WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ชูตั้งศาลชำนาญพิเศษ-ขจัดคอร์รัปชั่น


มติชนออนไลน์ :สัมภาษณ์พิเศษ

     หมายเหตุ - นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'มติชน' ถึงแนวทางการทำงานและการต่อต้านการทุจริตในสังคมไทย....

    รัฐบาลมีคณะกรรมการอยู่ชุดหนึ่ง เรียกว่าเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ในการต่อต้านการทุจริต เป็นไปตามกฎหมายเดิมซึ่งมีนายกฯเป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วยหัวหน้าองค์กรในภาครัฐทั้งหมด เป็นขาหนึ่งของ คสช. ขาที่ 2 นั้น หัวหน้า คสช.มาเป็นประธานเอง และตั้งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ในคณะกรรมการชุดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้ตำแหน่งเป็นหัวหน้า คสช. นอกจากจะมีแต่ภาครัฐ เช่น กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ หน่วยราชการต่างๆ ก็มีการรวมเอาองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการต่อต้านการทุจริต คือองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่นเข้ามาด้วย และรวมกับนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่ง

       หน้าที่นั้นจะทำเรื่องนโยบายและมาตรการเร่งด่วนต่างๆ อะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วนก็จะทำ ตัวอย่างเช่น ในการประชุมครั้งแรกก็ได้มีมติว่า ให้มีการทำสัญญาคุณธรรมกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ของรัฐบาล ก็เริ่มจากโครงกร 2 โครงการแรก คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กับโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน มีการทำสัญญากันระหว่างภาครัฐกับเอกชน และคนที่ประมูลงานได้ ถ้าหากในอนาคตมีการตรวจพบว่ามีการไปฮั้วประมูล ก็จะถูกถอนสัญญาคืนและจะมีบทลงโทษ และห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการประมูลงานของรัฐตลอดไป อีกอันหนึ่งคือมีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนที่เข้ามาดูแลตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ในโครงการขนาดใหญ่ เช่น เข้ามาตรวจทีโออาร์ ดูกระบวนการต่างๆ จนจบ ซึ่งตรงนี้เป็นแนวทางเริ่มต้น ต่อไปก็คงจะออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ต่อไปทุกโครงการของภาครัฐต้องมีการทำสัญญาคุณธรรม 

ความแตกต่างระหว่าง คตช., คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

ป.ป.ช.นั้นเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เรื่องของการตรวจสอบการอำนาจในทางมิชอบของนักการเมืองและข้าราชการตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไป ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาล และมีอำนาจตรวจสอบรัฐบาลด้วยว่าใช้อำนาจในทางมิชอบหรือเปล่า หรือการจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสหรือไม่ ส่วน ป.ป.ท.ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตเฉพาะข้าราชการที่ต่ำกว่าระดับ 8 ลงมา อยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม เพราะฉะนั้นผู้บังคับบัญชาของ ป.ป.ท.คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วน คตช.นั้นเป็นองค์กรของรัฐ จะคล้ายกับ ป.ป.ท. แต่มีอำนาจมากกว่า คตช.เป็นองค์กรภาครัฐที่ตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะกิจเฉพาะรัฐบาล คสช.เท่านั้น และเป็นกลไก เครื่องมือของ คสช. เพราะฉะนั้นอำนาจตรงนี้แตกต่างกับ ปปท.ก็คือ อำนาจของ คตช.นั้นจะกว้างขวางกว่า และไม่เหมือนกับปปช.เพราะว่า คตช.จะไม่ไปตรวจสอบนักการเมือง อำนาจหน้าที่มันคนละอย่างกัน แต่เขาจะคอยตรวจสอบการทุจริตเฉพาะในรัฐบาลชุดนี้เท่านั้น เมื่อรัฐบาลชุดนี้หมดอำนาจลง คสช.สลายตัวไป คณะกรรมการชุดนี้ก็จะหายไป เพราะเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจ ทั้งนี้ คตช.ไม่มีอำนาจลงโทษ แต่จะเข้าไปตรวจสอบ ถ้าหากพบว่ามีการทุจริตก็จะใช้หน่วยงานที่ทำงานเรื่องการตรวจสอบการทุจริตเข้าไปลงโทษ 

นอกจากข้อตกลงคุณธรรมแล้ว คตช.มีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

จะออกเป็นมติ ครม.ในเรื่องของสัญญาคุณธรรมในโครงการต่อๆ ไปที่มีขนาดใหญ่ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยราชการต้องมีการทำสัญญาคุณธรรมและมีผู้สังเกตการณ์ และผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งตรงนี้จะมีความสำคัญ เพราะว่าจะมีบทลงโทษด้วย พ.ร.บ.นี้จะเข้ามาแทนที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเพียงระเบียบ ซึ่งมีจุดอ่อน มีช่องโหว่ ดังนั้น พ.ร.บ.ตัวนี้จะเข้ามาใช้กับหน่วยงานทั้งในภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ฉะนั้น การควบคุมการโกงก็จะดีขึ้น ซึ่งทาง คตช.จะวางรากฐานไว้ให้รัฐบาลต่อๆ ไปด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าคนที่ใช้อำนาจนี้ไปโดยมิชอบ คนก็อาจจะไปฟ้องศาลปกครองได้เช่นกัน เพราะถือว่า คตช.เป็นองค์กรของภาครัฐ แม้จะเป็นองค์กรเฉพาะกิจ แต่ถ้าหากมีการไปประพฤติในทางส่อทุจริต นักธุรกิจหรือหน่วยงานภาครัฐก็สามารถฟ้องได้

ข้อเสนอของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ให้ตั้งศาลฉ้อราษฎร์เป็นจริงได้หรือไม่

คณะอนุกรรมาธิการฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบที่ผมเป็นกรรมการอยู่ และคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพที่ผมเป็นประธานอยู่นั้น ก็จะมีการเสนอให้จัดตั้งศาลชำนาญพิเศษด้านคอร์รัปชั่นขึ้นมา ค่อนข้างชัดเจน เพราะว่าคณะของ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ก็เห็นด้วยว่าควรจะมีการจัดตั้งศาลชำนาญพิเศษด้านคอร์รัปชั่นขึ้นมา และผมคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นที่ยอมรับกันมาก เพราะเราก็พูดกันมากใน สปช.ว่าการปฏิรูปคราวนี้ต้องทำยังไงให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้น เราก็มองดูแล้วว่า งานของ ป.ป.ช.นั้นมีจำนวนมากแล้วยังไม่สามารถที่จะจัดการได้ดี เพราะว่ากรรมการทั้ง 9 ท่าน ต้องลงมาเป็นประธานทุกคดี ทำให้เหลือคดีค้างคาจำนวนมาก เราก็มองว่าควรต้องมีการปรับปรุงองค์กร ป.ป.ช.ให้มีหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการให้ดีขึ้น รวมทั้งควรจะมีศาลชำนาญพิเศษเพื่อให้มีผู้พิพากษาที่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องนี้โดยเฉพาะ จะทำให้การพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตนั้นรวดเร็วขึ้น เราก็สนับสนุนแนวคิดของ พล.อ.เปรม 

การทำงานของศาลชำนาญพิเศษด้านคอร์รัปชั่น

ศาลโดยปกติที่ ป.ป.ช.ทำคดีนั้น จะต้องส่งไปที่อัยการก่อน แล้วถ้าหากมีความผิดจะส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เราก็มองว่าขั้นตอนนี้ค่อนข้างใช้เวลามาก และนักกฎหมายที่มาพิจารณานั้นชำนาญกฎหมายอาญากับแพ่ง แต่เรื่องการคอร์รัปชั่นมันมีความหมายที่กว้างขวาง ทั้งทุจริต การเล่นพรรคเล่นพวก การแต่งตั้งโยกย้ายกับคนที่เป็นเครือญาติ พรรคพวก ก็อยู่ในความหมายคอร์รัปชั่นของสหประชาชาติทั้งนั้น เราอยากได้ผู้พิพากษาที่มีความรู้เรื่องคอร์รัปชั่นโดยตรง และจัดตั้งเป็นศาลชำนาญการพิเศษในการรับเรื่องราวต่างๆ ในเรื่องของ ป.ป.ช.ได้เร็วขึ้น 

"อาจจะมี 2 ศาล คือ ศาลชำนาญการพิเศษด้านคอร์รัปชั่น และอาจจะมีศาลอุธรณ์ก็ได้ แต่ตรงนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ อาจจะจบที่ศาลเดียวเลยก็เป็นได้ หรือหากไม่แน่ใจก็อาจจะส่งไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งหากเป็นนักการเมือง หากเป็นข้าราชการก็อาจจะไม่ต้อง เพราะปกติข้าราชการจะไปคดีอาญา ทั้งนี้ การคอร์รัปชั่นนั้นมากกว่าคดีอาญาปกติ มันเป็นการทรยศต่อชาติ และวิธีการคอร์รัปชั่นก็สลับซับซ้อนมากขึ้น มากกว่าที่ความเข้าใจว่าเป็นคดีอาญาตามปกติ เพราะฉะนั้นการพิจารณาคดีก็จะรวดเร็วขึ้น ผู้พิพากษาก็จะทำงานเร็วเนื่องจากเป็นคนที่ถูกฝึกอบรมมาในเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นสมัยใหม่ คิดทันคนที่ทุจริต" 

ความพยายามเพิ่มอำนาจการตรวจสอบต่อต้านคอร์รัปชั่นจะกลายเป็นดาบสองคมหรือไม่?

รัฐบาลบางรัฐบาลใช้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบทรัพย์สินและข่มขู่คนที่คิดต่างจากรัฐบาล ไปใช้วิธีอายัดทรัพย์สินเขา ทั้งๆ ที่เขาเป็นสื่อมวลชน เป็นผู้นำสหภาพแรงงาน เป็นผู้นำเกษตรกร นักการเมืองจำนวนหนึ่งใช้เครื่องมือเหล่านี้ ใช้ ป.ป.ท.ไปกลั่นแกล้งคนอื่น รวมทั้งการส่งคนเข้าไปแทรกแซง ไปเป็นกรรมการตามองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช. ก็เป็นสนามที่นักการเมืองพยายามเข้าไปแย่งชิงและมีอำนาจเหนือองค์กรเหล่านี้ ก็เป็นความจริง เพราะองค์กรไหนมีอำนาจตรวจสอบรัฐบาลได้ ก็จะไม่มีรัฐบาลไหนชอบ เขาก็ต้องหาทาง หากแทรกแซงไม่ได้เข้าก็อยากจะยุบทิ้งไป

"ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงคราวนี้ก็คงมีการเพิ่มอำนาจการตรวจสอบของภาคประชาสังคมมากขึ้น ผมคิดว่านี่เป็นกระแสใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งใน สปช.เองก็มีการพูดถึงมากขึ้น ที่จะต้องให้มีภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องของการกำหนดนโยบายต่างๆ รับฟังความคิดเห็น ตรวจสอบ ผมคิดว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้รวมทั้งในกฎหมายลูก จะมีการเพิ่มอำนาจให้แก่ภาคประชาสังคมในการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองและข้าราชการ เจ้าหน้าที่ประจำมากขึ้น" 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!