WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วิษณุ บวรศักดิ์ 'เหนื่อย' ไหม คนดี ถนน ปรองดอง

วิษณุ บวรศักดิ์ 'เหนื่อย' ไหม คนดี ถนน ปรองดอง

มติชนออนไลน์ :  


เห็นความพยายามของทั้ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ทั้ง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

เหนื่อย

เป็นความพยายามในการ "อธิบาย" เป็นความพยายามในการ "ชี้แจง" เพื่อสร้างความมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญที่จะออกมาในปี 2558 นั้นต้องดีแน่

ที่สำคัญ มีภาคว่าด้วย "การปฏิรูป" และ "การปรองดอง"

ด้าน 1 ปัญหาอันก่อตัวมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และขยายใหญ่กระทั่งนำไปสู่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 สะท้อนความจำเป็น

จำเป็นต้อง "ปฏิรูป" จำเป็นต้อง "ปรองดอง"

ขณะเดียวกัน ด้าน 1 ไม่ว่าจะเป็น "การปฏิรูป" ไม่ว่าจะเป็น "การปรองดอง" เป็นวลีอันสวยหรูก็จริง แต่ก็มากด้วยปัญหา

เมื่อมากด้วย "ปัญหา" จึงย่อมมากด้วย "ความขัดแย้ง"

ยิ่งพยายาม "ปฏิรูป" มากเพียงใด ยิ่งพยายาม "ปรองดอง" บนพื้นฐานของการปฏิรูปมากเพียงใด ฝุ่นยิ่งคลุ้ง ตระหลบมากเพียงนั้น

จำเป็นต้องร้องเพลง "เหนื่อยไหมคนดี" ปลอบ

ที่พูดกันหนาหูตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่าอย่าทำให้ "เสียของ" เหมือนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

นั่นแหละกำลังจะกลายเป็น "ประเด็น"

ถามว่าอะไรคือเนื้อหาแท้จริงของคำว่า "เสียของ" ถามว่ารูปธรรมอะไรสะท้อนให้เห็นว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหาร "เสียของ"

จะตอบคำถามนี้ได้จำเป็นต้องถามก่อนว่าทำไมต้องมีรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

หากยึดจากถ้อยคำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสานเข้ากับนายทหารคนอื่นๆ ซึ่งนั่งอยู่ใน คสช.

ก็ต้องว่า เพราะปัญหาประเทศแก้ไขกันเองไม่ได้จริงๆ คสช.จึงต้องเข้ามา

หากถามว่าปัญหาคืออะไร คำตอบจากพรรคประชาธิปัตย์ คำตอบจาก กปปส. คำตอบจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็อย่าง 1 คำตอบจากพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนาคำตอบจาก นปช.ก็อย่าง 1

คสช.จึงต้องแอนแอ่นแอ๊น

หากถามต่อไปอีกว่าอะไรคือปัญหาอันเป็นความขัดแย้งระหว่างคู่กรณี 2 ฝ่าย คำตอบก็ต้องย้อนกลับไปยังก่อนและหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 นั้นแหละคือจุดเริ่มต้น 1

รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ต้องการโค่นรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แต่มาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลอันเป็น "อวตาร" ของพรรคไทยรักไทยก็ยังอยู่

จึงต้องทำรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

จากนั้น จึงนำไปสู่การเสนอวาทกรรมว่า อย่าทำให้รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ต้อง "เสียของ"

นั่นก็คือ อย่าให้ "เสียของ" เหมือนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

เมื่อเวลาผ่านมา 5 เดือนนิยามของคำว่า "เสียของ" ก็เริ่มแตกแขนงออกไปหลายหลากและมากมาย

สัมผัสได้จาก "ความหงุดหงิด"

เป็นความหงุดหงิดอัน นายถาวร เสนเนียม ระบุว่า หากไม่มี "การถอดถอน" มวลมหาประชาชนอาจหวนกลับมาอีก เป็นความหงุดหงิดอัน นายสุริยะใส กตะศิลา สรุปความแตกต่างระหว่าง คมช.เมื่อเดือนกันยายน 2549 กับ คสช.เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า

"คมช.มีการแยกมิตร แยกศัตรูชัดเจน

"แต่ คสช.ระแวงทุกกลุ่ม เกเรทุกกลุ่ม วุ่นวายทุกกลุ่ม เลยจัดการบนเงื่อนไขเดียวกัน จับไปเข้าค่ายแล้วก็รักษาระยะห่างเท่ากันหมด"

ความหงุดหงิดนี้ "พุ่ง" ปลายหอกเข้าใส่ "คสช."

นิยามของคำว่า "เสียของ" ระหว่าง คสช.กับพันธมิตรของ คสช.จึงดำเนินไปอย่างแตกต่าง เด่นชัด

พันธมิตรต้องการดำรงทิศทาง แนวทาง "คมช." เมื่อเดือนกันยายน 2549 ขณะที่คสช.สรุปบทเรียนและไม่ต้องการให้ "เสียของ" และกลายเป็นปัญหาเหมือนเมื่อ 8 ปีก่อน

2 พี่น้อง "วิษณุ-บวรศักดิ์" จึงต้อง "เหนื่อย"

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!