WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คืนก่อนการก่อเกิด จาก'ประยุทธ์1'ถึง'บิ๊กตู่2'

Payut1

 

คืนก่อนการก่อเกิด จาก'ประยุทธ์1'ถึง'บิ๊กตู่2'

กระแสข่าวปรับ ครม.ที่แพร่สะพัดในเวลานี้ มีเหตุจาก 2-3 ประเด็น

     1. ปัญหาการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ที่โดนแทรกซ้อนด้วยปัจจัยต่างๆ มากมาย จากปัญหาราคาพืชผล สู่ภัยแล้ง โดยเฉพาะจากต่างประเทศ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจของโลก การลดความร่วมมือจากประเทศตะวันตก ธงแดงจากไอเคโอ การติดบ่วงเทียร์ 3 ฯลฯ 

     2. การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2557 แก้ไขเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. ที่ปลดล็อก เปิดโอกาสให้สมาชิกบ้านเลขที่ 111-109 เข้ามาเป็น รมต.และรับตำแหน่งอื่นได้ 

สองเรื่องที่มาบรรจบกัน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวภายในขั้วอำนาจ ขอให้ปรับเปลี่ยน โดยหยิบยืมกระแสจากสังคมภายนอก ที่มีการประเมินผลงานรัฐบาลจากฝ่ายต่างๆ 

      1 ปีที่ผ่านมา ปัญหาเศรษฐกิจเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขต่างๆ ตกวูบ ทำให้ทีมเศรษฐกิจที่นำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ กลายเป็นเป้าโดยอัตโนมัติ 

และทำให้ชื่อของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ คสช. ที่เดิมต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2557 โดดเด่นขึ้นมา

      ทั้งที่นายสมคิดเองไม่ได้แสดงท่าที และยังปฏิเสธเสมอ ด้วยเหตุผลมีปัญหาสุขภาพ 

ที่มาของข่าวปรับ ครม. จึงเป็นทั้งการเมืองใน คสช.เอง และแยกไม่ออกจากกระแสภายนอก ที่การทำมาหากินของประชาชนเริ่มยากลำบาก 

      ถ้าเป็นการเมืองปกติ บรรดา ส.ส.จะเป็นหูเป็นตา รับฟังและส่องดูทุกข์ร้อนชาวบ้าน 

      ในสถานการณ์พิเศษ ไม่มีสภาผู้แทนฯ คสช. เองต้องสร้างกลไก สดับตรับฟังเสียงต่างๆ 

      คงพอนึกออกว่าเรื่องอะไรที่จะดังเต็มสองหูของกลไกเหล่านี้ 

      โดยเฉพาะหัวข้อยอดฮิตอย่างเศรษฐกิจ ที่คะแนนของรัฐบาลไม่สวย กับข่าวความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชน ที่          รัฐบาลยังขาดความคล่องตัวในการแก้ไขจากสภาพเกียร์ว่างในระบบราชการ 

     นั่นคือที่มาที่ไปของข่าวปรับ ครม. 

       ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสของการออกมาตอบโต้ หักล้างข่าวปรับ ครม.ด้วยเหตุผลต่างๆ

     เพราะฝ่ายที่เป็นเป้าของการถูกปรับ ก็ยืนยันว่าตนเองทำงานสร้างผลงานเต็มที่ กระแสข่าวที่ออกมาต้องการเลื่อยขาเก้าอี้เท่านั้นเอง 

      อย่างกรณี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ที่ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ หรือ 'คุณปลื้ม' บุตรชาย ออกมายืนยันว่าบิดามีผลงาน พร้อมกับยกตัวอย่าง 15 เรื่อง

      พร้อมกับตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ไปวิจารณ์รัฐมนตรีสายทหารบ้าง หรือเห็นว่า หม่อมอุ๋ย เป็น Easy Target 

ก่อนที่หม่อมอุ๋ยจะเจอกระแสข่าวว่า ไปพูดในวงสนทนาว่า นายกฯไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจ แต่ตอบคำถามนักข่าวทุกเรื่อง

แม้เจ้าตัวยืนยันไม่ได้พูด แต่ คสช.ก็ยกหูตรวจสอบข่าวนี้อย่างจริงจัง

    หรือท่าทีของขุนคลัง นายสมหมาย ภาษี ที่กระทุ้งเข้มๆ ว่าข่าวปรับ ครม. เป็น 'ข่าวลือ'ที่กระทบความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ ทำให้หุ้นตก เพราะเมื่อ ครม.หวั่นไหว ก็ทำให้นักลงทุนกังวล แห่ขายหุ้น

     "รัฐต้องเอามาคิด เพราะรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ แต่ปล่อยให้เรื่องพวกนี้มีอยู่เต็มไปหมดไม่ได้ เพราะทำลายความเชื่อถือ ไม่ใช่เฉพาะของคนที่ถูกปล่อยข่าวเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อรัฐบาลทั้งคณะ ต้องจัดการคนที่ปล่อยข่าวลือว่าขั้นเด็ดขาด"

    นั่นคือ วาทะจากขุนคลัง ที่สัมพันธ์กับสภาพฝุ่นตลบ

     กระแสข่าวปรับ ครม.ที่นายกฯ ปฏิเสธก็จริง แต่มีน้ำเสียงแบ่งรับแบ่งสู้ ทำให้เกิดความเห็นสองทาง ทั้งสนับสนุนให้ปรับและไม่สนับสนุนให้ปรับ 

     กลายเป็นสงครามข่าว ที่ต่างคนต่างปล่อย 'ของ' ออกมาสู้กัน ผ่าน 'เครือข่าย'ของตนเอง 

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดกระแสข่าวปลด'บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ'รองนายกฯ รมว.กลาโหม และพี่ใหญ่ของ คสช.และรัฐบาล

      ข่าว พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.ที่จะเกษียณอายุราชการ ขยับจาก รมช.เป็น รมว.กลาโหมแทน 

พุ่งเป้าไปกระทบกระแทก พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ของรัฐบาลและ คสช.

อาจเป็นผลจากการที่ พล.อ.ประวิตร คือผู้สนับสนุนให้มีการปรับ ครม. และโยงไปถึงปัญหาการแต่งตั้ง ผบ.ทบ.คนใหม่ ที่ พล.อ.ประวิตร ส่งคนเข้าประกวดแบบ 'หวังผล' ด้วย 

      มีกระทั่งข่าวว่า พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ จะลาออก ทำเอาเลขาฯนายกฯที่ปกติสุภาพเรียบร้อย ถึงกับออกปากถึงการทำงานแบบไร้จรรยาบรรณของสื่อที่เสนอข่าวนี้โดยไร้มูลความจริง 

ความเป็นไปได้อย่างมากในขณะนี้ คือการนำเอานายสมคิดเข้ามานั่งในรัฐบาล พร้อมกับทีมรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญ ได้แก่ อาทิ คลัง พาณิชย์ และอุตสาหกรรม 

      ดังที่มีข่าวว่า อาจสลับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ จากกระทรวงพาณิชย์ ไปกระทรวงพลังงาน 

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ประสงค์ปรับเปลี่ยน ครม.ที่ร่วมหัวจมท้ายกัน ด้วยเหตุผลเรื่องความเกรงใจ แต่ใน ครม.เอง หลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา และนายกฯมีสิทธิดำเนินการ โดยไม่ต้องเกรงใจใคร

มีรายงานข่าวการปรับจะเกิดขึ้น อย่างเร็วในต้นเดือนหรือปลายเดือน ส.ค. 

ขณะที่บางส่วนใน ครม.เห็นว่า ในระยะนี้ มีปัญหาฝนฟ้าตกบ้างไม่ตกบ้าง เป็นวิกฤตดินฟ้าอากาศ การเปลี่ยนม้ากลางศึกไม่เหมาะ

      ควนรอให้พ้นเดือน ก.ย. หลังสิ้นปีงบประมาณ ข้าราชการเกษียณ จะได้มีตัวเลือกมากขึ้น 

อีกทั้งการโยกย้ายข้าราชการปีนี้เข้มข้น ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน 

จะมีคนสมหวัง อกหัก ฯลฯ อาจจะต้องมีการ "เยียวยา" 

     ก็อาจจะนำเอาบิ๊กๆ ทหารหรือข้าราชการใหญ่ๆ ที่เกษียณอายุราชการ มารับตำแหน่ง ผสมผสานการปลอบขวัญกับวางตัวคนที่เหมาะกับงาน 

     ดังนั้น แม้จะมีข่าวลือข่าวปล่อยผสมโรงบ้าง แต่แก่นแกนคือ ความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนตามสภาพเหตุการณ์ก็เห็นได้ชัด 

    การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ แม้ใน 'สถานการณ์พิเศษ'..ไม่ว่าจะพิเศษขนาดไหนก็ตาม

มติชนออนไลน์ :

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!