WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รบ.-กมธ.ยกร่างฯ หากลไกหนุน'รธน.'ไม่ยี้

    โดยภาค 1 หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 ประชาชน แบ่งเป็น 5 ส่วน โดยส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมือง ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง ส่วนที่ 3 หน้าที่พลเมือง ส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมือง และส่วนที่ 5 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

     ภาค 2 ผู้นำทางการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง แบ่งเป็น 7 หมวด หมวด 1 ผู้แทนที่ดีและผู้นำทางการเมืองที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 3 รัฐสภา หมวด 4 คณะรัฐมนตรี หมวด 5 การคลังและงบประมาณของรัฐ หมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน และหมวด 7 การกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น

    ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แบ่งเป็น หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และส่วนที่เป็นองค์กรอิสระและ

     ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม หมวด 2 การสร้างความปรองดอง และบทสุดท้ายจะเป็นบทเฉพาะกาล

    กระบวนการนับจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ภายในวันที่ 17 เมษายน เพื่อให้ สปช.ได้ศึกษาและทำความเข้าใจเนื้อหาร่าง รธน.ร่างแรก ก่อนที่ สปช.จะเปิดอภิปรายให้ความเห็นต่อร่าง รธน.ร่างแรก ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ กมธ.ยกร่างฯนำไปปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้จนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม

     โดยประเด็นที่สมาชิก สปช.ให้ความสนใจร่วมลงชื่ออภิปรายกันมาก คือ ภาคที่ 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง โดยเฉพาะประเด็นที่มาของ ส.ส.และ ส.ว. ระบบการเลือกตั้ง ว่าวิธีการที่ กมธ.ยกร่างฯเสนอมานั้น สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้จริงหรือไม่ ระบบการเลือกตั้งสามารถป้องกันการทุจริต ซื้อสิทธิขายเสียงได้จริงมากน้อยแค่ไหน ทำให้รัฐบาลมั่นคงเข้มแข็งได้นักการเมืองที่ดีได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจะเป็นอย่างไร นอกจากนั้น สมาชิก สปช.ได้ซักถามถึงการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่ามีไว้เพื่อทำอะไร และสามารถทำงานด้านปฏิรูปในระยะยาวได้จริงหรือไม่ 

     ทั้งหมดทั้งมวลเกี่ยวกับประเด็นการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ในภาคที่ 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ต่อข้อสังสัยในประเด็นต่างๆ คงต้องรอจากการชี้แจงจาก กมธ.ยกร่างฯ ที่จะอธิบายถึงหลักการและเหตุผลที่ได้บัญญัติร่างรัฐธรรมนูญออกมาตามร่างแรก ว่าจะมีเหตุผลเพียงพอต่อการที่จะปรับหรือไม่ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

      โดยล่าสุด'บิ๊กตู่'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมากังวลถึงความเชื่อมั่นทั้งของคนไทยและนานาชาติต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ถึงกับมีแนวคิดจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส มาเล่าประสบการณ์ถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปของประเทศนั้นๆ ให้กับคนไทยและนานาชาติได้รับฟัง

    สอดคล้องกับความเห็นส่วนใหญ่ของ กมธ.ยกร่างฯ ที่สะท้อนผ่าน "เจษฎ์ โทณะวณิก" หนึ่งใน กมธ.ยกร่างฯ ที่ออกมาเปิดเผยว่า ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ระบุว่า หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วประชาชนไม่เห็นชอบ จะต้องเริ่มต้นยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน ถ้าหากย้อนกลับไปเอารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็เชื่อว่าจะเป็นปัญหาเหมือนเดิม เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ทั้งหมด และถ้าต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมดแล้วจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่นั้น ก็คงเป็นเรื่องของอนาคต อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นขณะนี้พบว่าเสียงส่วนใหญ่ของ กมธ.ยกร่างฯ เห็นว่าควรมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้เหตุผลว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 มีความเข้มแข็ง คือ การทำประชามติ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ก็ควรจะมีการทำประชามติ

     แน่นอนแม้ว่า จะยังไม่มีมติอย่างเป็นทางการในการทำประชามติ แต่เสียงสะท้อนและท่าทีของผู้นำรัฐบาลและความเห็นของ กมธ.ยกร่างฯ ที่ออกมาหาวิธีสร้างความเชื่อมั่นให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมมีนัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม 

      เพราะรัฐธรรมนูญหรือเป็นกติกาสูงสุดที่จะมาบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ หากออกมาแล้วไม่ได้รับการยอมรับหรือความน่าเชื่อถือ ประเทศไทยคงต้องกลับเข้าสู่วงจรความขัดแย้งอีกเช่นเคย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!