WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      ดัชนี ผันผวน ดอลลาร์แข็งค่า กดดันน้ำมัน (PTTEP และ PTT) และทองคำอ่อนตัว ระยะสั้นแนะนำให้ขายทำกำไรหุ้นรายตัว โดยให้ถือหุ้นไม่เกิน 40% ของเงินลงทุน วันนี้ยังเลือก SAMART(FV@B32) เป็น Top pick ฟื้นตัวแรงใน 2H57 และเติบโตต่อเนื่อง 23% ในปีหน้า

ความเสี่ยงต่อการปรับลด GDP โลกเพิ่มขึ้น
      ความกัวงลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่ทั้งในกลุ่มพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา ทั้งนี้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มีความเห็นว่าประเทศที่น่าเป็นห่วงมีอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ สหภาพยุโรป ซึ่งล่าสุดพบว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ 0.3% และอัตราการว่างงานสูงถึง 11.6% โดยปัญหามิได้เกิดกับประเทศขนาดเล็กในกลุ่ม แต่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง เยอรมัน และ อิตาลี ก็กำลังเผชิญปัญหาเช่นกัน ตามมาด้วย ญี่ปุ่น ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ จากการขึ้นภาษีขายอีก 3% เมื่อเดือน เม.ย. และ จีน ที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ OECD มองว่าสหรัฐ อังกฤษ และ แคนาดา ยังฟื้นตัวในลักษณะทรงตัว ซึ่งพัฒนาการในลักษณะดังกล่าวทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ไม่อาจจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย ขณะที่ IMF เตรียมปรับลด GDP Growth ของโลกปีนี้ลงจากที่ประเมินครั้งก่อนหน้าที่ระดับ 3.4% และจะเปิดเผยราวต้นเดือน ต.ค. ซึ่งปัจจัยนี้อาจจะกลับมากดดันตลาดหุ้นโลกอีกรอบ

เงินดอลลาร์แข็งค่ากดดันน้ำมันและทองคำ
      เศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและหนุนให้มีการขึ้นดอกเบี้ยในกลางปีหน้า สะท้อนได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Government Bond Yield) 10 ปี ดีดขึ้นเหนือ 2.5% ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้เงินดอลลาร์ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลของโลก ทั้งนี้ล่าสุด Dollar Index อยู่ที่ระดับ 84.196 หรือปรับขึ้นกว่า 6% (นับจากเดือน ก.ค. ที่ระดับ 79.8) และสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2556 สวนทางกับเงินสกุลหลักของโลกอ่อนค่าลง อาทิ เงินยูโรอ่อนค่าลงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรป และปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ไครเมีย ตามมาด้วย เงินเยนอ่อนตัวลง จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวหลังจากที่มีการขึ้นภาษีขายในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และเช่นเดียวกับดอลลาร์ออสเตรเลียลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนจากผลกระทบราคาสินแร่เหล็กที่ลดลงและ demand สินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงจากจีน ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคเอเซียอ่อนตัวเล็กน้อย ยกเว้นเงินปอนด์ที่แม้จะแข็งค่าขึ้นมาแต่ยังมีความเสี่ยงจากความกังวลเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชของสก็อตแลนด์
      ในสถานการณ์เงินดอลลาร์แข็งค่า ได้กดดันสินค้าโภคภัณฑ์มีทิศทางขาลงมาโดยตลอด โดยเฉพาะน้ำมันดิบโลก ล่าสุดน้ำมันดิบดูไบลงที่ 96.25 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน และมีแนวโน้มที่จะลงไปได้ถึง 90 เหรียญ/บาร์เรล นอกจากนี้คาดว่าเกิดจากปัญหาปริมาณผลผลิตน้ำมันดิบโลก ที่ยังอยู่ในภาวะเกินความต้องการ จากกำลังการผลิตปัจจุบันของ OPEC ที่ 30.347 ล้านบาร์เรล/เดือน (เดือน ส.ค. แม้ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก กำลังการผลิตลดลงถึงวันละ 4.08 แสนบาร์เรล แต่ว่ากลับมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากประเทศลิเบียในระดับใกล้เคียงกัน) ขณะเดียวกัน OPEC เตรียมปรับลดประมาณการ ความต้องการน้ำมันโลกลงในเร็วๆ นี้ เพื่อลดผลกระทบจากสินค้าทดแทนอย่าง shale gas และ shale oil ขณะที่ demand จากสหรัฐเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งอาจจะทำให้ OPEC มีแผนลดกำลังการผลิตลง
     ขณะที่ EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ สิ้นสุด 5 ก.ย. 2557 ลดลง 9.72 แสนบาร์เรล อยู่ที่ 358.6 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าคาด ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่นกลับเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านบาร์เรล ที่ 127.5 ล้านบาร์เรล, สต็อกน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล สู่ 212.4 ล้านบาร์เรล (อัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 0.6%) แม้ว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐจะลดลง แต่การที่เงินดอลลาร์แข็งค่า จึงเป็นเหตุให้น้ำมันดิบอ่อนตัวลง ซึ่ง ณ ระดับปัจจุบันเริ่มต่ำกว่าสมมติฐานของ ASP ที่กำหนดไว้ที่ 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล จึงคาดว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะ PTTEP (FV@B 195) จึงแนะนำให้ชะลอการลงทุนไปก่อน

ต่างชาติพลิกมาขายหุ้น หลังซื้อต่อเนื่อง 16 วัน
      วานนี้นักลงทุนต่างชาติพลิกมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค ราว 423 ล้านเหรียญฯ หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 16 วันก่อนหน้า เริ่มจากไต้หวัน ที่สลับมาขายสุทธิอย่างหนักถึง 350 ล้านเหรียญฯ (หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 4 วันก่อนหน้า) ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 69 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่าจากวันก่อนหน้า) ขณะที่ไทยพลิกมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 7 ล้านเหรียญฯ (223 ล้านบาท, หลังจากซื้อสุทธิติดต่อกัน 7 วันก่อนหน้า) กลับกัน ฟิลิปปินส์สลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 3 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขาย 3 วันหลังสุด) ส่วนตลาดในเกาหลีใต้ยังคงปิดทำการเนื่องจากเทศกาลไหว้พระจันทร์เช่นเดิม
     เป็นที่สังเกตว่านักลงทุนสถาบันไทยยังคงขายสุทธิต่อเนื่องถึง 7 วัน รวม 4.9 พันล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับที่ ASP เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ (อ่านรายละเอียดในกลยุทธ์การลงทุน แรงหนุน Fund Flow เหลือน้อย เน้นหุ้น Market Cap กลาง-เล็ก เมื่อ 23 ก.ย. 2557) กล่าวคือ การถือเงินสดสุทธิของสถาบันในประเทศ ได้ลดลงตามลำดับจนเหลือเพียง 3.57% ของเงินกองทุนทั้งหมด (NAV 8.25 แสนล้านบาท) หลังจากสถาบันในประเทศได้ซื้อหุ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่ต้นปี 2556 จนถึงปัจจุบันมียอดซื้อสุทธิสะสม 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งระดับเงินสดที่ต่ำดังกล่าว สะท้อนว่าได้มีการลงทุนเต็มที่แล้ว หลังจากนี้น่าจะมีแต่ขายกับขายอย่างเดียว
        แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากต้นปี 2557 จนถึงปัจจุบันพบว่ายังมียอดซื้อสุทธิสะสมราว 3.3 หมื่นล้านบาท ทำให้เชื่อว่าน่าจะยังมีแรงขายกดดันดัชนีเพิ่มเติมจากนักลงทุนกลุ่มนี้อยู่ ขณะที่ในตลาดตราสารหนี้ของไทย นักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิราว 4.4 พันล้านบาท กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแตะระดับ 32.17 บาทต่อเหรียญฯ และน่าจะเป็นปัจจัยกดดันเงินทุนไหลเข้าในระยะสั้น

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!