WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สู่เดือนตุลาฯ 'รอยต่อ'อำนาจ งานหนัก'รบ.บิ๊กตู่'

สู่เดือนตุลาฯ 'รอยต่อ'อำนาจ งานหนัก'รบ.บิ๊กตู่'


วิเคราะห์ มติชนออนไลน์ :

     เริ่มออกอาวุธมากขึ้น สัปดาห์ที่ผ่านมา หน้าหนังสือพิมพ์และพื้นที่สื่อ ถูกยึดครองด้วยข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาตอบโต้ ปล่อยมุข อย่างต่อเนื่อง

    เป็นสัจธรรมของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาจากเลือกตั้งหรือมาจากหนทางอื่น เมื่อมาถึงตรงนี้ก็คือเบอร์ 1 ของฝ่ายบริหาร 

    จำเป็นต้องเปิดหน้าชนทุกปัญหา 

     ปัญหาประเทศในทุกมิติ จากสากกะเบือยันเรือรบ คือความรับผิดชอบของหัวหน้าฝ่ายบริหาร ไม่มีสิทธิหนี ส่วนจะพลิกแพลงอย่างไร เป็นความสามารถเฉพาะบุคคล 

ต้องยืนโพเดียม ลุยดงไมโครโฟน เผชิญกับคำถามของสื่อ ที่โยนยิงมาอย่างไม่หยุดไม่หย่อนของนักข่าว ที่มีหน้าที่ต้องถามไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

บรรยากาศโดยรวม สื่อยังเกรงๆ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯที่มาจากกองทัพ ต่างจากยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ปรับตัว ลดภาพดุๆ เข้มๆ ปล่อยมุขร้องเพลง คสช. ให้เกิดความซอฟต์มากขึ้น 

การออกอาวุธของ พล.อ.ประยุทธ์ บางครั้งอาจเป็นลูกเล่น เป็นมุขผ่อนคลาย บางครั้งเพื่อเบรกการโจมตีของอีกฝ่าย 

และสะท้อนสภาพปัญหาที่เริ่มรุนแรงขึ้นเช่นกัน 

ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์เองออกปากกับแม่ทัพนายกองรุ่นน้องระหว่างเดินสายอำลาชีวิตทหารว่า รัฐบาลอาการหนักเพราะงานหนัก 

ต้องขอกำลังใจช่วยจากกองทัพด้วย

ชุดของปัญหาในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าสังเกตว่าเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพมากเป็นพิเศษ

การออกข่าวว่าจะทุบรังนกกระจอก อันเป็นพื้นที่เล็กๆ สำหรับกระจอกข่าวโขยงเบ้อเริ่ม ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคนายกฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อปี 2522-2523 ซึ่งไม่ได้มาจากเลือกตั้ง และยังเป็นประชาธิปไตยไม่ถึงครึ่งใบด้วยซ้ำ 

ทำให้นักข่าวน้อยใหญ่ออกมาแสดงปฏิกิริยา นั่นก็ไม่ใช่ว่านักข่าวหวงแหนสถานที่ ซึ่งไม่ใช่ของตัวเอง

แต่รังนกกระจอก คือสัญลักษณ์รับรองสถานะของสื่อ ในศูนย์กลางการบริหารของประเทศ จากเดิมสมัยรุ่นพี่รุ่นพ่อ ต้องชะเง้อชะแง้ อาศัยร่มไม้เป็นที่รอข่าว 

แน่นอนว่า การปรากฏขึ้นของรังนกกระจอก นักข่าวช่างภาพที่เดินไปเดินมา อาจขัดหูขัดตา หากคิดว่าการบริหารประเทศเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประชาชน ไม่เกี่ยวกับสาธารณชน

แนวคิดจะยกจะย้ายรังนกกระจอกไปตรงนั้นตรงนี้ จึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อรัฐบาลมาจาก คสช. มีอำนาจเด็ดขาด จึงมีการชงโครงการรื้อรังนกกระจอกอีกครั้ง เผื่อว่าจะเข้าทาง

สุดท้ายก็จบตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์สรุปว่า ต้องการ "ปรับปรุง" รังนกกระจอกในเชิงรูปแบบ เพื่อให้เข้ากับอาคารหลักๆ ของทำเนียบรัฐบาล 

ส่วนการออกมาคลุมปี๊บของบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัย จากนายสุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีเป้าอยู่ที่การควบตำแหน่งของ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ รมว.สาธารณสุข 

มาถึง นายวิโรจน์ อาลี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีเป้าอยู่ที่ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเรื่องบทบาทการปกป้องเวทีทางวิชาการในมหาวิทยาลัย หลังจากโดนตำรวจและทหาร รุดเข้าเบรกการเสวนา 

จนมาถึง นายเอกชัย ไชยนุวัติ อาจารย์กฎหมาย ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ที่ร่วมประท้วงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องภายในมหาวิทยาลัย แต่ก็ทำให้เกิดคำถามถึงนโยบายของ คสช.ว่า จะคลายนอต ขยับขยายให้แสดงออกทางการเมืองได้มากขึ้นหรือไม่ 

เพราะเมื่อมีนายกฯ มีรัฐบาลเกิดขึ้น สังคมก็ย่อมคาดหวังว่าบรรยากาศการเมืองจะกลับสู่ปกติมากขึ้น 

จากปัญหาการใช้สิทธิเสรีภาพในประเทศ มาถึงภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาต่างชาติ 

ท่าทีของต่างประเทศ ที่ไม่เห็นด้วยกับการควบคุมอำนาจปกครองของ คสช. และมีมาตรการบางประการต่อประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอยู่แล้ว 

โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ยังมาเกิดเหตุการณ์ฆ่า 2 นักท่องเที่ยวอังกฤษที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ที่ยังจับคนร้ายไม่ได้

การปะทะคารม ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ นางยุวดี ธัญญศิริ

นักข่าวทำเนียบรุ่นอาวุโส ในเรื่องการเสนอข่าวของสื่อต่างชาติที่วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ไทยในคดีดังกล่าว 

ตอกย้ำภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาของสื่อต่างชาติ 

เป็น "การบ้าน" อีกข้อ ที่จะต้องไปคิดหาหนทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ 

กรณีเกาะเต่าที่จริงถือเป็น "ปัญหาจร" ที่โผล่เข้ามาซ้ำเติมสภาพที่หนักหน่วงอยู่ก่อนแล้ว 

นั่นคือ ปัญหาเศรษฐกิจตามฤดูกาล ทั้งราคาพืชผล ราคาข้าว ที่วางกองรอหัวหน้ารัฐบาล และรัฐบาลเข้าไปจัดการ ก็มีมากอยู่แล้ว 

ปัญหาด้านการบริหาร จะบวกเข้ากับปัญหาทางการเมือง ที่จะเกิดแรงกระเพื่อมจากการตั้งสภาปฏิรูปฯ 250 คน ที่เคาะตัวแล้ว รอนำขึ้นทูลเกล้าฯ 

คาดหมายว่าอาจจะมีความผิดหวังไม่พอใจจากผู้ที่หลุดโผ ซึ่งที่จริงก็คือบุคคลในเครือข่ายของ คสช. 

รวมถึงกลุ่มที่ไม่ยอมรับรัฐบาลซึ่งรอคอยโอกาสในการแสดงออก 

เป็นจังหวะเดียวกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. เหลือเฉพาะตำแหน่งนายกฯและหัวหน้า คสช.ในต้นเดือนตุลาฯ 

เช่นเดียวกับบิ๊กๆ เหล่าทัพทั้งทั้งหมด

แม้จะมีการวางตัวทายาทเอาไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ทำให้น่าจับตาว่า จากเดือนตุลาฯเป็นต้นไป 

การเมือง การบริหารประเทศไทยของรัฐบาล คสช.จะราบรื่นมากน้อยแค่ไหน 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!