WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MOC1พาณิชย์ เผยส่งออก ก.ค.58 ติดลบ 3.56% ส่วนนำเข้าติดลบ 12.73%

     กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยตัวเลขการส่งออกของไทย ในเดือน ก.ค. 58 ว่า มีมูลค่าการส่งออก 1.82 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 3.56% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน  ส่วนการนำเข้าในเดือน ก.ค.58 มีมูลค่า 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลง 12.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ไทยเกินดุลการค้าประมาณ 770 ล้านดอลลาร์          

    สำหรับ การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ หดตัวลง 4.66% จากช่วง เดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า ลดลง 8.64% ส่งผลให้มียอดเกินดุลการค้า 7 เดือนที่  4.24 พันล้านดอลลาร์    

    อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกของไทยปีนี้เป็นติดลบ 3% หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออก 220,698 ดอลลาร์สหรัฐ จากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.2% ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาท 35 บาทต่อดอลลาร์ ราคาน้ำมันอยู่ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาเรล ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ 

     โดยรายละเอียดตามเอกสารจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ามูลค่าการส่งออกของไทยเดือนกรกฎาคม ลดลงในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากการส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบกลับมาฟื้นตัว ในขณะที่สินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมันยังคงมีมูลค่าส่งออกต่ำตามราคาน้ำมัน สินค้าเกษตรมีมูลค่าส่งออกต่ำตามราคาในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ข้อมูลการนำเข้าของตลาดล่าสุดแสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดสำคัญไว้ได้

                ก.ค. 58                    ม.ค. –ก.ค. 58

มูลค่า        Growth (%YoY)         มูลค่า        Growth (%AoA)        

(ล้านเหรียญฯ)                             (ล้านเหรียญฯ)                            

มูลค่าการค้า               35,675     -8.27        245,913   -6.66

ส่งออก      18,223     -3.56        125,078   -4.66

นำเข้า        17,452     -12.73      120,835   -8.64

ดุลการค้า   770                          4,243      

       การค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินบาท การส่งออกเดือนกรกฎาคม 2558 มีมูลค่า 609,132 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.09 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และระยะ 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค. 58) มีมูลค่า 4,085,993 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) ในขณะที่การนำเข้าเดือนกรกฎาคม 2558 มีมูลค่า 590,211 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -9.43 (YoY) และระยะ 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค. 58) มีมูลค่า 3,995,190 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -7.37 (AoA) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนกรกฎาคม 2558 เกินดุล 18,922 ล้านบาท และระยะ 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค. 58) เกินดุล 90,803 ล้านบาท

   มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเดือนกรกฎาคม 2558 มีมูลค่า 18,223 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -3.56 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) และระยะ 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค. 58) มีมูลค่า 125,078 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -4.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (AoA) ในขณะที่การนำเข้าเดือนกรกฎาคม 2558 มีมูลค่า 17,452 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -12.73 (YoY) และระยะ 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค. 58) มีมูลค่า 120,835 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -8.64 (AoA) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนกรกฎาคม 2558 เกินดุล 770 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ระยะ 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค. 58) เกินดุล 4,243 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

   มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมเดือนกรกฎาคม 2558 ลดลงร้อยละ -5.1 (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง  แม้ว่าสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญจะมีปริมาณส่งออกสูงขึ้นก็ตาม  โดยเฉพาะยางพาราซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับหนึ่งของไทย เดือนนี้มูลค่าส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 18.5 (YoY) แต่ราคายางพารายังคงอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับ น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 14.1 13.3 และ 9.7 (YoY) ตามลำดับในขณะที่ ข้าว อาหารทะเลแช่งแข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป มูลค่าการส่งออกหดตัวลง

   มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยภาพรวมเดือนกรกฎาคม 2558 ลดลงร้อยละ -2.6 (YoY)  ผลจากสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยคือรถยนต์และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.8 (YoY) จากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์นั่ง ขยายตัวร้อยละ 77.5 (YoY) ส่วนรถกระบะยังคงหดตัวร้อยละ -33.7 (YoY) จากผลของการเปลี่ยนรุ่น ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมยังคงหดตัว เนื่องจากมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ลดลงจากปีก่อนหน้ามากตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำไปจนถึงสิ้นปี อย่างไรก็ดี ปริมาณการส่งออกน้ำมันยังคงขยายตัว

  สูงถึงร้อยละ 44.0 (YoY) ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอย่างทองคำ กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 21.2 (YoY) เนื่องจากราคาทองคำขยับตัวสูงขึ้น ทำให้มีการส่งออกเพื่อทำกำไร

   ทั้งนี้ หากไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าการส่งออกรวมของไทยในเดือนกรกฎาคม 2558 จะหดตัวร้อยละ -2.6 (YoY) ในขณะที่สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมหักสินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมันและทองคำ จะหดตัวที่ร้อยละ -1.8 (YoY)

   ตลาดส่งออก โดยตลาดสหรัฐอเมริกากลับมาฟื้นตัวเป็นบวกอีกครั้ง เช่นเดียวกับกลุ่ม CLMV ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) จีน และอาเซียน หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกากลับมาขยายตัวร้อยละ 1.4 (YoY) หลังจากหดตัวเล็กน้อยเมื่อเดือนที่ผ่านมา จากการขยายตัวของเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สูงขึ้นร้อยละ 6.2 22.6 22.9 และ 76.3 (YoY) ตามลำดับ เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาด CLMV ที่ยังคงมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องสูงถึงร้อยละ 11.6 (YoY) โดยเฉพาะกัมพูชาเวียดนาม และลาว  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดน ขณะที่ตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (15) ลดลงร้อยละ -9.6 และ -1.1 (YoY) ตามลำดับ รวมทั้งการส่งออกไปจีน ยังคงหดตัวต่อเนื่องร้อยละ -1.6 (YoY) จากการลดลงของการส่งออกเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง

 ปัจจัยที่มีผลกระทบให้การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง เป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ดังนี้

   1) ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้การนำเข้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงหดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น (-21.0%)  จีน (-19.2%) ฝรั่งเศส (-18.0%) เกาหลีใต้ (-15.6%) สหราชอาณาจักร (-8.7%) สหรัฐฯ (-3.4%)

   2) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว โดยในเดือนกรกฎาคม 2558 ลดลงถึงร้อยละ -46.8 (YoY) ขณะที่ระยะ 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค. 58) ลดลงร้อยละ -46.0 (AoA) ส่งผลกระทบต่อมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก แต่อย่างไรก็ดี ปริมาณการส่งออกน้ำมันยังคงขยายตัวสูงถึงร้อยละ 44.0 (YoY)

   3) ราคาสินค้าเกษตรโลกปรับตัวลดลงมาก โดยเฉพาะในระยะ 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.ค. 58) ราคาข้าวลดลงร้อยละ -7.6 (AoA) ยางพาราลดลงร้อยละ -19.3 (AoA)  และน้ำตาลลดลงร้อยละ -8.7 (AoA) ส่งผลให้แม้ว่าไทยจะส่งออกในปริมาณไม่ต่ำกว่าเดิม  แต่มูลค่าส่งออกลดลงมาก

   4) การใช้มาตรการลดค่าเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการส่งออก โดยข้อมูลล่าสุดของค่าเงินสกุลต่างๆ ณ เดือนสิงหาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงร้อยละ 14.8 ค่าเงินริงกิตของมาเลเซียลดลงร้อยละ 33.1 ขณะที่ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงร้อยละ 11.1 ซึ่งอ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าสกุลเงินอื่น ทำให้สินค้าไทยแข่งขันยาก มีราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าของคู่ค้าและคู่แข่ง ความต้องการซื้อ     สินค้าไทยลดลง ซึ่งแม้ว่าค่าเงินบาทไทยจะเริ่มอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 35.59 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ก็ยังหนุนมูลค่าการส่งออกได้ไม่มากนัก

   นอกจากนี้ การที่จีนประกาศลดค่าเงินหยวน 3 ครั้งต่อเนื่องระหว่างวันที่ 11-13 สิงหาคม 2558 ส่งผลให้ค่าเงินหยวนล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา อ่อนค่าลงร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอ่อนค่าลงในอัตราที่ต่ำกว่าการอ่อนค่าของเงินบาท ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้คาดว่าการอ่อนค่าเงินหยวนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

           อัตราหดตัวของมูลค่าส่งออกของไทยยังจัดว่าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยสถิติส่งออกล่าสุดถึงเดือนมิถุนายน 2558 เกือบทุกประเทศทั่วโลกมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกติดลบมากกว่าไทย อาทิ ออสเตรเลีย (-21.3%) ฝรั่งเศส (-14.6%)  สิงคโปร์ (-13.1%) ญี่ปุ่น (-8.1%)  เกาหลีใต้ (-5.2%) สหรัฐฯ (-5.2%)

   ไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในประเทศคู่ค้าสำคัญไว้ได้ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (27) จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย และออสเตรเลีย เป็นต้น  และส่วนแบ่งตลาดในปี 2558 ของไทยในประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2557 ดังนี้  

ประเทศ/ %share      2555        2556        2557        2558

ญี่ปุ่น         2.67         2.65         2.68         3.18(ม.ค.-มิ.ย.)

สหรัฐอเมริกา              1.15         1.15         1.16         1.27 (ม.ค.-มิ.ย.)

สหภาพยุโรป (27)       0.94         1              1.09         1.10(ม.ค.-พ.ค.)

จีน            2.12         1.96         1.95         2.26 (ม.ค.-มิ.ย.)

มาเลเซีย    5.88         5.95         5.8           5.98 (ม.ค.-พ.ค.)

สิงคโปร์     2.67         2.49         2.39         2.68 (ม.ค.-มิ.ย.)

ฮ่องกง       1.97         1.82         2.01         2.01 (ม.ค.-มิ.ย.)

เกาหลีใต้    1.03         1.02         1.02         1.13 (ม.ค.-ก.ค.)

ไต้หวัน       1.37         1.39         1.58         1.74 (ม.ค.-มิ.ย.)

อินเดีย       1.11         1.17         1.23         1.46(ม.ค.-พ.ค.)

ออสเตรเลีย 4.21         4.74         4.31         4.89 (ม.ค.-มิ.ย.)

ชิลี            0.97         1.02         1.13         1.19 (ม.ค.-มิ.ย.)

แอฟริกาใต้ 2.64         2.73         2.39         2.45(ม.ค.-มิ.ย.)

รัสเซีย       0.66         0.66         0.78         0.85 (ม.ค.-มิ.ย.)

      การค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดน และการค้าผ่านแดน หดตัวเล็กน้อย มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 8.0 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา) ในระยะ 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค. 58) มีมูลค่า 569,953 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 (AoA) ทำให้ภาพรวมไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 104,150 ล้านบาท ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม ในระยะ 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค. 58) มีมูลค่า 77,802 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -11.3 (AoA) ทำให้ภาพรวมไทยได้ดุลการค้าผ่านแดนรวม 3 ประเทศ เป็นมูลค่า 3,149 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมการค้าชายแดน และการค้าผ่านแดน ในระยะ 7 เดือน (ม.ค. – ก.ค. 58)  มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 647,755 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.1 (AoA)

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!