WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Pประยทธ จนทรโอชา4นายกฯ เตรียมลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 และประชุม ครม.สัญจร 11-12 มิ.ย.

         พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี) และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2561 ณ จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2561

       สำหรับ พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการทำการเกษตร เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญลำดับต้นของประเทศ มีผลผลิตที่หลากหลายในรูปแบบของพืชอาหารและพืชพลังงาน โดยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางทางคมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ และระบบราง สามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ภาคต่างๆ ของประเทศ รวมถึงมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยงสูง มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงหลากหลาย

      การลงพื้นที่ตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศน์ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร การพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการอนุรักษ์และพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาวัฒนธรรม โดยมีกำหนดการ ดังนี้

         วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน 2561 นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานทหารกองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก โดยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศ จากนั้นนายกรัฐมนตรีเข้านมัสการองค์หลวงพ่อเพชร ณ วัดท่าหลวง พระอารามหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร จากนั้นเดินทางไปพบประชาชนชาวพิจิตร ณ บึงสีไฟ พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมการพัฒนาพิจิตรจังหวัดคุณธรรม และการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบึงสีไฟ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่อันดับ 5 ของประเทศ ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนโดนบุกรุกและยังถูกตะกอนดินทับถมเป็นเวลานาน ทำให้มีสภาพตื้นเขินไม่สามารถรองรับน้ำท่วมน้ำหลากได้ ทั้งนี้จังหวัดพิจิตรได้แก้ไขปัญหาโดยการขุดลอกพื้นที่ตื้นเขินทำเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำ และจะพัฒนาจัดทำเลนจักรยานรอบบึงระยะทาง 12 กิโลเมตร เพื่อเป็นสถานที่ออกกำลังกายและสถานที่พักผ่อนของประชาชนต่อไป หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมโครงการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตรเพื่อการระบายน้ำและกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ณ ประตูระบายน้ำดงเศรษฐี แม่น้ำพิจิตร หมู่ที่ 4 ตำบลย่านยาว อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร

      ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะออกเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษจากสถานีรถไฟชุมแสง ไปยังสถานีรถไฟนครสวรรค์ ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อตรวจโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ) เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางและการขนส่งของประชาชน และตรวจสภาพการพัฒนาบึงบอระเพ็ด ซึ่งประสบปัญหาด้านการบุกรุกพื้นที่ การตื้นเขิน การขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม สัตว์น้ำ พืชน้ำบางชนิดสูญพันธุ์ไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้

        จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะได้พบปะชาวนครสวรรค์และผู้นำท้องถิ่นของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 และเยี่ยมชมนิทรรศการ บึงบอระเพ็ด ณ หอประชุมอาคารอเนกประสงค์สัมมนา โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานสักขีพยานมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกิน (พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าปลายห้วยกระเสียว ป่าห้วยทับเสลา และป่าห้วยคอกควาย) และเป็นพยานมอบเงินกู้ตามโครงการยุ้งฉางของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมตลาดประชารัฐ และตลาดวัฒนธรรมเมืองสี่แคว ณ ตลาดต้นแม่น้ำเจ้าพระยา

     วันอังคารที่ 12 มิถุนายน 2561 เวลา 08.30 น. ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 จากนั้นนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2561 ณ ห้องประชุมพระบาง ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

        ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาและชุมชนบ้านแก่ง โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และยังเป็นหมู่บ้าน (GI) คือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยอ้อม จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้าว ณ บริษัท กล้าแกร่ง จำกัด พร้อมเยี่ยมชมแปลงนา การผลิตพันธุ์ข้าว กิจกรรมการสาธิตกระบวนการเกี่ยวกับข้าว การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio Hub) และการวิจัยเกี่ยวกับข้าว ซึ่งเป็นต้นแบบของการดำเนินธุรกิจของคนรุ่นใหม่ มีการดำเนินการวิจัยและพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกรมการข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในด้านองค์ความรู้ เทคนิคการผลิต และพันธุ์ข้าวใหม่ เสร็จสิ้นภารกิจแล้วนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

               อินโฟเควสท์

นายกฯเผยแผนบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ในปี 61 เพิ่มงานอีก 216 โครงการ ใช้งบฯ 4 พันกว่าลบ.

      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า ปี 2561 นับเป็นปีแรกที่ไม่มีพื้นที่ใดของประเทศ ต้องประกาศเขตให้การช่วยเหลือภัยแล้ง โดยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่บูรณาการ เชื่อมโยงกันเป็นระบบนำไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุด วัดได้จากการดำเนินงานในภาพรวมที่เร็วขึ้นกว่าในอดีต 4 เท่า และประหยัดงบประมาณลงได้กว่าช่วงที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 30

      สิ่งสำคัญคือ การดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ มีการจัดทำแผนแม่บท การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2579 ที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วย นอกจากจะมีการน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้แล้ว ยังได้คำนึงถึงปฏิญญาสากล จากการประชุมน้ำโลก ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ อาทิ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การร่วมมือกันของรัฐบาลทั่วโลก การร่วมมือข้ามพรมแดน โดยยึดตามกฎหมายระหว่างประเทศ การส่งเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ ในการแก้ปัญหาน้ำ และสุขาภิบาล อีกทั้ง การเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) เป็นต้น ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จะจัดให้มีการสร้างการรับรู้ และเสวนาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ในวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน นี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

     ทั้งนี้ การจัดการน้ำอุปโภค บริโภค สามารถสร้างระบบประปาหมู่บ้านได้ 97% จาก 7,490 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ ที่ยังมีไม่ครบ ประปาโรงเรียนดำเนินการแล้วเสร็จ เกือบ 2,000 แห่ง และเจาะบ่อบาดาลได้ เกือบ 2,000 แห่ง เช่นกัน ก็คงต้องทำต่อไป ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

      การสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้ภาคการผลิต เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งในและนอกเขตชลประทาน การขุดสระน้ำในไร่นา การเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร และ น้ำบาดาลช่วยภัยแล้ง เป็นต้น มีประชาชนได้รับผลประโยชน์กว่า 3 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ 2 ล้านไร่

      การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ได้แก่ การขุดลอกลำคลอง ลำน้ำสาขา แม่น้ำสายหลัก เกือบ 300 กิโลเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม 63 ชุมชน ก็ยังคงมีอีกในที่อื่น ๆ ก็ทำต่อไป

      การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายหน้าดิน โดยดำเนินการแล้ว 3 แสนกว่าไร่

      นอกจากนี้ ยังมีการจัดการคุณภาพน้ำและที่จะสร้างความยั่งยืนคือ การเร่งรัดออกกฎหมายทรัพยากรน้ำ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ เราต้องศึกษาผลกระทบในคราวเดียวกันด้วย

       สำหรับ แผนงานบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ปี 2561 นี้ มีแผนงานที่ผ่านการพิจารณาให้ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 216 โครงการ งบประมาณ 4 พันกว่าล้านบาท เพื่อให้ได้น้ำ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ ราว 9 แสนไร่ และในปี 2562 มีอีกกว่า 3 พันโครงการ ที่กำลังพิจารณาจัดลำดับความเร่งด่วนและให้เกิดการใช้งบประมาณที่ประหยัด คุ้มค่า ได้ประโยชน์สูงสุด ตรงความต้องการของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้จะต้องมีการลงทุนสร้างระบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการตกลงใจเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ อาทิ ระบบงานแผนที่ ระบบงานแบบจำลอง ระบบงานคลังข้อมูลน้ำ ระบบงานสถานีตรวจวัดเป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถพยากรณ์และ ติดตามสภาพลมฟ้าอากาศ ที่จะช่วยให้สั่งการในเรื่องการเก็บกักน้ำ การพร่องน้ำ การใช้พื้นที่แก้มลิง เรียกรวม ๆ ว่าเป็นการบริหารจัดการที่บูรณาการกัน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

        การบริหารจัดการน้ำ สำหรับภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศ ที่เราต้องเตรียมการในระยะยาว ตั้งแต่วันนี้ ได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่เราจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เนื่องจากจะเป็นกลจักรสำคัญในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ในยุคดิจิทัล หรือ อีกอย่างน้อย 20 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องมีการศึกษาแนวเส้นทางการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนภายในประเทศ รวมทั้งป้องกันน้ำท่วมพื้นที่สำคัญของ EEC อีกด้วย

       ทั้งนี้ ในระยะ 10 ปีแรกนี้ จำเป็นต้องมีน้ำใช้ในระบบโครงข่ายเพิ่มอีก 320 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยจะต้องดำเนินการในหลายส่วน อาทิ การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม การพัฒนาอ่างเก็บน้ำ การเชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ การสูบกลับน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำ แผนป้องกันน้ำท่วม และการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง ส่วนแผนสำหรับรองรับอนาคต ระยะ 20 ปี ก็จะมีการเพิ่มเติมแผนการพัฒนาอ่างเก็บน้ำ ภาคตะวันออก 104 แห่ง ปริมาณน้ำ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร อีกทั้ง แนวทางการบริหารจัดการความต้องการการลดการใช้น้ำ การใช้น้ำซ้ำ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งหลายประเทศมีเทคโนโลยีนี้แล้ว เนื่องจากเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ เช่น สิงคโปร์ อิสราเอล และการหาแหล่งน้ำสำรองของอุตสาหกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จใน EEC ก็จะเป็นโมเดลสำหรับการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่ง ต่อไปด้วย ทั้งนี้ ไม่ใช่เศรษฐกิจหรือการลงทุนอย่างเดียว แต่เพื่อประชาชนในพื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้วใน 3 จังหวัดด้วย

          อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!