WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

1HBN23

การเคหะแห่งชาติ จับมือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประสิทธิภาพสูงสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย

     กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ลงนามความร่วมมือในการดำเนินโครงการฉลากประสิทธิภาพสูงสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย ตั้งเป้าพัฒนาให้เกิดบ้านเบอร์ 5 นำร่อง ไม่ต่ำกว่า 115,000 หลัง คาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้กว่า 128 ล้านหน่วยต่อปี หรือปีละ 512 ล้านบาท พร้อมลด CO2 กว่า 67,000 ตันต่อปี

      วันนี้ 2 พฤษภาคม 2560 ณ อาคารศูนย์ประชุมสหประชาชาติ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประสิทธิภาพสูงสำหรับบ้าน ที่อยู่อาศัย ระหว่าง การเคหะแห่งชาติ กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการกิจกรรมสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามความร่วมมือดังกล่าว และได้รับเกียรติจาก ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน และรองผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เป็นสักขีพยาน       

     พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศในปัจจุบัน มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องในแต่ละปี ดังนั้น กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการของทุกภาคส่วน ได้กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศอีกทางหนึ่ง ด้วยการส่งเสริมและผลักดันการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งด้านพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และพัฒนาพลังงานที่สะอาด พร้อมสนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ 

     ทั้งในด้านการออกกฎหมายบริหารจัดการอาคารและโรงงานควบคุม ส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้ไฟฟ้าในทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี จนนำไปสู่แนวทางปฏิบัติให้กับสังคมไทยได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการฉลากประสิทธิภาพสูงสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย ที่ กฟผ. และ กคช. ร่วมกันจัดทำขึ้นนี้ ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะผลักดันให้เกิดการยกระดับการใช้พลังงานในภาคอาคารและที่อยู่อาศัยของประเทศ เพื่อรองรับเป้าหมายการลดการใช้ไฟฟ้าตามกรอบแผนอนุรักษ์พลังงานปี 2558 – 2579 โดยเชื่อมโยงเกณฑ์ประเมินพลังงานกับมาตรฐานประสิทธิภาพอาคารขั้นต่ำ หรือ Building Energy Code

      พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการฯ ว่า ปัจจุบัน ความต้องการใช้พลังงานในประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคที่อยู่อาศัยที่มีการใช้พลังงานหลายรูปแบบ เช่น ระบบแสงสว่าง ระบบปรับอากาศ ตลอดจนการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงการใช้พลังงานในการผลิตวัสดุก่อสร้าง และขั้นตอนการก่อสร้าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย การเคหะแห่งชาติ จึงได้ดำเนินการศึกษาและพัฒนาที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและ

      ภายนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัย มุ่งเน้นให้มีปริมาณที่อยู่อาศัยที่กลุ่มเป้าหมายรับภาระได้อย่างเพียงพอ ประชาชนมีความมั่นคงในการอยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีสภาพแวดล้อมที่ดี ดังนั้น ความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานที่มีประสิทธิภาพของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งมิติของความร่วมมือ ที่ควรให้การสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสอดคล้องกับภาพรวมทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

      ในขณะที่ ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวถึงความร่วมมือว่า กคช. มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ กฟผ. ในการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ซึ่งที่ผ่านมา กคช. ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินงานครั้งนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมให้ที่อยู่อาศัยมีมาตรฐาน มีการออกแบบที่ประหยัดพลังงาน เลือกใช้วัสดุและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงกำหนดวิธีการตรวจประเมิน ให้การรับรองแบบก่อสร้าง และติดฉลากรับรองระดับประสิทธิภาพพลังงานบ้านที่อยู่อาศัยเบอร์ 5 ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ นอกจากนี้ จะดำเนินการศึกษาและพัฒนาเกณฑ์ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ให้ครอบคลุมที่อยู่อาศัยทุกประเภทในโครงการของ กคช.

       นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการกิจกรรมสังคม กฟผ. กล่าวถึงการดำเนินโครงการฯ ว่า กฟผ. ได้ประสานงานขอความร่วมมือจาก กคช. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศ และมีศักยภาพในการส่งเสริมโครงการฯ ให้ร่วมกันจัดทำกรอบความร่วมมือ เพื่อผลักดันให้เกิดการประหยัดพลังงานในอาคารและบ้านที่อยู่อาศัย ด้วยการบูรณาการการออกแบบเลือกใช้วัสดุการก่อสร้างและอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อการประหยัดพลังงาน พร้อมให้คำแนะนำผู้ประกอบการในการพัฒนาปรับปรุงแบบอาคารให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยในการดำเนินงานนำร่องระหว่าง 2 หน่วยงาน ตั้งเป้าให้เกิดบ้านเบอร์ 5 ไม่ต่ำกว่า 115,000 หลัง คาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้กว่า 128 ล้านหน่วยต่อปี หรือปีละ 512 ล้านบาท พร้อมลด CO2 กว่า  67,000 ตันต่อปี 

      โครงการฉลากประสิทธิภาพสูงสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย นับเป็นส่วนหนึ่งที่ตอบสนองการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย ตามพันธกรณีที่นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 หรือ COP21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา โดยประเทศไทย ตั้งเป้าหมายในการลด CO2 ประมาณ 24-73 ล้านตันในปี 2563 และ 110-140 ล้านตันในปี 2573

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!