WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
      ราคาน้ำมันปรับฐานระยะสั้นถือเป็นโอกาสสะสม ยังคงชื่นชอบหุ้นผลิตและสำรวจปิโตรเลี่ยม PTTEP(FV@B195) และ PTT(FV@B360) แต่วันนี้เลือก KSL(FV@B17) เป็น Top pick ในฐานะที่เป็นพลังงานทดแทน ที่มีค่า Expected P/E ต่ำ และ Yield สูง 3.8%

ส่งออกอาจกระทบ หาก FTA ไทย-อียู ล่าช้า & สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำใช้แรงงานเด็ก
      หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) ไทย ด้านปัญหาการค้ามนุษย์ อันดับ 3 ถือว่าเป็นขั้นเลวร้ายสุด (หลังติดอันดับ 2.5 นาน 4 ปีติดต่อกัน) ซึ่งอาจจะกดดันต่อกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกที่ใช้แรงงานเด็กมากที่สุด และส่งออกไปสหรัฐฯ ได้แก่ อาหารทะเล สิ่งทอ และสื่อประเวณี เป็นต้น (ไทยไม่ได้ส่งออกน้ำตาลไปสหรัฐฯ ตลาดส่งออกน้ำตาลของไทย กระจุกตัวอยู่ในแถบเอเซีย และจีน เป็นหลัก)
ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.) มีมติให้มีการระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน ตลอดจนจะไม่ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) กับประเทศไทย จนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เชื่อว่าผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยน่าจะได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง และส่งผลกระทบไปสู่ความความล่าช้าในการร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (FTA) ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจา โดยประเด็นที่ไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการเจรจาคือ การส่งออกสินค้าแช่แข็ง อาทิ กุ้งแช่แข็ง เป็นต้น
      ทั้งนี้ ล่าสุดสิทธิประโยชน์ทางการค้า หรือ GSP ที่ได้รับจากอียูนั้นกำลังจะสิ้นสุดในปีนี้ หลังจากที่การส่งออกกุ้งแปรรูปไปยังยุโรปได้สิ้นสุดในปี 2556 ทำให้ต้องจ่ายภาษีนำเข้าในอัตรา 20% จากเดิมที่จ่ายเพียง 7% ส่วนกุ้งสดจะหมดอายุในปีนี้ (โดยจะต้องจ่ายภาษีนำเข้าเพิ่มจากปัจจุบัน 4.2% เป็น 12% ในปี 2558) ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและอันสูญเสียความเป็นผู้นำให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับรองจากไทย คือ จีน มีส่วนตลาดอันดับ 2 ตามมาด้วย เวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย เป็นต้น
      จากทั้ง 2 ปัจจัยคาดว่าระยะสั้นแน่นอนว่ากระทบต่อบริษัทจดทะเบียน และระยะกลาง-ยาว น่าจะส่งผลกระทบพื้นฐาน โดยเฉพาะทางด้านต้นทุนดำเนินงาน ซึ่งมิใช่เพียงต้นทุนการผลิตในเรื่องค่าแรงงานเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของค่าใช้จ่ายด้านภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น และจะกดดันประสิทธิภาพการทำกำไรของผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้นักวิเคราะห์กลุ่มอาหารของ ASP มีโอกาสที่จะต้องทบทวนประมาณการทำกำไรในปี 2557 และ 2558 ในอนาคต หากสถานการณ์ต่างๆ มีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากตลาดส่งออกอาหารแช่แข็งทั้ง 2 แห่ง เป็นลูกค้าสำคัญของทั้ง TUF, CPF กล่าวคือ TUF มีมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐราว 13.4% ของรายได้รวม (แยกเป็นการส่งออก กุ้ง 5.8% และ ทูนา 7.6%) ขณะที่ TUF ส่งออกไปตลาดอียู 7% ของรายได้รวม (กุ้ง 1.3% และ ทูนา 5.7.%) ส่วน CPF ส่งออกไปตลาดสหรัฐเพียง 0.7% ของรายได้รวม โดยทั้งหมดเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง ทั้งนี้ แม้นักวิเคราะห์พื้นฐานของ ASP ยังคงคำแนะนำเช่นเดิม ในหุ้นเกษตรและอาหาร 2 บริษัท คือ TUF(ซื้อ : FV@B76) CPF(ถือ : FV@B28) แต่ระยะสั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านี้ไปก่อน จนกว่าจะประเมินผลกระทบต่อ ประมาณการ และมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมใหม่

งบลงทุนคมนาคมปีงบประมาณ 2558 กำหนดที่ 1.41 แสนล้านบาท
      ปัจจุบัน คสช. อยู่ระหว่างการพิจารณาสรุปงบการลงทุนยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ในช่วงเวลา 8 ปีข้างหน้า (2558 – 2565) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึงตัวเลขงบลงทุนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น 2 ล้านล้านบาท ,3 ล้านล้านบาท หรือ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดว่าจะสรุปในเดือน ก.ค.2557 นี้ อย่างไรก็ตามสำหรับงบประมาณแผ่นดินปี 2558 ที่จะเริ่มใช้ 1 ต.ค.2557 เป็นต้นไปที่ คสช. จะบรรจุแผนการลงทุนเร่งด่วนเข้าไว้ในงบประมาณด้วย ซึ่งบางส่วนจะอยู่ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ ทั้งนี้งบลงทุนในงบประมาณปี 2558 ได้กำหนดวงเงินไว้ที่ 1.41 แสนล้านบาท แยกเป็นงบลงทุนเร่งด่วน 1.1 แสนล้านบาท ประกอบด้วยโครงการอย่างเช่น การซ่อมแซมบูรณะสายทางกรมทางหลวง-ทางหลวงชนบท, เพิ่มถนนจาก 2 เลนเป็น 4 เลน, ทางหลวงพิเศษ พัทยา-มาบตาพุด, การปรับปรุงทางรถไฟ, รถไฟรางคู่บางเส้นทางที่จำเป็น และรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เป็นต้น ส่วนงบประมาณที่เหลือ 3.1 หมื่นล้านบาท (1.41 ใช้ไป 1.1 แสนล้านบาท) จะเป็นงบช่วงเริ่มต้นของการลงทุนตามยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศฯ ระยะยาว
จากแผนงบประมาณดังกล่าวเห็นได้ว่า งบลงทุนที่จะเกิดขึ้นในช่วง 1 ต.ค.2557 – 30 ก.ย.2558 จะอยู่ที่ 1.41 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเร่งด่วนในโครงการขนาดเล็กที่น่าจะเริ่มประมูลในปี 2557 และอาจเห็นการเริ่มต้นประมูลโครงการขนาดใหญ่ในช่วงปี 2558 ซึ่งแผนดังกล่าวอาจทำให้ Sentiment การเก็งกำไรหุ้นรับเหมาฯ ชะลอลงในระยะสั้น ก่อนที่จะเริ่มอีกครั้งในช่วงปลายปี 2557 หุ้น Top Pick ได้แก่ SYNTEC (FV@B 2.23), STPI (FV@B 28.36)

ไทยยังคงถูกขาย แต่เชื่อแรงขายเหลือไม่มาก
      วานนี้ แม้ว่านักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาค แต่เป็นการซื้อด้วยยอดเบาบางเพียง ราว 66 ล้านเหรียญฯ และเลือกซื้อสุทธิเพียงประเทศเดียวเท่านั้น คือ ไต้หวันที่สลับมาซื้อสุทธิราว 147 ล้านเหรียญฯ ส่วนประเทศอื่นๆเป็นการขายสุทธิเบาบางทั้งหมด กล่าวคือ เกาหลีใต้ขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 39 ล้านเหรียญฯ (654 ล้านบาท, ลดลง 49% จากวันก่อนหน้า) ส่วนไทยยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 10 ราว 20 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 79%) ใกล้เคียงกับ อินโดนีเซียที่สลับมาขายสุทธิราว 19 ล้านเหรียญฯ และสุดท้ายคือฟิลิปปินส์ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 2 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 91%)
      ภาพรวมของกระแสเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคยังคงชะลอตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม TIP ที่ถูกขายสุทธิออกมาในช่วงสัปดาห์หลังสุด ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่ถูกขายสุทธิออกมาติดต่อกันถึง 10 วันรวม 1.2 หมื่นล้านบาท (เฉลี่ย 1.2 พันล้านบาทต่อวัน) แต่อย่างไรก็ตาม ยังถือว่ายอดขายนี้เบาบางกว่าช่วงกลางเดือน พ.ค. 2557 อย่างมาก ที่ขายติดต่อกัน 9 วันเฉลี่ยกว่า 3.6 พันล้านบาทต่อวัน จึงเชื่อว่าแรงขายจากต่างชาติในตลาดหุ้นไทยน่าจะเหลือไม่มาก และในระยะสั้นน่าจะเป็นการสลับซื้อขายเบาบางตามสถานการณ์เพื่อรอจังหวะเข้าซื้อต่อไป

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
พบชัย ภัทราวิชญ์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!