไม้ย้อมสี และผ้าไหม ณ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ศรีสะเกษ ตั้งอยู่ที่ บ้านนิคมห้วยคล้า เลขที่ 53 หมู่ที่ 7 ตำบลหมากเขียบ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!