WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : บทวิเคราะห์ตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
       ในช่วงดัชนีปรับฐาน แนะนำทยอยปรับพอร์ต โดยเน้นถือหุ้นปันผล ยังชื่นชอบ BECL(FV@B45) และ PTTEP(FV@B195) วันนี้เลือก PDG(FV@B4.03) เป็น Top pick หุ้น IPO จะเข้ามาซื้อขายวันนี้ อยู่ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม แนวโน้มเติบโตสูง ราคาหุ้นมี upside 44% + เงินปันผล 4.5-5%

ผิดพลาด...ส่งออก มิ.ย. เติบโตเพียง 3.9%
       หลังจากได้นำเสนอใน Market Talk วานนี้ ถึงยอดส่งออกเดือน มิ.ย. เติบโตสูงถึง 7.2% นั้น ในข้อเท็จจริงเป็นการให้ข่าวที่ผิดพลาด ก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วย เพราะเป็นการหยิบยกข้อมูลที่มีการนำเสนอผ่านสื่อบางแห่ง แต่กว่าจะรู้ความจริงเป็นตอนบ่ายของวานนี้แล้ว อย่างไรก็ตามยอดส่งออกเดือน มิ.ย. ก็นับว่าดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ระบุว่ายอดส่งออกเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 3.9%yoy หลัก ๆ มาจากภาคอุตสาหกรรมเติบโตถึง 3.9% (ยานยนต์ 3.2%, เครื่องใช้ไฟฟ้า 3.4% และเครื่องอิเล็กโทรนิกส์ 3.4% ทั้ง 3 กลุ่มคิดเป็น 32.2% ของส่งออกรวม) และอัญมณี/เครื่องประดับ 9.2% เป็นต้น ขณะที่ยอดนำเข้ายังติดลบ 14.03%yoy (ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11) โดยเป็นการหดตัวในสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ยกเว้นสินค้าทุนเริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ตลอดระยะ 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ายอดส่งออกยังติดลบ 0.35%yoy แต่พบว่าบางตลาดมีการฟื้นตัว คือ สหรัฐ เติบโต 2.8%yoy และยุโรป 7.5%yoy ส่วนจีน ยังหดตัว 4.3%yoy ส่วนการนำเข้าช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ยังติดลบ 14%yoy

       หากยอดส่งออกในปีนี้ จะเติบโตอัตรา 3.5% ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าในช่วงอีก 6 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะต้องเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 7% ซึ่งคาดว่าเป็นไปได้น้อย (ASP คาดไว้ว่าการส่งออกสินค้า ในปี 2557 จะขยายตัวได้ 5.7% แสดงว่าในอีก 6 เดือนที่เหลือ ต้องขยายตัว ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 11.46%) ในภาวะที่เศรษฐกิจคู่ค้าบางแห่งยังฟื้นตัวล่าช้า โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป และ อาเซียน เป็นต้น ขณะที่ระยะสั้นภาคส่งออกยังได้รับแรงกดดันเรื่องเงินบาทแข็งค่า

      แต่อย่างไรก็ตาม โดยรวมคาดว่าในปี 2557 GDP Growth ยังน่าจะเติบโตได้เกิน 2% เนื่องจากเครื่องจักรสำคัญคือ การบริโภคภาคครัวเรือน (C ซึ่งคิดเป็น 55% ของ GDP) ได้กลับมาทำงานตามปกติ หลังปัญหาการเมืองสิ้นสุดลงภายหลังการยึดอำนาจ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ทำงานอยู่เพียงประการเดียวในระหว่างที่มีปัญหาการเมือง ขณะที่การลงทุนทั้งภาครัฐ และ เอกชน ยังมิได้กลับมาทำงาน จนกว่าจะเห็นรัฐบาลที่บริหารประเทศชุดใหม่ ที่พร้อมจะเดินหน้ามาตรการลงทุนที่ชัดเจนกว่าในปัจจุบัน

ตลาดหุ้นโลกเงียบ รอผลประชุม FED พรุ่งนี้
       คาดว่าตลาดหุ้นโลกน่าจะแกว่งตัวในทิศทางอ่อนตัว นอกจากไม่มีประเด็นใหม่เข้ามาสนับสนุนแล้ว ยังรอคอยผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐที่กำลังจะมีการประชุมในค่ำวันที่ 29 ก.ค. และ 30 ก.ค. นี้ ขณะที่การรายดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้อาจจะอ่อนตัวในระยะสั้น โดยล่าสุด ดัชนี PMI ภาคบริการ ในเดือน ก.ค. อยู่ที่ระดับ 61 ทำสถิติสูงสุดนับจาก ต.ค. 2552 แต่ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ยอดทำสัญญาซื้อขายบ้านที่รอปิดการขาย เดือน มิ.ย. หดตัว 1.1%mom ถือเป็นการลดลงเดือนแรก หลังจากที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันถึง 3 เดือน (สวนทางกับที่คาดว่าจะเพิ่ม 0.5%mom) เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยบ้านที่เริ่มขยับขึ้นตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงงานในระยะสั้น

      ทั้งนี้ คาดว่าผลการประชุมของ (FED) ในครั้งนี้จะยังเดินหน้าตัดลด QE ต่อเนื่องอีกเดือนละ 1 หมื่นล้านเหรียญฯ จนกระทั่งสิ้นสุด ราวเดือน ต.ค. และน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วง 1Q-3Q58 ภายใต้สมมติฐาน อัตราการว่างงานจะลดลงต่ำกว่า 6.1% ในขณะนี้ มาที่ 5.5% ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติซับไพร์ม

ต่างชาติสลับมาซื้อไทยเล็กน้อย สวนทางกับสถาบันที่ขายสุทธิ
        วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้งราว 226 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่สลับขายสุทธิออกมาเล็กน้อยในวันก่อนหน้า โดยเป็นการกลับมาซื้อสุทธิในทุกประเทศ โดยที่ยังคงซื้อสุทธิเกาหลีใต้ เป็นวันที่ 13 ราว 117 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 55% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไต้หวันที่สลับมาซื้อสุทธิราว 99 ล้านเหรียญฯ เช่นเดียวกับ ฟิลิปปินส์ และ ไทย ที่สลับมาซื้อสุทธิใกล้เคียงกัน ราว 4.66 และ 4.62 ล้านเหรียญฯ (147 ล้านบาท) ตามลำดับ ขณะที่ตลาดใน อินโดนีเซียปิดทำการเนื่องวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม และ จะปิดทำการจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม

       ในส่วนของตลาดหุ้นไทยกลุ่มนักลงทุนที่ยังคงขายสุทธิกดดันดัชนีอย่างต่อเนื่องคือกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ที่วานนี้ขายสุทธิออกมาราว 1.9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิ 8 จาก 10 วันหลังสุดรวม 1.1 หมื่นล้านบาท สวนทางกับต่างชาติที่กลับเข้ามาซื้อสุทธิอีกครั้ง แม้เพียงเล็กน้อย แต่ยังเชื่อว่าการเทขายอย่างหนักจากต่างชาติน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว และในระยะสั้นน่าจะเป็นการเข้าซื้อสลับขายรายวันตามสถานการณ์

ลดพอร์ตขายหุ้นแพง มาซื้อหุ้นถูก... มี Upside สูง + P/E ต่ำ
       นับตั้งแต่ คสช. เข้าควบคุมอำนาจเมื่อวันที่ 23 พ.ค. เป็นต้นมา ดัชนีลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 1,375 จุด แต่หลังจากนั้นตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีการปรับฐานในเดือน มิ.ย. แต่หลังจากนั้นในเดือน ก.ค. ตลาดหุ้นไทยทำสถิติปรับขึ้นต่อเนื่อง 17 วันทำการ เนื่องจากแรงหนุนของเงินทุนไหลเข้าต่างชาติ (ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิตั้งแต่ 27 มิ.ย. หลังจากที่ขายสุทธิติดต่อกันกว่า 13 วันทำการนับจากวันที่ยึดอำนาจ) จนทำสถิติสูงสุดใหม่ของปี 2557 ที่ 1,543 จุด ซึ่งถือว่าปรับตัวขึ้นมา 160 จุดจากจุดต่ำสุด แต่อย่างไรก็ตาม ณ ระดับดัชนีตลาดปัจจุบัน มี current P/E กว่า 16 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับที่สะท้อนความคาดหวังเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังการเมืองสงบลงช่วงสั้นหลังการยึดอำนาจ
       และหากพิจารณาผลตอบแทนของดัชนีรายกลุ่ม พบว่าให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดมาก กล่าวคือ SET index ให้ผลตอบแทนราว 12% ขณะที่ดัชนีกลุ่ม Domestic (อิงเศรษฐกิจในประเทศ) ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ได้แก่ อสังหาฯ 23.4% หลักทรัพย์-เช่าซื้อ 22.4% รับเหมาฯ 22.1% ท่องเที่ยว-โรงแรม 19.1% ธนาคารพาณิชย์ 17.7% ค้าส่ง-ค้าปลีก 17.5% ขนส่ง 16.2% ยานยนต์ 15.1% การแพทย์ 13.6% และ ประกันฯ 13.3% ขณะที่กลุ่ม Global ยังฟื้นตัวได้น้อยหรือใกล้เคียงกับตลาด ได้แก่ ปิโตรฯ 4.8% ชิ้นส่วนฯ 9.7% ส่งออกอาหาร 10.9% และพลังงาน 11% ขณะที่กลุ่มสื่อสารฯ ประสบปัญหาโรคเลื่อน คือ การเลื่อนประมูล 4G และยังถูก กสทช. เตรียมปรับที่ผู้ประกอบการ 2 รายคิดค่าบริการ 2G เกินกรอบกำหนด ส่งผลให้ผลตอบแทนติดลบ 2.5%

      ทั้งนี้ หากนำไปเปรียบเทียบกับสถิติในอดีต พบว่าดัชนีมักปรับขึ้นหลังการยึดอำนาจ เมื่อมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา เมื่อตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่สูงระดับหนึ่ง การขายทำกำไรระยะสั้นก็จะเกิดขึ้น ทั้งหากย้อนกลับไปพิจารณาการทำรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 พบว่าตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงไปหนักหลังเกิดรัฐประหารติดต่อกัน 2 วันทำการ และต้องใช้เวลาถึง 16 วันทำการ ดัชนีจึงกลับมายืนได้ที่ระดับเดิมเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2549 แต่หลังจากนั้นตลาดค่อยๆ ปรับขึ้นต่อเนื่องไปได้สูงถึงระดับ 750 จุด ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2549 (ขณะนั้น P/E อยู่ที่ราว 12 เท่า

      ) ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ช๊อกตลาดหุ้นอย่างมากกล่าวคือ วันที่ 19 ธ.ค. 2549 ธปท. ได้มีการการประกาศใช้มาตรควบคุมเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น หรือ capital control (ต้องกันเงินสำรอง 30% ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้น หากนำออกจากประเทศภายใน 1 ปี) กดดันให้ตลาดหุ้นตกรุนแรงถึง 14.83% แต่วันถัดมา มาตรการดังกล่าวได้ถูกยกเลิก และหนุนให้ดัชนีฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ 11.15% และ ดัชนียังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง และมาสะดุดอีกครั้ง เมื่อย่างเข้าสู่ปีใหม่ 2550 (ราว 3 เดือนหลังเกิดรัฐประหาร) ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ช่วงปรับฐานอีกครั้ง โดยดัชนีปรับลงจาก 687 สู่ 608 จุด หรือติดลบกว่า 80 จุด ใน 10 วันแรกของเดือน ม.ค. นับเป็นจุดต่ำสุดของปี 2550 แต่หลังจากนั้นตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวรอบใหม่ ก่อนที่จะเผชิญวิกฤติการเงินในปี 2551 (ขณะนั้น P/E พุ่งขึ้นไปกว่า 15 เท่า)

        กล่าวโดยสรุป เมื่อพิจารณาองค์ประกอบรอบด้าน ณ ปัจจุบัน ทั้ง current P/E ที่สูงดังกล่าว และหุ้นส่วนใหญ่ขึ้นมาใกล้/เกินมูลค่าหุ้นปี 2557 จึงทำให้การขยับเดินหน้าจากระดับปัจจุบันจะยากขึ้น ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการปรับฐาน ฝ่ายวิจัยแนะนำให้ปรับลดพอร์ต ทยอยขายทำกำไรหุ้นในกลุ่มที่ปรับขึ้นแรงเกินกว่าตลาดในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งหุ้นที่มีค่า P/E สูง และราคาปัจจุบันเกินกว่า Fair Value เช่น PF, BH, BGH, CK, STEC, BLA เป็นต้น และสลับไปลงทุนในหุ้นที่ยัง laggards กับตลาด พร้อมทั้งมีเงินปันผลสูง เช่น BECL, PTTEP และ ASK เป็นต้น

ดัชนีปรับฐานแนะลงทุนหุ้น IPO : PDG ราคาหุ้นมี upside 44%
       วันนี้เป็นวันแรกที่หุ้นน้องใหม่ (IPO) คือ PDG จะเข้ามาซื้อขายในตลาด วิเคราะห์แล้วเป็นหุ้นที่น่าลงทุน โดยธุรกิจหลักของ PDG คือ ผลิตและจำหน่าย สินค้าบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดพลาสติก PET ที่ใช้ในกลุ่มเครื่องดื่มและอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันพืชในกลุ่ม TVO ซึ่ง TVO เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท และเป็นลูกค้าหลัก ซึ่งมีสัดส่วนสูงเฉลี่ย 30-40% ของยอดขายของ PDG ทำให้บริษัทมีความมั่นคงทางรายได้ และพร้อมเติบโตไปกับแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารซึ่งปัจจุบันนิยมใช้ขวด PET เป็นบรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น
เงินที่ได้จาก IPO จะไปขยายกำลังการผลิตขวด PET เพิ่ม 20% สู่ระดับ 60 ล้านขวดต่อเดือน

      คาดจะเริ่มผลิตภายในปี 2558 และ ขยายไลน์สินค้าใหม่ คือ ผลิตหลอดพรีฟอร์ม (Preform) เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ผลิตขวด PET และผู้ผลิตขวดน้ำดื่มที่มีเครื่องเป่าขวดเป็นของตนเอง คาดจะหนุนให้กำไรปี 2557 อยู่ที่ 68 ล้านบาท เติบโต 15% yoy และจะต่อเนื่อง 18% สู่ 80 ล้านบาทในปี 2558 ทั้งนี้กำหนด Fair Value อิง PER 16 เท่า จะให้มูลค่าเหมาะสมสิ้นปี 2557 ที่ราคา 4.03 บาท มี upside สูง 44% ขณะเดียวกันคาดจ่ายเงินปันผลปี 2557 หุ้นละ 0.13 บาท และ 0.15 บาทในปี 2558 (อิง Div Payout Ratio ขั้นต่ำ 50%) คิดเป็น Div Yield น่าสนใจ 4.5% และ 5.3% ต่อปี ตามลำดับ ถือว่าเป็นหุ้นพื้นฐานที่น่าลงทุน
หุ้นที่แนะนำใน Market talk 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!