- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Sunday, 19 November 2023 12:52
- Hits: 3558
อธิบดี กพร. ระดมหัวกะทิเร่งขับเคลื่อน EEC Model Type B พัฒนาแรงงานเขต EEC
กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดสัมมนาระดมสมอง เร่ง Upskill แรงงานกว่าสองแสนคนในเขต EEC เดินหน้าการฝึกภายใต้ EEC Model Type B ส่งเสริมการลงทุนหนุนผู้ประกอบการ 37,000 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รับนโยบาย'พิพัฒน์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นางสาวบุปฝา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้จัด'โครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานชั้นสูงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)' ขึ้น ณ โรงแรม กราฟ (บางกอกชฎา) กรุงเทพมหานคร เพื่อระดมความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ พร้อมกำหนดแผนการดำเนินงาน ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ การกำหนดหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงานในพื้นที่ EEC โดยนำฐานข้อมูลการวิเคราะห์ความต้องการจากสถานประกอบกิจการ
รวมถึงการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยเฉพาะการส่งเสริมากรลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขานรับนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการ Upskill แรงงานในเขตพื้นที่ EEC ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งมีสถานประกอบกิจการกว่า 37,000 แห่ง และมีแรงงานกว่า 1,500,000 คน
นางสาวบุปฝา เรืองสุด กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากมีการดำเนินการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานในเขต EEC ภายใต้โครงการ EEC Model Type B โดยร่วมกับภาคเอกชนกำหนดหลักสูตรที่เหมาะสมกับการทำงานในพื้นที่ บูรณาการร่วมกันตั้งแต่เครื่องมือ เครื่องจักร บุคลากรหรือวิทยากร และงบประมาณ เน้นกลุ่มเป้าหมายแรงงานในสถานประกอบกิจการ แรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรม SME การพัฒนาทักษะแรงงานเหล่านี้ มีทั้ง Re-skill และ Up-skill เน้นหลักสูตรที่เป็นความต้องการของสถานประกอบกิจการเป็นหลัก
โดยกรมดำเนินการเองประมาณ 2,200 คน ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2557 อีกประมาณ 2.9 แสนคน การจัดสัมมนาในครั้งนี้ จึงต้องการระดมสมองกำหนดแนวทางการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงาน ที่สอดรับกับอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ และดิจิทัล เพื่อยกระดับการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมายและขยายผลตามนโยบายของรัฐบาล
“ในปี 2566 กรมจัดฝึกอบรมให้แก่แรงงานในเขต EEC จำนวน 5,740 คนและส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการ 297,380 คน หลักสูตรที่ได้รับความสนใจ 3 อันดับแรก ได้แก่ การควบคุมและบำรุงรักษาหุ่นยนต์ Yaskawa, การควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (FANUC) , ซอฟต์แวร์ Product Design & Manufacturing Collection (PDMC),
การประยุกต์ใช้งาน PLC Mitsubishi ด้วยโปรแกรม GX Works2 ระดับพื้นฐาน/ระดับสูง สำหรับผู้ที่สนใจเข้าฝึกอบรมสามารถสมัครได้ที่ www.dsd.go.th เมนู สมัครฝึกอบรม จะมีหลายหลักสูตรให้เลือก หรือโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดีบุปผา กล่าว