WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ปมสนช.เล็งถอด'38 ส.ว.' เหมือนหรือต่างกรณี'2 ประธาน'

ปมสนช.เล็งถอด'38 ส.ว.' เหมือนหรือต่างกรณี'2 ประธาน'


นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง - พนัส ทัศนียานนท์

 


นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ - สมชาย ปรีชาศิลปกุล

      มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - ความเห็นของนักวิชาการและอดีต ส.ว. กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาถอดถอนอดีต ส.ว. 38 คนออกจากตำแหน่ง กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว.โดยมิชอบ และมี สนช.ออกมาระบุว่า การถอดถอนอดีต ส.ว. 38 คน ไม่สามารถเทียบเคียงกับการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กับนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภาได้ เนื่องจากเป็นคนละฐานความผิด

นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง

อดีต ส.ว.อุทัยธานี

       ได้รับมอบหมายให้เป็น 1 ในผู้ร่วมแถลงเปิดสำนวนถอดถอนในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ โดยจะรับผิดชอบแถลงเปิดสำนวนในส่วนของแนวคิดและอุดมการณ์ เพราะหากขาดเรื่องดังกล่าวไป นักการเมืองก็จะเหมือนนักธุรกิจไปเสียหมด ในฐานะที่เป็นตัวแทนของคนต่างจังหวัดที่ให้ฉันทามติเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะวุฒิสภา เป็นตัวแทนของประชาชน 

    เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจะคืนความเป็นประชาธิปไตยให้กลับไปสู่ปฐมบทอันเป็นเจตนารมณ์หลักที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคน ประกอบกับบรรยากาศของบ้านเมืองและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในขณะนั้น แนวคิดอุดมการณ์จึงเป็นตัวสำคัญที่ทำให้อดีต ส.ว. 38 คน ตัดสินใจเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.เพราะเป็นการแก้ไขเพื่อคืนสิทธิในการตัดสินใจผ่านการเลือกตั้ง ส.ว.ให้กับประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าที่เห็นด้วยกับการแก้ไขประเด็นดังกล่าวเพราะโกรธเคืองอดีต ส.ว.ที่มาจากการสรรหาแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันการที่พวกเราเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการแก้ให้ตัวเองกลับมาเป็น ส.ว.อีกอย่างที่ถูกกล่าวหา เพราะข้อกล่าวหาเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นเพียงการวิตกหรือเป็นจินตนาการของผู้กล่าวเท่านั้น ถึงอย่างไรแล้ว เมื่อมีการแก้ไขเสร็จก็ต้องผ่านกระบวนการตัดสินใจ ผ่านการเลือกตั้งของประชาชนอีกอยู่ดี ทั้งหมดดำเนินการแก้ไขตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ได้ให้กับสมาชิกรัฐสภาไว้ทุกประการ 

แน่นอนว่ากรณีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กับนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ไม่สามารถเทียบเคียงกับกรณีอดีต ส.ว. 38 คนได้ เพราะคนละประเด็นกัน พวกตนถูกชี้มูลในฐานะที่เป็นสมาชิกในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ที่เหมือนก็คือทั้งหมดกระทำภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนที่จะร่วมแถลงเปิดสำนวนดังกล่าวจะมีการนัดหารือกันที่สภา เพื่อสรุปประเด็นสำหรับการแถลงเปิดสำนวนอีกครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การที่นายวิชัย วิวิตเสวี หนึ่งใน ป.ป.ช. ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า กรณีถอดถอน 38 ส.ว.จะนำเอากรณีนิคม-สมศักดิ์มาเทียบไม่ได้นั้น เพราะถือว่ามีฐานความผิดต่างกันออกไป ส่วนตัวมองว่าฝ่ายรัฐบาลในเวลานี้ได้พยายามสงวนท่าที สงวนอำนาจของพวกเขาอยู่ เพราะถึงแม้ว่ากรณีสมศักดิ์กับนิคมจะลงมติไม่ถอดถอนก็ตาม แต่กรณี 38 ส.ว.มีความเป็นไปได้ จะมีความพยายามในการเล่นงานต่อไป โดยยกเรื่องข้อหาแตกต่างกัน พยายามจะบอกว่าพวกนี้เป็นต้นตอจะแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งไม่จำเป็นที่จะต้องเว้นวรรค และบอกว่ากรณีของ นิคม-สมศักดิ์ไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ สรุปง่ายๆ คือ ไม่ว่าอย่างไรพวกเขาจะพยายามดันเรื่องนี้เข้ามาให้ได้ตามธงที่ได้วางเอาไว้ ส่วน สนช.จะลงมติถอดถอนหรือไม่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่หน้าที่ของพวกเขาคือดันเรื่องนี้ตามธงเข้ามาให้ได้

ส่วน สนช.จะถอดถอนหรือไม่ ถอดถอนกี่คน ตามความผิดอะไร สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับการเมือง ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจจะสั่งการมาอย่างไรก็เท่านั้นเอง เหตุที่พวกเขาไม่ถอดถอนสมศักดิ์-นิคม เชื่อว่าเป็นเพราะพวกเขาเกรงว่าจะมีปฏิกริยาและแรงต่อต้านจะออกมามาก จึงเลือกจัดการเฉพาะกรณียิ่งลักษณ์เท่านั้น แต่ส่วนกรณี 38 ส.ว.นั้นไม่มีความแน่นอน บางทีอาจจะถอดถอนทั้งหมดเลยก็ได้ เพราะตอนนี้ไม่ได้มีหลักการอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่พวกเขาอ้างกันว่าเป็นกฎหมาย แต่เป็นไปตามกฎของพวกเขาเท่านั้น หากว่ากันไปตามหลักการก็เป็นอย่างนี้ 

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.)

การพิจารณาแถลงเปิดสำนวนถอดถอนอดีต 38 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นั้น ฝ่ายกรรมการ ป.ป.ช.จะเริ่มแถลงเปิดสำนวนก่อน จากนั้นก็ตามด้วยตัวแทนของอดีต ส.ว. 38 คน ก็จะแถลงคัดค้าน กระบวนการจะเหมือนกับการพิจารณา 2 สำนวนที่ผ่านมา คือสำนวนถอดถอนนายสมศักดิ์กับนายนิคม และสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

     แม้ว่า สำนวนถอดถอนอดีต ส.ว. 38 คน เป็นฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 เหมือนกับสำนวนของนายสมศักดิ์กับนายนิคม แต่ก็ไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกันได้ เพราะมีรายละเอียดต่างกัน สำนวนถอดถอนอดีต ส.ว. 38 คน ตามเอกสารชี้มูลของ ป.ป.ช.มีการแบ่งประเภทการกระทำความผิดเอาไว้ด้วย เพราะบางคนถูกชี้มูลจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ชี้มูลจากการลงมติรายมาตรา หรือชี้มูลจากการลงมติในวาระ 3 เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

      จะมีการจัดหมวดหมู่การลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน ตามการแบ่งประเภทความผิดของ ป.ป.ช.หรือไม่นั้น ขณะนี้วิป สนช.ยังไม่ได้คุยกันว่าจะลงมติแบบใด เพราะวิป สนช.ก็ยังไม่ทราบว่าจะร่วมแถลงเปิดสำนวนกี่คน แต่เท่าที่ทราบจากข่าวก็ 4 คน แต่ก็ยังเปลี่ยนได้ตลอด เพราะยังไม่ได้แจ้งมาเป็นทางการ รายละเอียดทั้งหมดคงจะชัดเจนในวันแถลงเปิดสำนวน

     อย่างไรก็ตาม วิป สนช.จะขยายเวลาให้สมาชิก สนช.ยื่นญัตติซักถามไปยังคณะกรรมาธิการซักถามได้ หลังจากวันแถลงเปิดสำนวนไปอีก 2 วัน โดยจะยกเว้นข้อบังคับการประชุมเหมือนกับ 2 สำนวนที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีสมาชิก สนช.ส่งคำถามให้คณะกรรมาธิการซักถามแม้แต่คนเดียว

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

       2 กรณีนี้คงมีข้อเท็จจริงแตกต่างกัน แต่ปัญหาใหญ่ที่สำคัญคือ เรากำลังจะเห็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการฉีกรัฐธรรมนูญ กำลังจะลงมติถอดถอนวุฒิสมาชิกที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการและขั้นตอนที่มีรัฐธรรมนูญรองรับ ในเชิงหลักการเบื้องต้น คิดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติคงต้องตระหนักให้มากว่า สิ่งที่ตนเองทำอยู่เป็นเรื่องประหลาดพิกลอย่างยิ่ง

     การยืนยันว่ามีอำนาจถอดถอนนั้น อำนาจต้องคู่กับความชอบธรรมด้วย เพราะโดยลำพังรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในปัจจุบันที่คณะรัฐประหารเขียนขึ้นนั้น ไม่ได้พูดถึงอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่ามีอำนาจในการถอดถอนชัดเจน สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ การปฏิบัติหน้าที่หลายๆ เรื่องสะท้อนให้เห็นว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติเองกำลังทำในหลายสิ่งที่ละเมิดต่อความชอบธรรม เพราะฉะนั้นการปฏิบัติหน้าที่คงไม่ใช่เฉพาะปัญหาของการถอดถอน ส.ว. แต่หมายความถึงการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องอื่นๆ เช่น การออกกฎหมายหลายฉบับ จะพบว่าเป็นกฎหมายที่อารยประเทศไม่ใช้กันแล้ว

      กรณีของนายนิคมถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้มีส่วนได้เสีย แต่กรณีของทั้งหมดพยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไปตีความว่า การแก้ไขเพื่อเปลี่ยนระบบการเลือก ส.ว.เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญต้องการคุ้มครองเสียงข้างน้อยโดยไม่สนใจเสียงข้างมาก อีกกรณีที่นายนิคมโดนคือไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา แต่กรณีของ ส.ว.ต้องแยกแยะเป็น 2 กรณี 1.การลงคะแนนตามปกติ 2.กรณีลงคะแนนโดยไม่ได้เป็นไปตามระเบียบ หลักการเบื้องต้นแล้ว การใช้สิทธิของ ส.ว.ในการแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ในการลงคะแนนถ้ามีการเสียบบัตรแทนกัน หรือเจ้าตัวไม่ได้ใช้สิทธิเองอันนั้นเป็นความผิดเฉพาะบุคคล คำถามคือว่ารุนแรงถึงขนาดเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือเปล่า คิดว่าคงไม่ไปไกลถึงขนาดนั้น

      เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนคงตอบได้ยาก เพราะในแง่หนึ่งเขาพยายามจะปรับระบบ ถ้าสมมุติแก้ไขให้ขยายอายุของวุฒิสภายาวออกไป เห็นได้ชัดว่า ส.ว.คนนั้นได้ประโยชน์ แต่กรณีการปรับระบบมาสู่การเลือกตั้ง ไม่ได้มีอะไรเป็นหลักประกันว่ากลุ่มคนเหล่านี้ที่แก้ไขจะได้เป็น ส.ว.ต่อโดยตรง ถามว่าเป็นกรณี ส.ว.กลุ่มนี้จะได้ประโยชน์โดยตรงหรือเปล่า ก็ไม่ชัดเจน ส.ว.กลุ่มนี้อาจจะสอบตกก็ได้ถ้าลงเลือกตั้ง

       กรณีที่ให้อดีต ส.ว.ลงสมัครเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค ในแง่หนึ่งกรณีนี้เป็นการยกเลิกข้อกำหนดเดิม กรณีแบบนี้ในแง่หนึ่งอาจเหลื่อมๆ ทำให้คนที่ลงคะแนนได้รับประโยชน์ 

      มองได้ทั้งสองทาง ในแง่หนึ่งคงมีประเด็นที่ต้องแยก หนึ่ง ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง นี่คงไม่เป็นปัญหา เป็นสิ่งที่ทำได้ กับประเด็นการเปิดโอกาสให้ ส.ว.ยกเลิกข้อกำหนดว่าให้เป็น ส.ว.ได้สมัยเดียว กรณีนี้อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ ส.ว.ที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้รับประโยชน์ แต่เป็นการได้รับประโยชน์ที่เมื่อเทียบกับการได้รับประโยชน์โดยตรงอย่างการขยายอายุ ส.ว.

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!