WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

มุมมอง-ข้อขัดแย้ง ตั้ง'สมัชชาคุณธรรม'

มุมมอง-ข้อขัดแย้ง ตั้ง'สมัชชาคุณธรรม'


พนัส ทัศนียานนท์-สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล-ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม

 


สุรพศ ทวีศักดิ์-นายวิรัตน์ กัลยาศิริ

มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - ความคิดเห็นของนักการเมือง และนักวิชาการ ถึงกรณี คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดในภาคที่ 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด 1 ว่าด้วยระบบผู้แทนที่ดีและผู้นำการเมืองที่ดี โดยมีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีหน้าที่ปลูกฝังและส่งเสริมจริยธรรมของประชาชนและผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะและอำนาจหน้าที่อื่น

พนัส ทัศนียานนท์

คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) 

เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะกำหนดให้สมัชชานี้มีอำนาจแค่ไหนเพียงใด เท่าที่ติดตามข้อมูลดูก็เห็นว่าจะให้มีอำนาจในการตรวจสอบ และกลั่นกรองคนก่อนเข้ามาเป็นนักการเมือง ผมไม่รู้ว่าเขาไปเอาต้นแบบมาจากไหน แต่ที่ประเทศจีนมีลักษณะคล้ายๆ กับแบบนี้ คนที่ทำหน้าที่คือพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

อย่างไรก็ตาม หากให้อำนาจไปไกลถึงการกลั่นกรองก่อนเข้ามาเป็นนักการเมืองเอากันถึงขนาดนั้น สิ่งที่จะคลอดออกมาจะให้เราเรียกว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยคงทำใจยอมรับได้ยาก

@ จะเป็นการยื่นดาบในการกำจัดนักการเมืองให้สมัชชาคุณธรรมนี้หรือไม่

ก็คงทำนองเดียวกับองค์กรอิสระที่มีอยู่ขณะนี้อย่าง ป.ป.ช.นั้นแหละ สิ่งที่ผมอยากให้คิดตามคือ 1.เรื่องของการให้อำนาจ และ 2.เรื่องคุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาเป็นสมัชชาคุณธรรมนี้ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเดาไม่ยาก ว่าคงจะมาจากข้าราชการอาวุโสที่เกษียณแล้ว เป็นผู้ทรงคุณธรรม แล้วเอาระบบอำมาตย์มาคลุมไว้อีกทีหนึ่ง

@ คนที่จะมาทำหน้าที่ต้องมีคนจากทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่

เขาไม่สนหรอก เพราะที่กำลังทำอยู่นี้ ทำอยู่บนสมมุติฐานว่านักการเมืองนั้นเลว แล้วจะเอาคนเลวๆ มาอยู่ในสมัชชาคุณธรรมได้อย่างไร ทั้งนี้ ปัญหาที่จะตามมาคือ คนจะยอมรับสมัชชานี้ได้อย่างไร

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา

ผมขอพูดสั้นๆ นิดเดียวว่า อะไรก็แล้วแต่ที่จะเข้ามาสู่กระบวนการ หรือการทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ควรจะต้องยึดโยงกับประชาชน ถ้าไม่ยึดโยงกับประชาชนแล้วความรู้สึกก็จะเหมือนเป็นการมาเช็กบิลอะไรต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยกับการที่ให้มีการตั้งสมัชชาคุณธรรม เพียงแต่อยากให้ยึดโยงกับภาคประชาชน ไม่ใช่ตั้งใครก็ได้ขึ้นมา

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนตัวคิดว่าคณะกรรมการชุดนี้ ถ้ามาจากหลากหลายอาชีพ หลากหลายองค์กร โดยเฉพาะที่ไม่ได้ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดๆ ก็จะมีส่วนช่วยในการกลั่นกรองหรือติดตามพฤติกรรมของนักการเมืองได้ในระดับหนึ่ง ที่ย้ำว่าควรมาจากหลากหลายอาชีพก็เพราะจะได้มีมุมมองที่แตกต่างกันและกว้างขวาง เนื่องจากนักการเมืองก็มาจากประชาชนที่มีความหลากหลายเช่นกัน ฉะนั้นประชาชนที่มีความหลากหลายก็ควรจะเป็นผู้พิจารณานักการเมืองได้ 

ในด้านตำแหน่งหน้าที่ ความเป็นจริงที่ผ่านมาเราเห็นว่าบทบาทของ กกต. ไม่ได้ทำหน้าที่ของการเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างแท้จริง ในหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าชุดไหนก็ตาม มีทั้งเอนเอียงไปทางรัฐบาลและเอนเอียงไปทางต่อต้านรัฐบาล ถามว่าจะเป็นการให้อำนาจสมัชชาคุณธรรมนี้มากไปไหม ถ้าเราเลือกคนที่มีคุณธรรมแล้วก็ถือว่าน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเลือกได้ผู้ที่ไม่เหมาะสมเข้ามาก็จะนำไปสู่ปัญหาในภายหลังได้ 

ปัญหาก็คือผู้ที่ทำการเลือกตั้งชุดนี้เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มใหญ่ ฉะนั้นโอกาสที่จะเลือกคนที่ตัวเองชอบหรือสนิทสนมจะมีมากกว่าการเลือกโดยศึกษาพื้นฐานคุณธรรมของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการในสมัชชาอย่างแท้จริง จะส่งผลไปสู่วังวนเดิม ที่น่ากลัวที่สุดคือการเลือกข้างของคนที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาโดยกลุ่มบุคคลที่มีทรรศนะคล้ายคลึงกัน

สุรพศ ทวีศักดิ์

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน

ไม่เห็นด้วยที่จะมีสมัชชาแบบนี้ เวลาเราพูดถึงการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เราก็ต้องใช้ภาษาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเกณฑ์ เป็นมาตรฐานว่าใครเป็นนักการเมืองที่ดีหรือไม่ดี ทำถูกหรือทำผิด ต้องใช้เกณฑ์ตามกติกาประชาธิปไตย ต้องใช้ภาษาทางการเมืองที่อยู่บนพื้นฐานของหลักการกติกาประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นภาษาอื่น 

ภาษาอื่นคือภาษาคุณธรรมจริยธรรม ไม่ชัดว่าคุณธรรมจริยธรรมนั้นสอดคล้องกับประชาธิปไตยหรือเปล่า เพราะเห็นมาตลอดว่าเวลาอ้างคุณธรรมจริยธรรม อ้างอะไรเข้ามาต่อสู้ทางการเมือง นำไปสู่ความคิดว่าคุณธรรมจริยธรรมเหนือกว่ากติกาประชาธิปไตย สุดท้ายแล้วเราก็เลยจัดการกับคนที่เรามองว่าไม่มีคุณธรรม ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ได้ อย่างเช่น การรัฐประหาร

แล้วสมัชชาที่มาจากการสรรหา เมื่อเห็นว่าไม่ควรมีสมัชชานี้แล้ว อันอื่นก็ไม่เห็นด้วยทั้งหมด ไม่ควรมีสมัชชาคุณธรรมจริยธรรมอะไรขึ้นมาให้เกิดความสับสน เราสามารถที่จะมีระบบตรวจสอบนักการเมือง ตรวจสอบข้าราชการได้ แต่ว่าเราต้องตรวจสอบภายใต้กฎหมาย ภายใต้หลักนิติรัฐ ภายใต้หลักการกติกาประชาธิปไตย ใช้ภาษากฎหมายมาพูดกัน

ถ้าเอาภาษาคุณธรมจริยธรรมมาพูดกัน บางทีมันคลุมเครือ ไม่รู้จะนิยามอย่างไร อะไรที่นิยามไม่ตรงกันจะเป็นเรื่องของความเห็นมากกว่า จะหาเกณฑ์มาตรฐานที่ตรงกันไม่ได้ ไม่ชัด จะเกิดความสับสน

เมื่อเอาเรื่องคุณธรรมเข้ามาในที่สุดแล้วก็เห็นปัญหามาตลอดตั้งแต่ปี 2548 เราบอกว่า พูดถึงคนดี พูดถึงคุณธรรมจริยธรรม แต่สุดท้ายคนดีมีคุณธรรมจริยธรรมเหล่านั้นไม่เคยเคารพกติกาประชาธิปไตย ไม่เคยเคารพหลักการประชาธิปไตยเลย เพราะฉะนั้นปัญหาของสังคมไทย ณ ปัจจุบันนี้ สิ่งที่ต้องปฏิรูปเร่งด่วนก็คือ ทัศนคติที่หาอะไรบางอย่างมาอยู่เหนือประชาธิปไตย 

เชื่อว่ามีอะไรบางอย่าง อย่างเช่น คุณธรรม จริยธรรม คนดี ความดี ที่อยู่เหนือความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย ควรจะเปลี่ยนทัศนคติพวกนี้ เลิกแล้วก็มายึดกติกา ยึดกฎเกณฑ์ ยึดหลักการประชาธิปไตยเป็นมาตรฐานที่จะเข้าใจได้ตรงกัน

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ

หัวหน้าคณะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์

การมีองค์กรเพื่อควบคุมดูแลคุณธรรมและจริยธรรมนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง เป็นเรื่องที่เห็นด้วย แต่รูปแบบที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดคือการให้อำนาจสมัชชาคุณธรรม โดยหากสมัชชาคุณธรรมพบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประพฤติทุจริตให้ทำหน้าที่ไต่สวนและส่งรายชื่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.นำรายชื่อผู้กระทำผิดจริยธรรมไปจัดทำประชามติ พร้อมกับการลงคะแนนการเลือกตั้งครั้งต่อไปเพื่อให้ประชาชนได้เป็นผู้ลงมติว่าจะเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี หรือไม่ ตรงนี้จะทำให้เกิดความแตกแยก รับรองเลยว่าจะเกิดความโกลาหลในบ้านเมือง เพราะการโยนอำนาจภาระหน้าที่ไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินทำประชามติ อาจมีกรณีการกลั่นแกล้งกันเกิดขึ้นได้ ประชาชนอาจมีการแบ่งพรรคพวกก็อาจจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา การทำประชามติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจทำให้นักการเมืองที่ถูกถอนถอนโดนตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี

เพราะฉะนั้นควรมีหน่วยงานเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานตรงนี้ ซึ่งก็มีอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.อยู่แล้ว เป็นต้น การทำงานของ ป.ป.ช.กับ ส.ส. และ ส.ว. เราก็มีอำนาจหน้าที่ที่ถ่วงดุลกันในการทำงานอยู่แล้ว ลักษณะในการตั้งสมัชชาคุณธรรมนั้น ผมยังไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมดนอกจากที่เป็นข่าวมาจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่องค์กรอิสระต้องมีหน้าที่ทำการตรวจสอบและถ่วงดุลได้ 

สำหรับสัดส่วนของสมัชชาคุณธรรม 55 คน ซึ่งใน 5 คน จะเรียกว่าคณะมนตรี มาจากการสรรหาของ ส.ว. ส่วนอีก 50 คน มาจากคณะกรรมการสรรหาที่คณะมนตรีทั้ง 5 คน เป็นผู้แต่งตั้ง เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาประเด็นรายละเอียด ลักษณะเช่นนี้ผมเป็นห่วงว่าจะมีการบล็อกโหวตเกิดขึ้นในการสรรหาแต่งตั้ง การทำงานของสมัชชาคุณธรรม การสรรหาแต่งตั้งบุคลากรนั้น ผมยังมองไม่ออกว่าจะทำงานกันอย่างไร เข้าใจว่าคนคิดตั้งสมัชชาคุณธรรมขึ้นมาคงมีเจตนาที่ดี แต่จากการพิจารณา เช่น กรณีการไต่สวนคดีการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในการใช้คณะกรรมการไต่สวนเช่นนี้ ผมว่าเสียงข้างมากก็ลากไปอยู่ดี 

ดังนั้น การจะสร้างองค์กร หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่นั้น ต้องพิจารณาดูเหตุผลและความจำเป็นด้วย มิเช่นนั้นอาจเกิดความซ้ำซ้อนในการทำงานขึ้นมาก็ได้ 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!