WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดโรดแมปรายมาตรา




คำนูณ สิทธิสมาน, บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์, บรรเจิด สิงหเนติ

หมายเหตุ - นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายบรรเจิด สิงหเนติ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ของคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเริ่มต้นพิจารณาตั้งแต่วันที่ 12 มกราคมเป็นต้นไป

คำนูณ สิทธิสมาน

โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

      สำหรับ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา จะเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 มกราคม เป็นต้นไปนั้น วันที่ 12-16 มกราคม เป็นการพิจารณาในภาคที่ 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน เริ่มต้นจากบททั่วไปประกอบด้วย 7 มาตรา และในหมวด 1 พระมหากษัตริย์ 18 มาตรา ส่วนหมวดที่ 2 ประชาชน แบ่งเป็น 4 ส่วน ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง 4 มาตรา ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล 36 มาตรา ส่วนที่ 3 ส่วนร่วมทางการเมือง 3 มาตรา ส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ 3 มาตรา จากนั้นจะมีหมวดที่ 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ 18 มาตรา รวมทั้งสิ้นในสัปดาห์แรกจะมีการพิจารณารวมแล้ว 89 มาตรา โดยเปิดให้สื่อมวลชนรับฟังเป็นส่วนใหญ่ แต่ยกเว้นอาจจะมีบางส่วน อาจจะเป็นการภายใน ไม่อาจเปิดให้รับฟังได้ก็จะแจ้งให้ทราบแล้วมีการแถลงข่าวภายหลัง อย่างไรก็ตาม ในหมวดว่าด้วยเรื่องพระมหากษัตริย์กับประชาชน เนื้อหาส่วนใหญ่จะยังเหมือนเดิมจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ในหมวดดังกล่าวจะมีความน่าสนใจ มีการปรับในเรื่องสิทธิเสรีภาพ แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ โดยจะปรับและมีเนื้อหามาตรามากที่สุด อย่างเช่นในสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลจะอยู่ที่ 36 มาตรา และแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ 18 มาตรา

    หลังจากมีการพิจารณาในสัปดาห์แรกในภาคที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ยังไม่ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าจะมีการพิจารณาในภาคใดต่อ คงต้องดูเรื่องของความเหมาะสมก่อน แต่ตามตารางเดิมที่มีการวางไว้คือจะพิจารณาในภาคที่ 3 ในเรื่องของนิติธรรม ศาลและองค์กรการตรวจสอบ จากนั้นจึงพิจารณาในภาคที่ 2 และ 4 ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในภาค 2 ในเรื่องของระบบการเลือกตั้ง และการได้มาของผู้นำสูงสุดในประเทศ ที่ดูเหมือนจะยังตกลงกันไม่ได้ในชั้นกรรมาธิการ คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาในการร่างในรายมาตรา เพราะมีการตกลงกันไปแล้ว เพียงแต่รอการขัดเกลาให้มีความชัดเจนก่อนการร่างรายมาตราเท่านั้นเอง และเมื่อเห็นตัวรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว หากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เราสามารถแถลงชี้แจงได้ในทุกส่วน เพียงแต่วิธีการทำงานเราก็จะทยอยพิจารณาไป อย่างเช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรีก็เป็นไปตามที่ได้นำเสนอต่อสื่อมวลชน เพียงแต่ต้องมีการปรับในรายมาตราให้เกิดความชัดเจนขึ้น โดย กมธ.ทุกคนสามารถเสนอปรับแก้ได้

     สำหรับ กรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้ประชาชนสามารถยื่นชื่อถอดถอนนักการเมืองได้ ตอนนี้ถือเป็นฉันทามติแล้วว่าจะนำเข้ามาพิจารณาในการร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราด้วย เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของการจัดการกับคนทุจริต คอร์รัปชั่น ทางสภาไม่สามารถถอดถอนได้ จึงให้ประชาชนยื่นชื่อเข้ามาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยมีโทษต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์

กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

      สำหรับ การยกร่างรายมาตรา ในวันที่ 12 มกราคม เริ่มไล่จากหมวดทั่วไป สิทธิและหน้าที่ หมวดพระมหากษัตริย์ และจะจบในสัปดาห์นี้ ด้วยเรื่องของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาที่ใช้ ก็ตามที่เคยมีการแถลงไปก่อนหน้านี้ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่วนการทำงานของกรรมาธิการยกร่างยังใช้เวลาตามวันทำงานราชการปกติ แต่ทั้งนี้ในช่วงการพิจารณาตอนปลาย หากมีความล่าช้าจริงก็อาจจะใช้วันเสาร์อาทิตย์ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากถามว่าร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จทันหรือไม่ ตามกำหนดการวันที่ 17 เมษายนนั้น ตรงนี้ยังไม่มีใครประเมินได้ขึ้นอยู่กับการแปรญัติติต่างๆ จะมากมายเพียงไหน ถ้ามีการขอเพิ่มเติมมากก็อาจจะดีเลย์หน่อย แต่ในทางกลับกันอาจจะมีน้อยกว่าที่คาดไว้ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าต้องทัน ต้องทำให้ทัน ไม่อย่างนั้นก็ต้องหยิบปี๊บคุมหัว ส่วนเรื่องที่มีการถกเถียงอย่างเรื่องที่มานายกรัฐมนตรีนั้นจะเป็นส่วนจะทำให้เวลายืดไปหรือไม่นั้น อยู่ที่การแปรญัติ แต่กติกาใหญ่ คือ สาระสำคัญเดิมแปรญัตติไม่ได้ แปรญัตติได้ในเรื่องรายละเอียดเท่านั้น 

     ตัวอย่างในหมวดต่างๆ หมวดพระมหากษัตริย์ตรงนี้ยังคงใช้รูปแบบเดิม คือ ใช้ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ 50 ส่วนในเรื่องสิทธิพลเมือง หลักการ คือ แยกชัดเจนมากขึ้นระหว่างสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง โดยสิทธิมนุษยชน คือ คุมหมดไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่รวมถึงคนที่เข้ามาทำมาหากินและอาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย แม้บางสิทธิอาจจะไม่ได้เท่าคนไทย แต่ก็ดีขึ้น ส่วนด้านสิทธิพลเมืองก็เป็นเรื่องของประชาชนชาวไทย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้หากถามว่าร่างรัฐธรรมนูญจะมีกี่มาตรา ยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะยังไม่เห็นทั้งหมด ตอนนี้สิ่งที่แจกแก่ กมธ.ยกร่างฯมีถึงเพียงหมวดแนวนโยบายของรัฐ จึงทำให้ประเมินยากว่าถ้าออกมาทั้งหมดจะมีเท่าไหร่

   ส่วนเรื่องการจะให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้นั้น เป็นความพยายาม จะเปิดการใช้อธิปไตยทางตรงของประชาชนให้มากขึ้น ที่มีการเสนอออกมาหลายรูปแบบ การถอดถอนเป็นช่องทางหนึ่ง หลักนี้เห็นด้วย แต่ทั้งนี้กติกาจะเป็นอย่างไร ตรงนี้ยังไม่ได้ลงรายละเอียดกัน อย่างจำนวนเข้าชื่อถอดถอนเท่าไหร แต่เท่าที่เห็นร่าง คือใช้ในโอกาสเดียว จะใช้ตอนที่มีการเลือกตั้งจะได้ไม่ต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการถอดถอนโดยเฉพาะ แต่รายละเอียดลึกลงไปกว่านี้ยังไม่มีการพูดคุย อย่างไรก็ตาม การจะถอดถอนวิธีนี้ได้ แนวปฏิบัติคือต้องเป็นการถอดถอนที่มีมูล โดยมีกระบวนการถอดถอนขององค์กรอิสระที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวบรวมสำนวนส่งมาที่สภา แล้วดำเนินการตามขั้นตอน สุดท้ายมีมติไม่ถอดถอน จึงนำมาให้ประชาชนตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อย่างไรก็ตาม ที่หลายคนวิตกว่าเป็นยาแรงเกินไปหรือไม่ เพราะผู้ที่ถูกถอดถอนโดยประชาชนจะถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตนั้น ตรงนี้ยังไม่ได้มีข้อยุติออกมาว่าจะเป็นอย่างไร สำหรับบทลงโทษ จะตัดสิทธิทางการเมือง ห้าปี สิบปี หรือตลอดชีวิต 

บรรเจิด สิงหเนติ

กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ

    ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเริ่มพิจารณาเป็นรายมาตรา เริ่มต้นตั้งแต่บททั่วไปของภาคที่ 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน จะประกอบด้วย หมวด 1 พระมหากษัตริย์ และหมวด 2 ประชาชน ในหมวดดังกล่าว จะแบ่งย่อยอีกหลายส่วน ไม่ว่าความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง สิทธิเสรีภาพ ส่วนร่วมทางการเมือง และส่วนร่วมในการตรวจสอบ

     โดยในภาคที่ 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน เนื้อหาส่วนใหญ่จะคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากของเดิมมาก การลงรายมาตราของคณะ กมธ.ยกร่างฯ จะเริ่มต้นขึ้นในวันดังกล่าว เป็นการพิจารณาจากเนื้อหาของคณะอนุ กมธ.ยกร่างกรอบรัฐธรรมนูญที่มี นางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการยกร่างฯเป็นประธาน ที่ได้ทำงานกันในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา และนำเสนอให้ กมธ.ยกร่าง

     กมธ.ยกร่างฯแต่ละคนก็จะพิจารณา ในภาค 1 โดยใช้ร่างของคณะอนุ กมธ.ยกร่างกรอบรัฐธรรมนูญมาเป็นกรอบว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร โดยจะเปิดให้ผู้สื่อข่าวติดตามเนื้อหาของการประชุมได้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังเสร็จจากภาค 1 แล้วก็จะมีการพิจารณาเป็นลำดับๆ ต่อไป จะเป็นส่วนใดนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดตายตัว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!