WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ก.เกษตรฯ เกาะติดความก้าวหน้าโครงการศูนย์เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง สศข.2 เผย สุดเจ๋ง ช่วยเกษตรกรได้เยี่ยม

    ก.เกษตรฯ ติดตามความก้าวหน้าของโครงการศูนย์ต้นแบบการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง จ.พิษณุโลก เผย ให้ผลดีเกินคาด ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเมล็ดพันธุ์ ลดต้นทุน พร้อมบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ได้ดีเยี่ยม ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช พิษณุโลก โทร.0-5531-1368

   นายคนิตลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการและรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยในฐานะฝ่ายเลขานุการกองทุนเพื่อพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง ถึงการติดตามความก้าวหน้าของโครงการศูนย์ต้นแบบการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า สืบเนื่องมาจากความต้องการใช้ถั่วเหลืองในประเทศไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมการสกัดน้ำมันพืช และใช้เพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารรวมทั้งเป็นวัตถุดิบในการผสมอาหารสัตว์ ในขณะเดียวกันการผลิตถั่วเหลืองของประเทศไทย กลับมีปริมาณลดลงตามลำดับ โดยเป็นพืชอายุสั้นสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 75-110 วัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก และเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย รวมทั้งสามารถใช้ปลูกหลังนาเพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชได้อีกด้วย

  ที่ผ่านมาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองมีเพียง 5% ของความต้องการของเกษตรกร ทำให้ปัญหาการจัดการระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองของไทยกลายเป็นปัญหาหลักของการผลิตซึ่งควรต้องได้รับการแก้ไข และเมื่อพิจารณาความต้องการใช้ถั่วเหลืองเฉพาะการใช้ในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมัน จะเห็นได้ว่าปริมาณการใช้ถั่วเหลืองภายในประเทศลดลง และจำเป็นต้องนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการกองทุนเพื่อพัฒนาการผลิตถั่วเหลืองซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานคณะกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบการดำเนินงานโครงการศูนย์ต้นแบบการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชที่มีปัญหาและเมล็ดพันธุ์พืชที่ไม่เพียงพอเพื่อเป็นต้นแบบนำร่องการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ดีที่ได้มาตรฐานไปสู่เกษตรกร โดยกองทุนฯได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการปรับปรุงห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ และยานพาหนะในการขนส่งเมล็ดพันธุ์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 -2555 รวมงบประมาณ 12 ล้านบาท เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองทั้ง 4 ชั้นพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ พันธุ์คัด พันธุ์หลัก พันธุ์ขยาย และพันธุ์จำหน่าย

  ด้านนายชวพฤฒอินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 2 พิษณุโลก (สศข.2) กล่าวเสริมว่า จากติดตามความก้าวหน้าโครงการศูนย์ต้นแบบการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก พบว่า ได้ผลเกินคาด เนื่องจากจะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเมล็ดพันธุ์ดีแล้ว ยังช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองได้ด้วย โดยการสร้างเครือข่ายเกษตรกรและให้ข้อมูลทางวิชาการแก่กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่ายนำไปปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคอื่นๆ ครอบคลุมพื้นที่การปลูกถั่วเหลืองใน 22 จังหวัด ซึ่งจากปี 2553 ที่เคยผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เพียง 5% ของความต้องการของเกษตรกร สามารถขยายเมล็ดพันธุ์เพิ่มได้ถึง 21 % ประสิทธิภาพการผลิตต่อไร่สูงเฉลี่ยมากกว่า 350 กิโลกรัม/ไร่ นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตยังลดลง

   ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อผลิตเมล็ดถั่วเหลืองที่มีคุณภาพให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงเฉลี่ยมากกว่า 350 กิโลกรัม/ไร่ รวมถึงต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ ไปยังเกษตรกรในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคอื่นๆ ให้ได้เข้าถึงเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะการปลูกในระยะหลังนาที่จะช่วยเพิ่มไนโตรเจนและปุ๋ยให้แก่ข้าว รวมถึงสามารถปลูกในระยะพักนาเพื่อตัดวงจรการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน ซึ่งนอกจากการแก้ไขปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองแล้ว ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช ยังผลิตเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ทั้งพืชไร่และพืชสวน ที่ได้จดทะเบียนเพื่อตรวจสอบคุณภาพให้กับผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์พืช และเปิดให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน รวมถึงได้รับทราบกิจกรรมของศูนย์ต้นแบบฯ ให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้อีกด้วย ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช พิษณุโลก โทร.0-5531-1368

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!