WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จับตารธน.ใหม่ เข้าโค้งอันตราย

วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 09:00 น. ข่าวสดออนไลน์

จับตารธน.ใหม่ เข้าโค้งอันตราย

 ประเทศไทยภายใต้สถานการณ์พิเศษ

 ว่าที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่คืบหน้าเข้าสู่กระบวนการยกร่างรายมาตรา โดยฝีมือการปรุงรสชาติของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

 1 ในแม่น้ำ 5 สายอันถือกำเนิด จาก คสช.

 ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการชี้เส้นทางอนาคตประเทศ ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคงพอจะมองเห็นทิศทางกันบ้างแล้วว่ากำลังจะไปทางไหน

 เนื้อหาในหลายมาตราก่อเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า น่าจะเป็นการเดินไปในทิศทางตรงข้ามกับการก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาประเทศในโลกประชาธิปไตย

 โดยเฉพาะการระบุว่านายกรัฐมนตรีต้องไม่เป็นส.ส. ที่สำคัญยังเปิดช่องให้นำ "คนนอก" เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ในยามสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ

 ถูกมองว่าเป็นการถอยกลับไปใช้บทบัญญัติที่ใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญปี 2521 และรัฐธรรมนูญปี 2534 ในยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือรสช. เมื่อ 24 ปีที่แล้ว

 ข้อซักถามน่าสนใจในประเด็น นายกฯ คนนอก อยู่ตรงที่จะใช้สิ่งใดเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า เมื่อไหร่ถึงจะเรียกว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ

 และสถานการณ์ไม่ปกตินั้น เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติทางการเมือง หรือมีบุคคลบางกลุ่มบางพวก จงใจสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเองเพื่อกรุยทางให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ

 เหมือนในอดีตที่เพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ

 ประเด็นถัดมาที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่แพ้กัน

 การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาหรือส.ว. จำนวน 200 คน จากการคัดเลือกกันเองของกลุ่มบุคคล 5 กลุ่ม

 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เรียกวิธีนี้ว่า "เลือกตั้งทางอ้อม"

 ซึ่งหลายคนยังมองไม่ออกว่า นอกจากการเพิ่มกลุ่มผู้ทำหน้าที่คัดสรรรายชื่อให้สลับซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น ท้ายที่สุดส.ว. จากการเลือกตั้งทางอ้อม
 
 แตกต่างจาก "ส.ว.ลากตั้ง" อย่างไร

 นั่นก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันโดยตรง คือการติด "ขีปนาวุธ" ให้ส.ว.ลากตั้ง

 ตั้งแต่การเสนอร่างกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ถอดถอนนักการเมือง

 ไปจนถึงการตรวจสอบคุณสมบัติ พฤติกรรม คุณธรรม จริยธรรมบุคคลที่นายกฯ เตรียมเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อแต่งตั้งเป็นคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรายบุคคล

 รวมไปถึงปลัดกระทรวง อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานราชการและรัฐวิสากิจ

 กรรมาธิการยกร่างฯ อ้างว่า การได้มาซึ่งส.ว.ทั้ง 200 คนด้วยวิธีนี้ มีการใช้กันอยู่ในหลายประเทศ อาทิ เยอรมัน ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เป็นต้น

 แต่ที่คลุมเครือ ไม่รู้ว่าประเทศเหล่านั้นได้ให้ อำนาจส.ว.เหมือนอย่างที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ กำลังเขียนใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตัวอย่าง ส.ว. เยอรมันมีอำนาจเสนอกฎหมายจริง แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนนักการเมือง

       ยังมีการตั้งข้อสังเกตการให้ส.ว.มีวาระ 6 ปี ทั้งที่ มาจากการลากตั้ง (เลือกตั้งทางอ้อมโดยคน 5 กลุ่ม) ขณะที่ส.ส.จากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนมีวาระ 4 ปี


       การให้อำนาจคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สามารถควบคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ตั้งแต่ขั้นตอนการแต่งตั้งรัฐมนตรี ไปจนถึงถอดถอนออกจากตำแหน่ง

      ไม่เพียงทำให้รัฐบาลในอนาคตทำงานลำบาก ยังขัดต่อหลักประชาธิปไตยในทางสากล

      นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แสดงความเห็นทักท้วง ส.ว.สรรหาว่า ควรมีอำนาจพิจารณากลั่นกรองกฎหมายเพียงอย่างเดียว ไม่ควรมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งรัฐมนตรีหรือข้าราชการระดับสูง

        ขณะที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การกำหนดให้มีส.ว.ลากตั้ง 200 คน เท่ากับเป็นการลดอำนาจประชาชน แล้วไปเพิ่มให้กลุ่มอดีตข้าราชการ

 ทำให้เกิดพรรคข้าราชการขนาดใหญ่


        ส่วนประเด็นสะท้อนถึงเป้าหมายต้องการลดอำนาจผูกขาดการเมืองของพรรคใหญ่ คือการกำหนดโครงสร้างสภาผู้แทนราษฎรให้มีการเลือกตั้งส.ส. 2 ระบบ รวมกัน 450-470 คน

      แบ่งเป็นส.ส.ระบบเขต 250 คน ลดลงจาก 375 คน ในรัฐธรรมนูญปี 50 จำนวน 125 คน ส่วนส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 200-220 คน เพิ่มจากเดิมที่มี 100 คน

 พร้อมกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครเลือกตั้งส.ส.

       อิงจากมาตรา 35 (4) รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ห้ามไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาคดีทุจริตหรือประพฤติมิชอบ รวมถึงผู้เคยถูกวุฒิสภาถอดถอนออกจากตำแหน่ง ลงสมัครรับเลือกตั้ง

 ขณะที่นักการเมืองและอดีตส.ส. รัฐบาลชุดเก่า

       กำลังถูกไล่เช็กบิลถอดถอนและดำเนินคดีอาญาอย่างเข้มข้นทั้งจากกรณีโครงการรับจำนำข้าว และปมแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เกี่ยวกับที่มาส.ว.


     การเขียนกฎเหล็กข้อห้ามนี้ขึ้นใหม่

      จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกสังคมส่วนหนึ่งตั้งข้อสงสัยว่า มีเจตนาเพื่อกีดกันพรรคการเมืองบางพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาลในอดีตหรือไม่

 เพราะรู้ดีหากไม่เพิ่มยาแรง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคการเมืองดังกล่าว จะกลับมาชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง เหมือนการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้งหลังการรัฐประหารปี 2549

 ดังนั้น สิ่งที่อีกฝ่ายต้องทำในตอนนี้ คือความพยายามออกแบบกติกาใหม่ เพื่อให้ได้รัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้ง ไม่ให้ผูกขาดโดยพรรคใหญ่ ไปพร้อมๆ กับจัดสร้างกลไกองค์กรต่างๆ ขึ้นมามีอำนาจควบคุมรัฐบาลในอนาคตอีกชั้นหนึ่ง

     แต่ปัญหา คือ ต่อจากนั้นคณะกรรมา ธิการยกร่างฯ จะทำอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลหรือสภาหลังเลือกตั้งใหม่เข้ามาทำลายกฎกติกาประเทศ ที่ยกร่างขึ้นมาฝ่ายเดียวนี้

 ซึ่งก็เป็นไปตามที่หลายคนคาดการณ์

      กรรมาธิการยกร่างฯ ได้วางกลไกป้องกัน ด้วยการให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะริเริ่มโดยรัฐบาล สมาชิกรัฐสภา ส.ส.ในสภาผู้แทนฯ หรือโดยการเข้าชื่อของประชาชน 5 หมื่นชื่อ

 ทุกสิ่งทุกอย่างต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ

    จากบทเรียนที่ผ่านมานั่นหมายความว่าโอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทบเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ

    ตรงนี้หรือไม่ ทำให้ผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะในยุคพฤษภาฯ 35 เป็นห่วงว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ออกมา

    นอกจะทำให้กระบวนการคืนประชาธิปไตยตามโรดแม็ปเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นแล้ว ยังอาจเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตขัดแย้งรอบใหม่

      ถึงขั้นสูญเสียกันอีกระลอก

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!