WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8720 ข่าวสดรายวัน


'ปู'ชู'มาลาลา'นักสู้ สิทธิสตรี 
โพสต์ยินดี-ชี้กล้าหาญ นักกม.หญิงแนะอ่าน หนังสือ-อัตชีวประวัติ 


ฉลองโนเบล - ชาวเมืองมิงโกรา ประเทศปากีสถาน บ้านเกิดน.ส.มาลาลา ยูซัฟไซ ร่วมฉลองความสำเร็จกับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2014 นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของชาวปากีสถานทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 

 

         'ยิ่งลักษณ์'โพสต์เฟซบุ๊ก ร่วมยินดี'มาลาลา'สาวน้อยนักต่อสู้ ผู้คว้า 'โนเบล สันติภาพ'อดีตนายกฯ ไทย ชื่นชมอดทน มุ่งมั่น กล้าหาญ เกือบแลกด้วยชีวิต ยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพของเด็กและผู้หญิง ด้านผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมชี้หนังสือ'I Am Malala'เหมาะสมกับทุกคน ไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่เพื่อการศึกษาเด็กทั่วโลก ทั้งยังเพื่อสิทธิสตรีที่เป็นปัญหาระดับโลก แม้แต่ไทยก็ยังมี โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์
      เมื่อวันที่ 12 ต.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ น.ส.มาลาลา ยูซัฟไซ เด็กสาวชาวปากีสถานอายุเพียงแค่ 17 ปี ผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิการศึกษาของเด็กและ สตรี และนายไกลาศ สัตยาร์ที ชาวอินเดีย ผู้เคลื่อนไหวต่อสู้กับการกดขี่เพื่อสิทธิเด็กและเยาวชน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 
      "ดิฉันได้เคยกล่าวไว้ว่าทุกวันนี้ในเกือบทุกภูมิภาคของโลก ผู้หญิงยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ โดยเฉลี่ย ผู้หญิงยังคงมีความยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสม เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก มีรายได้น้อย และยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงยังตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศและการทารุณกรรมอีกด้วย ในฐานะผู้หญิงด้วยกัน ดิฉันขอชื่นชมความอดทน มุ่งมั่น กล้าหาญของมาลาลา แม้จะเกือบแลกด้วยชีวิต และขอเป็นกำลังใจให้มาลาลา ตลอดจนเด็กผู้หญิง และผู้คนอีกมากมายที่ต้องยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและเสรีภาพ ขอให้การได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ของมาลาลา และไกลาศ เป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกได้รับรู้ว่า ยังมีผู้คนอีกมากมายที่พร้อมจะต่อสู้เพื่อให้เด็กๆ ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม" ข้อความในเฟซบุ๊กของอดีตนายกฯ ไทย
       ด้าน น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงหนังสือ "I Am Malala" ชีวประวัติของ น.ส.มาลาลา ยูซัฟไซ ที่สำนักพิมพ์มติชนได้ลิขสิทธิ์จัดพิมพ์ฉบับภาษาไทย และจะเปิดตัวหนังสือในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ว่าเป็นเรื่องราวของเด็กหญิงที่ลุกขึ้นสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการศึกษา และสิทธิของเด็กและผู้หญิง ถือเป็นหนังสือที่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานด้านการศึกษา หรือผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องมุสลิม 
      น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า หนังสือบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของเด็กผู้หญิงว่าได้ผ่านอะไรมาบ้าง เป็นการต่อสู้ที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อการศึกษาของเด็กทั่วโลกที่ยังขาดโอกาส รวมทั้งเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ซึ่ง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกที่ในโลก แม้แต่ประเทศไทยก็ยังมีคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียงที่จะเรียกร้อง หรือต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่สังคมต้องให้โอกาสกับเสียงเรียกร้องที่แตกต่าง เสียงของทางเลือกในกระแสรอง เช่น การเรียกร้องสิทธิการเรียกหนังสือของเด็กที่ตั้งครรภ์ เป็นต้น
       ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวต่อว่า หนังสือไอ แอม มาลาลา จะทำให้สังคมเรียนรู้ผู้ที่เกิดมาในสังคมที่มีข้อจำกัด และได้เห็นการให้โอกาสจากครอบครัว สังคม และสังคมนานาชาติ ที่รับฟังข้อเรียกร้องสิทธิของเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่สังคมจะต้องเปิดพื้นที่ให้แสดงออกทัศนคติอย่างปลอดภัย เพราะหากสังคมไม่สร้างพื้นที่การแสดงความเห็นอย่างปลอดภัย เชื่อว่าคงไม่มีหนังสือเล่มนี้ ที่จะสะท้อนให้เห็นมุมมองความกล้าในการต่อสู้แต่อย่างใด 
      วันเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพียังคงเกาะติดรายงานข่าว น.ส.มาลาลา ยูซัฟไซ สาวน้อยนักต่อสู้วัย 17 ปี ผู้ยืนหยัดต่อสู้เรียกร้องสิทธิการเรียนหนังสือของเด็กและผู้หญิง จนถูกสมาชิกกลุ่มตาลิบันบุกยิงศีรษะ ผู้คว้ารางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ร่วมกับนาย ไกลาศ สัตยาร์ที นักต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กชาวอินเดีย วัย 60 ปี โดยระบุว่าข่าวการได้รับรางวัลของ น.ส.มาลาลา ยังคงเป็นประเด็นพูดคุยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั่วโลก ขณะที่ผู้หญิงชาวปากีสถานก็ระบุว่า น.ส.มาลาลาคือแรงบันดาลใจ และความหวังที่จะทำให้พวกเราลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิการเรียนรู้ และการมีอนาคตที่ดีกว่า
      นางไซมา บีบิ ผู้หญิงชาวปากีสถาน วัย 22 ปี จากพื้นที่หุบเขาสวัต ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ บ้านเกิดของน.ส.มาลาลา ให้สัมภาษณ์ว่าถูกบังคับให้แต่งงานเพื่อชดใช้หนี้สินของครอบครัวขณะอายุแค่ 13 ปี ทั้งที่ชอบเรียนหนังสือ และมีการเรียนดีมาโดยตลอด หลังจากแต่งงานต้องทำหน้าที่แม่บ้านเลี้ยงลูก 4 คน ละเลยความฝันที่จะเรียนจบ แม้ตอนนี้จะอายุ 22 ปีแล้ว 
      นางบีบิ กล่าวต่อว่า เรื่องราวของมาลาลา ทำให้มีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาพูดกับสามีและครอบครัวของสามีว่า อยากจะศึกษาต่อ ขณะเดียวกันก็ปลูกฝังให้ลูกๆ เห็นความสำคัญของการเรียน และย้ำอยู่เสมอว่า พวกเขาต้องเรียนให้จบ ก่อนหน้านี้เวลา ที่หนังสือพิมพ์ลงรูปภาพของมาลาลา ครอบครัวมักจะตำหนิว่าเธอทำสิ่งที่ขัดต่อธรรมเนียมมุสลิม ถึงอย่างนั้นก็รู้สึกชอบ และนับถือในความกล้าหาญของมาลาลามาโดยตลอด 
      ด้าน น.ส.สุเมรา ข่าน ชาวปากีสถาน วัย 21 ปี กล่าวว่าต้องล้มเลิกความตั้งใจที่จะเรียนหนังสือในวัยเด็กเช่นกัน แต่ไม่ใช่เพราะถูกบังคับให้แต่งงาน แต่เพราะในละแวกบ้านขาดแคลนสถานศึกษา ถึงอย่างนั้นครอบครัวก็ยังส่งเสียให้พี่น้องที่เป็นผู้ชายได้เรียนระดับชั้นสูงๆ จนจบ ต่อมาเรื่องราวของมาลาลา กลายเป็นข่าวใหญ่หลังจากถูกตาลิบันลอบยิง นับตั้งแต่นั้นมาลาลาก็กลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ตนกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง และรู้สึกมีความกล้าหาญเช่นเดียวกับมาลาลาที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลปากีสถาน เห็นความสำคัญของการให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมแก่ชาวปากีสถานทุกเพศทุกวัย
      ขณะที่ พญ.ฟาซีลัต อักบาร์ แพทย์ชาวปากีสถาน วัย 32 ปี ระบุว่าเมื่อครั้งเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ต้องอ้อนวอนขอศึกษาต่อ โชคดีที่ครอบครัว โดยเฉพาะพ่อให้การสนับสนุนจนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ แม้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จะเป็นรางวัลอันทรงเกียรติระดับโลก แต่ส่วนตัวตนไม่คิดว่ารัฐบาลปากีสถานจะตระหนักถึงความภาคภูมิใจนี้ ได้แต่หวังว่าเรื่องราวความสำเร็จของมาลาลา จะช่วยให้ผู้ชายในสังคมเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อผู้หญิงก็พอ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!