WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
       เชื่อว่าตลาดยังให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ ขณะที่ในประเทศ การประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะอยู่ในราคาหุ้นแล้ว จึงยังเน้นกลยุทธ์เดิมคือ ปรับพอร์ตขายหุ้นเกิน Fair Value และ P/E สูง และยังเลือกซื้อหุ้นปันผล ที่มี upside สูง (STPI, SRICHA, BEC, RS, AIT) วันนี้ยังเลือก TASCO เป็น Top pick ได้ประโยชน์จากน้ำมันขาลง และงบประมาณปี 2558 ที่เพิ่มขึ้น 12%

ไทยถูกขายต่อเนื่อง แต่เบาบางลง
      วานนี้ แม้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 15 แต่ยอดขายลดลง 95% เหลือเพียงราว 21 ล้านเหรียญฯ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นการขายสุทธิออกมาถึง 4 ประเทศกล่าวคือ ไต้หวันขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 15 ราว 160 ล้านเหรียญฯ แต่ยอดขายลดลง 60% จากวันก่อนหน้า ตามมาด้วยอินโดนีเซียที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 74 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 66% ส่วนไทยยังขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ราว 13 ล้านเหรียญฯ (425 ล้านบาท, ลดลง 76% จากวันก่อนหน้า) และฟิลิปปินส์สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 3 ล้านเหรียญฯ สวนทางกับเกาหลีใต้ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 229 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าซื้อสุทธิเพียง 15 ล้านเหรียญฯ)
      ทั้งนี้ คาดว่าการประท้วงในฮ่องกงยังเป็นประเด็นกดดันตลาดหุ้นรายประเทศ โดยเฉพาะไต้หวัน แต่เป็นที่สังเกตว่านอกเหนือจากอินโดนีเซียที่มีปัญหาการเมืองในประเทศจึงทำให้ถูกขายสุทธิต่อเนื่อง ประเทศอื่นๆ เป็นการสลับซื้อขายสุทธิรายวัน ขณะที่ไทย แม้จะขายสุทธิติดต่อกัน 3 วัน แต่ยอดขายยังคงถือว่าไม่มากนักหากเทียบกับยอดซื้อสุทธิตลอดเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ในตลาดตราสารหนี้วานนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิอีกเล็กน้อยราว 407 ล้านบาท แต่ล้วนมีส่วนกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าต่อเนื่องลงแตะระดับ 32.43 บาทต่อเหรียญฯ ในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในกลุ่ม TIP

จีนผ่อนคลายซื้อบ้านหลัง 2 vs ตลาดรอ ECB ออกมาตรการรอบใหม่
      ความกังวลต่อภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากผลกระทบของการชะลอตัวของประเทศคู่ค้า ทั้งยุโรป และญี่ปุ่น สะท้อนจาก ดัชนีเศรษฐกิจ เดือน ส.ค. นำโดยภาคครัวเรือน (คิดเป็น 35% ของ GDP) พบว่ายอดค้าปลีก แม้ขยายตัว 12%yoy แต่ลดลงต่อเนื่องและต่ำสุดตั้งแต่ปี 2550 และตลาดบ้านใหม่ หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ มี.ค. 2557 เนื่องจากมีการควบคุมการปล่อยสินเชื่อ และภาคการผลิต พบว่า ดัชนี PMI ขยายตัวช้าลง และผลผลิตภาคอุตฯ ขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี และเกือบใกล้เคียงในช่วงวิกฤติการเงินในปี 2551 ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ธนาคารกลางจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่เป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยล่าสุด ธนาคารกลางจีน ผ่อนคลายผ่อนเงื่อนไงในการซื้อบ้านหลังที่ 2 (เป็นครั้งแรกตั้งแต่วิกฤติการเงิน) ด้วยการลดเงินดาวน์ เหลือ 30% จากเดิม 60% เท่ากับผู้ซื้อบ้านหลังแรก หากชำระคืนสินเชื่อจำนองก่อนหน้านี้เต็มจำนวน ทั้งนี้หลังจากก่อนหน้า ได้อัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมอีก 81.4 พันล้านเหรียญฯ แก่ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของประเทศ 5 แห่ง และลดอัตราการดำรงเงินสดสำรอง (RRR) 0.5% สำหรับธนาคาร ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจการเกษตรและกิจการขนาดเล็ก (มีผลเดือน มิ.ย.)
ขณะที่สภาพยุโรป ยังเผชิญกับภาวะเงินฝืดต่อเนื่อง โดยล่าสุดเดือน ส.ค. พบว่าเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 0.4% และตลาดคาดว่าจะลดลงมาที่ 0.3% ในเดือน ก.ย. (ต่ำสุดในรอบ 5 ปี) ขณะที่อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง 11.5% รวมถึงได้รับแรงกดดันจากปัญหาการเมืองระหว่างภูมิภาค ระหว่างยูเครน กับรัสเซีย จึงทำให้คาดว่าเศรษฐกิจยุโรป ในงวด 3Q57 น่าจะชะลอตัวอย่างชัดเจน สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น เดือน ก.ย. ขยายตัวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และดัชนี PMI ภาคบริการ ขยายตัวเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ซึ่งทำให้ดัชนี PMI โดยรวมเบื้องต้นเดือน ก.ย. ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ดังนั้นตลาดจึงคาดหวังว่าในการประชุม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) 2 ต.ค. 2557 จะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าอาจจะมีน้ำหนักไม่มากพอ เมื่อเทียบกับการใช้ QE ในสหรัฐ อังกฤษ หรือ ญี่ปุ่น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในเบื้องต้นหากยึดจากที่ ECB เตรียมแผนที่จะขยายงบดุล 1 ล้านล้านยูโร (1.29 ล้านล้านเหรียญฯ) เป็นระดับที่ใกล้เคียงเมื่อปี 2555 โดยผ่านโครงการ TLTRO และ ในเดือน ต.ค. เตรียมเข้าซื้อ ตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ABS) วงเงินขั้นต่ำราว 7 แสนล้านยูโร (6.09 แสนล้านเหรียญฯ) ซึ่งคงต้องติดตามผลการประชุมอย่างเป็นทางการอีกครั้ง แต่เชื่อว่ายังเป็นประเด็นบวกที่ยังมีอยู่บ้าง

ตลาดรอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวันนี้ อาจมีการเก็งกำไรรายหุ้น
เมื่อ 30 ก.ย. 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กบง.) เห็นชอบให้ปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในส่วนของภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 0.62 บาทต่อกิโลกรัม และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เพิ่มขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 นี้ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอไปแล้วใน Market talk เมื่อ 10 ก.ย. 2557 การปรับโครงสร้างราคาอาจจะกระทบผู้บริโภคบางส่วน ยกเว้นการปรับขึ้นราคา NGV จะดีต่อ PTT(FV@B368) เพราะช่วยลดภาระขาดทุนที่ PTT มานานราว 5 บาทต่อกิโลกรัม หรือราว 2 หมื่นล้านบาทต่อปี การขึ้นราคาขายปลีก NGV 1 บาทต่อกิโลกรัม ในครั้งนี้จะช่วยลดผลขาดทุนจากการขาย NGV ลดลงเหลือราว 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี และหากในอนาคตมีการขึ้นราคา NGV อีกจะช่วยลดผลขาดทุนให้กับ PTT ลงได้อีก แต่อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น PTT ได้มีการปรับขึ้นไปค่อนข้างมากจนเหลือ Upside จำกัด จึงแนะนำให้ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
และในวันนี้ รัฐบาลจะมีการประกาศ Package กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่าน่าจะเป็นมาตรการเร่งด่วนที่สามารถทำได้ทันทีและหวังผลได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี อาทิ
- การเร่งรัดลงทุนในโครงการขนาดเล็กที่ได้ผ่านการพิจารณามาแล้ว เช่น การปรับปรุงถนน ขุดท่อ เน้นสร้างงานในภาคชนบท เป็นต้น
- การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ที่ยังค้างท่อกว่า 2 แสนล้านบาท รวมทั้งงบค้างจ่ายย้อนหลังก่อนปี 2557 อีกราว 4 หมื่นล้านบาท โดยจะเน้นแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรและอุตสาหกรรมเป็นลำดับต้นๆ
- กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว อาทิ การลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว
- รวมทั้งความคืบหน้าของการประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่บางส่วน เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงรถไฟรางคู่บางเส้นทาง
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมาที่น่าจะเป็นโครงการที่สามารถทำได้รวดเร็วและสร้างเม็ดเงินออกสู่ระบบได้ทันที จึงน่าจะเป็นผลดีต่อหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น
- กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ที่เข้าประมูลโดยตรง (CK, STEC, ITD, UNIQ) รวมถึงบริษัทรับเหมารายเล็กที่รอรับช่วงงานต่อ (NWR, SEAFCO, PYLON, TASCO) และวัสดุก่อสร้าง (SCC, SCCC, TPIPL, DCC)
- กลุ่มท่องเที่ยว-โรงแรม ที่ได้ประโยชน์จากการส่งเสริมนักท่องเที่ยว (ERW, CENTEL, MINT) รวมถึง sentiment บวกหากมีการยกเลิกกฏอัยการศึก ดีต่อสายการบิน (AOT, AAV, NOK, THAI)
- กลุ่มค้าปลีก จากการกระตุ้นการบริโภค (CPALL, CPN, BIGC, HMPRO)
อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นดังกล่าว ได้สะท้อนผ่านทางราคาหุ้นให้ปรับขึ้นจนเกินมูลค่าพื้นฐาน หรือมี upside จำกัดแล้ว กลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นที่ยัง laggard ตลาด ฝ่ายวิจัยเลือก TASCO เป็น Top pick

ค่าเงินโลกผันผวน vs ราคาน้ำมัน และทองคำยังอ่อนตัวต่อ
ตลาดเงินโลกยังอยู่ในภาวะผันผวนต่อไป โดยเฉพาะปัญหาการชะลอตัวเศรษฐกิจในฝั่งสหภาพยุโรป ที่กำลังเผชิญภาวะเงินฝืดและอัตราการว่างงานที่สูงกว่า 11% มาเป็นเวลานานนับตั้งแต่เกิดวิกฤติหนี้สาธารณะ ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจสหรัฐ และ อังกฤษ ที่ดัชนีชี้นำยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และทำให้ตลาดเชื่อมั่นว่าทั้ง 2 ประเทศจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 2 แห่งของโลกประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องนับจากเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา (แข็งค่ากว่า 7.4% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา) โดยเช้านี้ได้ทำสถิติสูงสุดที่ 85.914 ใกล้เคียงกับ 18 มิ.ย. 2553 และอาจจะไปทดสอบจุดสูงสุดเดิม 88.4 เมื่อ 11 มิ.ย. 2553 (เป็นระดับที่ฟื้นตัวกลับมาเท่ากับจุดสูงสุดเดิม 88.53 ที่ทำไว้เมื่อ 6 มี.ค. 2552 ก่อนที่จะเกิดวิกฤติซับไพร์มหลังจากนี้) ตรงกันข้ามกับค่าเงินยูโรที่อ่อนเกือบ 9% ในช่วงเกือบ 3 เดือน (นับจากระดับสูงสุดที่ 1.391 เมื่อ 7 พ.ค. 2557) และน่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องหลังจากนี้ อันเป็นผลจากการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำจนถึงติดลบ และแผนอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ที่กำลังจะออกมาเพิ่มเติมในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งทำให้เชื่อว่าเงินยูโร มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อจากระดับ 1.2622 เช้านี้ โดยจะลงไปทดสอบ 1.2114 จุด (เป็นต่ำสุดที่ทำไว้ 23 ก.ค. 2555 หรือลดลง 4.45%) และถัดไปคือ 1.1973 จุด (จุดต่ำสุดทำไว้เมื่อ 3 มิ.ย. 2553 หรือลดลงอีก 1.16%)
การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ยังเป็นปัจจัยกดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั้งทองคำ และน้ำมันดิบโลก ให้มีแนวโน้มอ่อนตัวต่อไป ซึ่งนับว่าในสถานการณ์นี้จะสวนทางกับเหตุการณ์ในช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพร์มในปี 2551 ซึ่งในขณะนั้น ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวกว่า 25% เมื่อเทียบกับสกุลหลักของโลก ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ ต้องอัดฉีดเงินเข้าระบบ ผ่าน QE รวม 3 รอบเป็นเงินทั้งสิ้น 2.57 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่งเริ่มตัดลด QE เมื่อต้นปี 2557 ซึ่งในขณะนั้นได้หนุนให้สินทรัพย์โดยเฉพาะทองคำ น้ำมันทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กล่าวคือ ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นหลายปีจากระดับ 800 เหรียญฯต่อทรอยออนซ์ (ปี 2551) มาที่ 1883 เหรียญฯต่อทรอยออนซ์ (ปี 2554) และน้ำมันดิบดูไบ ทำสถิติสูงสุดที่ 134 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล (ปี 2554) ขึ้นมาจากระดับ 50-60 เหรียญฯต่อบาร์เรล (ปี 2551)
และเช่นเดียวกับตลาดหุ้นโลก พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นกันถ้วนหน้า จากสภาพคล่องโลกที่เพิ่มมาก กล่าวคือตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 128% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (สหรัฐ +163%, เยอรมัน +171%, ฝรั่งเศส +82%, ญี่ปุ่น +131% อังกฤษ +95%) ขณะที่ประเทศในกลุ่ม TIP ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยกว่า 300% (อินโดนีเซีย 347% ฟิลิปปินส์ 319% และไทย 315%) ส่วนอินเดียให้ผลตอบแทนราว 230% และจีนให้ผลตอบแทนต่ำสุดเพียง 35% เท่านั้น ในช่วงเดียวกัน
ในสถานการณ์ปัจจุบันทุกอย่างกำลังกลับข้าง สหรัฐใกล้จะถอนมาตรการ QE เสร็จสิ้นในเดือน ต.ค. เป็นเดือนสุดท้าย และพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในระยะ 6-9 เดือนข้างหน้า ซึ่งน่าจะทำให้ตลาดหุ้นโลก แกว่งตัวลงในทิศทางขาลง กลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ปรับพอร์ตลงทุน โดยให้ถือเงินสด 70% และอีก 30% ถือหุ้น และเลือกซื้อหุ้นพื้นฐาน ที่ราคาตลาดต่ำกว่า Fair Value โดยมีองค์ประกอบคือ P/E ต่ำกว่าตลาด มี upside ตั้งแต่ 20% ขึ้นไป + เงินปันผลเกิน 4% ได้แก่ AIT, INTUCH, PTTGC, EASTW, ARROW, BECL, SRICHA

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!