WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คืนความเป็นคนให้พระ

คืนความเป็นคนให้พระ


คอลัมน์ธรรมนัว โดย วิจักขณ์ พานิช 


      ในขบวนการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีพระเอกของขบวนการเป็นพระชื่อดังรูปหนึ่ง เรารู้จักเขากันดีในนาม"พุทธะอิสระ" ในการออกมานำทัพครั้งนี้ พุทธะอิสระประกาศกร้าวว่าไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ เป็นการเสียสละออกมาเองด้วยความสมัครใจ เพราะทนเห็นความไม่ถูกต้องชอบธรรมในบ้านนี้เมืองนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว การออกหน้าเป็นแม่ทัพนำการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเปิดเผยของพระภิกษุในพุทธศาสนารูปนี้ ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมากมาย ต่อสถานะและบทบาทของพระในพื้นที่ทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย สำหรับผม คำถามเหล่านี้มีความน่าสนใจ และน่าจะถูกนำขึ้นมาเป็นประเด็นพูดคุย และถกเถียงกันในวงกว้าง

พระกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง?

     โดยส่วนตัว ผมมองว่าการที่พระจะออกมามีส่วนร่วมทางการเมืองนั้นไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเลยครับ จะเป็นพระเสื้อแดง พระเสื้อเหลือง พระกษัตริย์นิยม พระบริโภคนิยม หรือพระประชาธิปไตย จริงๆ ก็น่าจะแสดงออกทางการเมืองกันได้อย่างเปิดเผยเสียที เพราะไหนๆ โดยโครงสร้างที่เป็นอยู่ พุทธศาสนาไทยก็มีความเป็นการเมืองอย่างยิ่งอยู่แล้ว 

      การห้ามไม่ให้พระเข้ามายุ่งเกี่ยวในพื้นที่ทางการเมืองแบบสมัยใหม่ ในทางปฏิบัติแล้ว "เป็นไปไม่ได้" เพราะอะไร? เพราะพระก็ใช้ชีวิตปฏิสัมพันธ์อยู่ในพื้นที่ทางการเมืองร่วมกับเรานี่แหละ ไม่ได้แยกตัวเองออกจากสังคมไปหลบอยู่ตามป่าตามเขาที่ไหน ทว่าการแสดงออกทางการเมืองของพระ มีจุดที่น่าตั้งข้อสงสัยเชิงหลักการอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือ สถานะเป็นผู้ถูกยกเว้นสิทธิเลือกตั้งของพระ ในทางกฎหมาย นักบวชในพุทธศาสนาถือเป็น "ผู้ไม่มีสิทธิทางการเมือง" นะครับรัฐธรรมนูญมาตรา 100 ระบุไว้ว่า 

     "บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ประเภทแรก ได้แก่ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช" ซึ่งเหตุผลของการยกเว้นสิทธิดังกล่าวก็น่าจะมาจากแนวคิดที่ว่า พระ คือ ผู้สละแล้ว ซึ่งทางโลก การมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของสมณะ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของพระที่จะได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง 

     แต่ถึงแม้จะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทุกวันนี้ เราก็ยังเห็นพระออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านสื่อกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน นอกจากนั้น พระยังเล่นการเมืองในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนหัวคะแนน นักการเมืองท้องถิ่น พรรคการเมืองระดับชาติ หรือแม้แต่การเมืองในคณะสงฆ์เอง เมื่อไม่ได้รับสิทธิทางการเมืองเหมือนประชาชนคนธรรมดาทั่วไป การเมืองของพระจึงมีความไม่ธรรมดา และมีสถานะเป็นการเมืองหลังฉากมาโดยตลอด สถานะความไม่มีสิทธิทางการเมืองยิ่งทำให้เส้นแบ่งและกฎเกณฑ์ที่ใช้กับพระขาดความชัดเจน เมื่อพระได้รับสถานะ "ยกเว้น" การยกเว้นนั้นก็กลายเป็นสิทธิพิเศษให้กับพระในหลายๆ กรณี 

      คำถาม ก็คือ ในเมื่อพระยังคงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมตามปกติ จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเวลาไปซื้อของ ใช้ถนนและระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ได้รับความคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินตามกฎหมาย ฯลฯ ดังนั้น พระก็น่าจะถูกนับเป็นพลเมืองของรัฐด้วยหรือไม่? หากเป็นเช่นนั้น แล้วทำไมนักบวชจึงจะได้รับสิทธิพื้นฐานทางการเมืองด้วยไม่ได้? หรือหากยืนยันว่าไม่ควร เพราะพระไม่ใช่ประชาชน แล้วบทบาททางสังคมและการเมืองของพระที่มีอยู่มากล้นในปัจจุบันล่ะ ควรถูกจำกัดหรือวางกรอบให้เป็นมาตรฐานเดียวอย่างสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่? 

หนึ่งเสียงที่ไม่เท่ากับหนึ่งสิทธิ?

     เมื่อไม่มีใครกล้าตั้งคำถามกับเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา พระก็จะยังคงรักษาสถานะทางการเมืองที่คลุมเครือและลักลั่นต่อไป ความไม่มีสิทธิทางการเมืองได้กลายเป็นอภิสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษ และการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของพระอย่างไม่มีหลักมีเกณฑ์ก็จะมีให้เห็นกันอีกเรื่อยๆ เมื่อหนึ่งเสียงไม่เท่ากับหนึ่งสิทธิ เสียงจะเบาจะดังก็ขึ้นอยู่กับว่าพระรูปนั้นเป็นใคร เป็นพระที่มากด้วยบารมีหรือไม่ มีมวลชนลูกศิษย์ของตนมากน้อยเท่าไหร่ และในบางกรณี สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ก็คือ 'พระทำอะไรก็ไม่ผิด'

     ความไม่มีสิทธิเท่ากับประชาชนทั่วไปของพระ เสมือนว่าพระไม่ใช่ประชาชนและมีสถานะพ้นไปจากการเมือง ทำให้ 'ความเป็นพระ'เป็นการเมืองอย่างยิ่งในทุกๆ ด้าน ความไม่มีสิทธิทางการเมืองเหมือนชาวบ้าน ทำให้เสียงของพระไม่เท่ากับเสียงของชาวบ้านตามไปด้วย วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพระจึงเป็นส่วนสำคัญที่ค้ำจุนสำนึกการเมืองแบบคนไม่เท่ากันเอาไว้ เมื่อพระไม่ใช่ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ไม่น่าแปลกที่จะเห็นพระไม่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง และไม่ฟังเสียงของประชาชนตามไปด้วย

     พุทธะอิสระออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้ ไม่ใช่ในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิในการเลือกตั้งนะครับ แต่พุทธะอิสระนำขบวนการต่อสู้ในฐานะพระ และในฐานะอภิสิทธิ์ชนที่อยู่เหนือการเมือง พุทธะอิสระอ้างว่า การออกมาเรียกร้องทางการเมืองไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง แต่เพื่อผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง (ด้วยการไม่เคารพสิทธิทางการเมืองของคนอื่น?) เขาทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง เขาอ้างคำของพุทธทาสที่ว่า 'ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่'(ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าประชาชนในทรรศนะของเขาหมายถึงใคร และเขามองตัวเองในฐานะประชาชนเท่ากับคนอื่นๆ ด้วยหรือไม่) และล่าสุดพุทธะอิสระยังเสนอให้มีการจัดตั้ง'สภาศีลธรรมและคุณธรรมแห่งชาติ'ซึ่งเขาเชื่อมั่นว่าจะช่วยนำพาประเทศชาติพ้นจากวิกฤตได้

     การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพุทธะอิสระสะท้อนความพยายามมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบพระที่ไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์และการเคารพกติกาทางโลก ทุกข้อเสนอ ทุกการกระทำถูกอ้างถึงในฐานะความดี คุณธรรม และความถูกต้องสูงสุด สัมพันธ์อยู่อย่างแนบแน่นกับความจงรักภักดีที่มีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยิ่งไปกว่านั้น พุทธะอิสระยังอ้างความชอบธรรมในนามธรรมะอีกด้วย เพราะเขาคือผู้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ดำรงตนอยู่ในพระธรรมวินัย และมีพระไตรปิฎกเป็นธรรมนูญ ทุกการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาอ้างความชอบธรรมตามหลักศาสนาที่เขาศรัทธานับถือ ราวกับความยึดมั่นในศรัทธาอันแรงกล้านั้นจะสามารถกำหนดความถูกต้องทางการเมืองให้กับคนทุกคนในประเทศนี้ได้โดยไม่ควรมีใครตั้งคำถาม 

    และนี่คือตัวอย่างของการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบพระ ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพูดคุย แลกเปลี่ยน และถกเถียงด้วยเหตุผล ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันบนความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และที่สำคัญ ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานประชาธิปไตยที่วัดความชอบธรรมผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ เขาเชื่อว่าความถูกต้องทางศาสนาและความถูกต้องทางการเมืองจะอยู่ข้างเดียวกับเขาเสมอ นั่นคือข้างของธรรมะ และธรรมะจะต้องชนะอธรรมอย่างไม่มีข้อแม้ เมื่อยิงคำถามใส่พระ แล้วพระจนมุมด้วยเหตุผล สิ่งที่จะถูกงัดออกมาใช้ ก็คือการอ้างพระพุทธเจ้า ราวกับรู้ดีว่าพระพุทธเจ้าจะเข้าข้างตัวเองเสมอ หรือไม่ก็งัดพระไตรปิฎก ราวกับว่าทั้งหมดในนั้นสอดคล้องกับความคิดและคำพูดของตนเสมอ ความศักดิ์สิทธิ์ตั้งคำถามไม่ได้ต่อพระพุทธเจ้าและพระไตรปิฎกคืออาวุธที่ใช้สร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำอันไร้ขอบเขตของตนและปิดปากคนไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถาม มันคือกลยุทธ์ที่ปัญญาอ่อนแต่ทรงพลังที่สุดของ Buddhist Fundamentalism ซึ่งกำลังกลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่แพร่หลายในหมู่พระไทยจำนวนมาก

     หากพระจะเชื่อในลัทธิยึดมั่นศาสนาสุดขั้ว (Religious Fundamentalism) แบบนั้นจริงๆ ก็ไม่มีปัญหาครับ ตราบใดที่ยังไม่ไปไกลถึงขนาดใช้ความรุนแรงไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น แต่หากจะทำให้ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นมาตรฐานเดียว สังคมไทยจะต้องผลักดันให้มีการ "คืนสิทธิเลือกตั้งให้กับพระ" (religious disenfranchisement) เมื่อนั้นนักบวชในพุทธศาสนาจะมีสถานะเป็นประชาชนคนธรรมดา สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ มีส่วนร่วมทางการเมืองได้ สนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบได้อย่างเปิดเผย และเคารพการเลือกตั้งในฐานะพื้นฐานที่สำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หากพระรูปใดจะยึดหลักของความเป็นสมณะ แล้วสละสิทธิ์ทางการเมืองเป็นกรณีๆ ไป ก็สามารถทำได้ ผลคือไม่ว่าจะเป็นเสียงดัง เสียงค่อย เสียงเทศน์ เสียงนรก หรือเสียงสวรรค์ ก็จะเป็นเสียงที่มีสิทธิเท่ากันในทางการเมือง 

      ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ว่าพุทธศาสนาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ในทรรศนะของผม พุทธศาสนาในโลกสมัยใหม่ควรเข้าไปสัมพันธ์และมีส่วนร่วมกับสังคมและการเมืองเป็นอย่างยิ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคืนสิทธิเลือกตั้งให้กับพระ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เสียงของพระถูกนับเป็นหนึ่งเสียงเท่ากับคนธรรมดาสามัญ และน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดที่สุดต่อสถานะอันลักลั่นของพระกับการเมือง

หน้า 6 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม 2557 

'ปู'พ้น-รบ.ยังอยู่ 'แพ้-ชนะ'ในการศึก แต่สงครามยังไม่จบ
วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 วิเคราะห์
    การเมืองเดินเข้าสู่โซนอันตรายมากขึ้นไปอีก
     เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยมติ 9-0 ตัดสินให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากสถานะนายกรัฐมนตรี จากการย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

     ตามมาด้วยการตัดสินของ ป.ป.ช.ในวันต่อมา ชี้มูลความผิดนายกฯว่าละเลย เพิกเฉย ไม่รับฟังคำเตือนเรื่องจำนำข้าว
     ส่งเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอน ด้วยมติ 3 ใน 5 หรือ 90 เสียงจาก ส.ว.ทั้งหมด 150 คน ซึ่งจะมีโทษถึงเว้นวรรคการเมือง 5 ปี
    และยังมีสำนวนอาญา รอ ป.ป.ช.สรุปส่งอัยการเพื่อฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
      ถ้าเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่จะมีโทษจำคุกด้วย
      เป็นนายกฯคนแรกที่พ้นจากตำแหน่งนายกฯถึง 3 ครั้ง หนึ่ง จากการยุบสภา สอง จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และจากมติชี้มูลของ ป.ป.ช.
      คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำให้เกิด... 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!