WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
     ในสถานการณ์ดัชนีผันผวน แนะหุ้นปันผลเด่น 1) INTUCH(FV@B109) ราคาหุ้นมี upside สูงกว่า 60% + มีเงินปันผล 6.5% และ 2) RML(FV@B2.38) คาดกำไร 2Q57 เติบโต 80%yoy โดยคาดว่าจะกลับมาจ่ายเงินปันผลปีนี้เป็นปีแรก เลือกเป็น Top picks

เริ่มเสนอชื่อ สปช. 14 ส.ค.57 ขณะที่การสรรหานายกฯ น่าจะเกิดสัปดาห์หน้า
       วันนี้จะมีรัฐพิธี เปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และวันที่ 8 ส.ค.2557 จะเปิดประชุมเป็นครั้งแรก ซึ่งตามปกติแล้วน่าจะมีการเลือกตัวบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่ประธานสภาฯ ก่อน หลังจากนั้นก็จะเป็นกระบวนการในการสรรหาตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งฝ่ายวิจัยประเมินว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์หน้า (หลัง 13 ส.ค.2557) ซึ่งก็เป็นไปได้ที่น่าจะทำให้เกิดรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ในช่วงปลายเดือน ส.ค.2557 ทั้งนี้ภารกิจประการหนึ่งของรัฐบาลที่คาดว่าจะอยู่ในความสนใจคือการพิจารณาว่า จะมีการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก เมื่อใด โดยหากรัฐบาลประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ก็น่าจะเป็นผลบวกต่อบรรยากาศการลงทุน
อีกขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากคือ การตั้งสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ สปช. จะทำหน้าที่ในการเสนอความเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดไปจนถึงการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในขั้นตอนสุดท้าย นอกจากนี้ สปช. ยังต้องทำหน้าที่ในการเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเข้าไปเป็น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน จากจำนวนทั้งหมด 35 คน ทั้งนี้ในส่วนของการแต่งตั้ง สปช. จะคัดสรรจากตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร โดยตามขั้นตอนในเบื้องต้นจะกำหนดให้องค์กรต่างๆที่มีสิทธิ์ เสนอรายชื่อเข้ามาตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.2557 ทั้งนี้ในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะมี สปช. เกิดขึ้นในช่วงเดือน ตุลาคม 2557
ถือว่ากระบวนการต่างๆ ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วตามแผนที่ คสช. วางไว้ ซึ่งอาจจะแรงกดดันต่อบรรยากาศการซื้อขายหุ้น โดยประเด็นที่น่าจะได้รับความสนใจมากสุดนับจากนี้ คือ การพิจารณายกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึก

ยุโรปยังเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะกดดันเศรษฐกิจโลก
      ไทย ที่ประชุม กนง. วานนี้มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงดอกเบี้ย 2% (เป็นครั้งที่ 3 และคงที่ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5) ซึ่งเป็นไปตามคาด ถึงแม้ว่าจะมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. ที่ 2.16% ก็ตาม แต่เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจประเทศที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัว คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 2Q57 จะฟื้นตัว เมื่อเทียบกับงวด 1Q57 ที่ติดลบ 0.6% และฟื้นตัวต่อเนื่องในงวด 2H57 จากการใช้จ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน แม้ส่งออกยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนอีกครั้งในปี 2558 หากภาครัฐสามารถลงทุนโครงการขนาดใหญ่ตามแผน ซึ่งคาดจะเริ่มประมูลต้นปี 2558

   อังกฤษ พบว่ายังมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้อาจมีสะดุดบ้าง กล่าวคือ ราคาบ้านในเดือน ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 1.4% มากกว่าที่คาด (งวด 2Q57เพิ่มขึ้นถึง 10.2%yoy เป็นการเพิ่มมากสุดตั้งแต่ ก.ย. 2552) ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นเพียง 0.3%mom ต่ำกว่าคาด และระยะสั้นความตรึงเครียดในยูเครน อาจจะกระทบต่อภาคส่งออกของอังกฤษบ้าง แต่อย่างไรก็ตามในภาพรวมเชื่อว่าเศรษฐกิจอังกฤษ ยังฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราการว่างงาน ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 6.97% ซึ่งหนุนให้ตลาดเชื่อมั่นว่า อังกฤษ จะเป็นประเทศแรกในฝั่งประเทศพัฒนาแล้วที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยจากจากการสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กพบว่า เกือบ 50% ของผู้ตอบคาดว่า BOE จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ คือ 6-7 ส.ค. นี้ ขณะที่บางส่วนคาดว่าจะปรับขึ้นราวเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งต้องติดตามผลการประชุมที่น่าจะทราบผลในวันพรุ่งนี้ตามเวลาประเทศไทย

   ยุโรป เศรษฐกิจในยูโรโซน ยังคงอยู่ในการฟื้นตัวอย่างมีความเสี่ยง โดยเฉพาะอิตาลี ล่าสุดรายงาน GDP Growth งวด 2Q57 ติดลบ 0.3%yoy (จาก 1Q57 ที่ติดลบ 0.4%yoy) และอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 12.34% (มากกว่า 12% ราว 15 เดือน) ตามมาด้วย เยอรมัน ล่าสุดพบว่าคำสั่งซื้อภาคโรงงาน เดือน มิ.ย. ติดลบ 3.2%mom (ต่ำสุดตั้งแต่ 2554) และปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครน และรัสเซีย น่าจะบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ และการลงทุน ทั้งนี้แม้ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางยุโรป ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.15% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก -0.1% รวมทั้งเพิ่มปริมาณเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้แก่ภาคธนาคาร เพื่อปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ แต่ดูเหมือนยังไม่ค่อยได้ผลนัก ซึ่งการฟื้นตัวในกลุ่มยุโรปจึงยังคงกดดันต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลก
โดยสรุป ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัว จากแรงกดดันจากฝั่งยุโรปได้กดดันให้ตลาดหุ้นโลกปรับฐานและมีแนวโน้มแกว่งตัวอีกรอบ โดยเฉพาะตลาดหุ้นยุโรปพบว่ามีการปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ของโลก โดยมีการปรับฐาน มาก่อนตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นำโดยอิตาลี ลดลงมากสุดถึง 13.3% ตามมาด้วยฝรั่งเศส ลดลง 13.1% เยอรมัน ลดลง 8.9% และ สเปน ลดลง 8.4% ขณะที่ตลาดอื่นๆ ได้ปรับลดตามในช่วงกลาง ก.ค. เป็นต้นมาคือ อังกฤษ ลดลง 3.3% สหรัฐลดลงเฉลี่ย 3% (Dow Jones ลดลง 4% NASDAQ ลด 2.8% และ S&P500 ลดลง 3.4%) ตามลำดับ) และญี่ปุ่นลดลงเพียง 3% และเพิ่งปรับฐานในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดหุ้นเอเซีย ปรับฐานน้อยกว่ามาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยแม้ปรับลดลงลงราว 3% แต่ก็ฟื้นตัวกลับขึ้นมาทำให้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากจุดสูงสุดในรอบนี้ จึงทำให้ตลาดหุ้นเอเซียน่าจะยังอยู่ในภาวะผันผวนต่อไป

 

ต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นไทยเล็กน้อย แต่ขายในตราสารหนี้
      เงินทุนจากต่างชาติไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคอีกครั้ง โดยที่วานนี้นักลงทุนต่างชาติสลับซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 241 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิเพียง 1 วันก่อนหน้า) ซื้อสูงสุด เริ่มจากไต้หวัน สลับมาซื้อสุทธิสูงสุดราว 171 ล้านเหรียญฯ ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้ที่ยังซื้อสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 152 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากวันก่อนหน้า) และ ไทยสลับมาซื้อสุทธิเช่นกัน ราว 33 ล้านเหรียญฯ (1.0 พันล้านบาท, ซื้อสลับขายใน 4 วันหลังสุด) สวนทางกับอินโดนีเซียที่ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 อย่างหนัก ราว 103 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 11 ล้านเหรียญฯ) และ สุดท้ายคือ ฟิลิปปินส์ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ราว 12 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าขายสุทธิ 1 ล้านเหรียญฯ)
   การกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยอีกครั้งของต่างชาติ น่าจะเป็นเพียงการสลับมาซื้อรายวันตามทิศทางของภูมิภาคเท่านั้น เชื่อว่าในระยะสั้นนักลงทุนต่างชาติน่าจะชะลอการเข้าซื้อหุ้นไทยต่อไป จากปัจจัยกดดันต่างๆ รวมถึงการที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอยู่ที่ระดับ 32.20 บาทต่อเหรียญฯ หลังจากที่นักลงทุนกลุ่มนี้ขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ออกมา 4 วันติดต่อกัน รวม 1.5 หมื่นล้านบาท

ตลาดหุ้นปรับฐานเป็นจังหวะสะสมหุ้นปันผลเด่น
     หลังจากมีการทยอยรายงานงบการเงินงวด 2Q57 และคาดว่าเสร็จสิ้นลงราวกลางเดือนสิงหาคมนี้ ก็จะเข้าสู่ช่วงของการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลของบริษัทจดทะเบียน และคาดว่าน่าจะเริ่มทยอยจ่ายตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมต่อเนื่องไป ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอกลยุทธ์การลงทุน Dividend Play ไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นที่จ่ายปันผลระหว่างกาลโดดเด่นและสม่ำเสมอ เพราะจากการศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณในอดีตย้อนหลัง 10 ปี พบว่าราคาของหุ้นที่มีการจ่ายปันผลมักจะทยอยปรับตัวสูงขึ้นล่วงหน้า 1 หรืออาจจะถึง 2 เดือนก่อนหน้าวันขึ้นเครื่องหมาย XD จากแรงซื้อเพื่อคาดหวังสิทธิ์รับเงินปันผล และจากนั้นจะอ่อนตัวลงหลังขึ้นเครื่องหมาย XD ราว 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะปรับขึ้นอีกครั้งหลังจาก XD 1–2 เดือน กลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำให้ทยอยซื้อสะสมหุ้นปันผลก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD 1 เดือน และขายหุ้นหลัง XD 1–2 เดือน ผลตอบแทนในอดีตเฉลี่ย 7.3-7.5% ด้วยความน่าจะเป็นราว 72%
แต่อย่างไรก็ตามในสภาวะตลาดปรับฐาน หลังจากที่ได้มีการซึมซับประเด็นบวกต่าง ๆ ไปมากแล้ว โดยเฉพาะ ความคาดหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในงวด 2H57 หลังปัญหาการเมืองสงบลงชั่วคราว จึงน่าจะโอกาสดีที่จะเก็บสะสมหุ้นปันเด่น ได้แก่ INTUCH (FV@B 109), ADVANC (FV@B 250), TTW (FV@B 13.3), PTTEP (FV@B 195), BECL (FV@B 45) และเก็งกำไร MBKET (FV@B 25.96)

 

เลือกหุ้นปันผลเด่น คือ INTUCH เป็น Top pick
     แม้ว่าจะมีข่าวลบกดดันหุ้นในกลุ่ม INTUCH (ADVANC, THCOM) รอบด้าน ตั้งแต่การเลื่อนประมูล 4G (กระทบ ADVANC มากสุด เพราะปัจจุบันไม่มีคลื่นเหลือที่จะไปพัฒนา เพราะคลื่นส่วนใหญ่จะนำไปใช้การบริการ 3G เนื่องจากฐานลูกค้ามีจำนวนมากว่าคู่แข่งขันทั้ง 2 รายคือ DTAC และ TRUE) และยังอาจจะถูกเรียกค่าปรับจากการคิดค่าบริการลูกค้าเกินนาทีละ 0.99 ตามที่เคยนำเสนอในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า กลุ่มเทมาเส็ก ผู้ถือหุ้นใหญ่ INTUCH (ถือหุ้นทางอ้อมราว 41%) กำลังจะพิจารณาลดสัดส่วนการลงทุนธุรกิตในทวีปเอเชียลง ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดัน INTUCH ทำให้ราคาหุ้น INTUCH ในระยะหลังค่อนข้าง Underperform SET อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าเป็นโอกาสดีให้เข้าสะสม โดยแนะนำให้ดัก “ซื้อ” INTUCH ก่อนประกาศงบงวด 2Q57 วันที่ 13 ส.ค. นี้ ด้วย 3 เหตุผล คือ

   คาดกำไรงวด 2Q57 จะเป็นจุดตกต่ำของปีนี้ คือ ลดลง 8.6%qoq และ 4.9%yoy มาอยู่ราว 3.5 พันล้านบาท เป็นการลดลงตามบริษัทลูกหลัก คือ ADVANC ซึ่งกำไรได้รับผลกระทบการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รายได้ชะลอตัว ขณะที่ต้นทุนยังเพิ่มขึ้นจากการเร่งลงทุน 3G อย่างหนัก แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในงวด 2H57 แม้จะได้รับผลชดเชยจาก THCOM (ถือหุ้น 41%) ที่ยังคงอยู่ในภาวะฟื้นตัว ทำให้ผลกำไรในงวดนี้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ตาม ความคืบหน้าของการขายดาวเทียมใหม่ไทยคม 6 โดยภาพรวมคาดว่าในงวด 2H57 INTUCH น่าจะมีกำไรดีขึ้นตามลำดับ ตาม ADVANC และ THCOM ดังที่กล่าวข้างต้น
  ราคาหุ้นปัจจุบัน INTUCH ถือว่ามีการซื้อ- ขาย ถูกสุดในกลุ่ม ICT กล่าวคือมี Expected PER ปี 2557 ที่เพียง 15.5 เท่า เทียบกับ กลุ่มมีค่าเฉลี่ยอยู่ราว 20.5 เท่า
  คาดว่าจะมีอัตราเงินปันผลจ่าย (Div Yield) สูงสุดในกลุ่ม คือจะอยู่ที่ 6.5% โดยคาดว่าจะประกาศจ่ายเงินปันผลงวด 1H57 พร้อมๆ กับวันที่ประกาศ (งบ 13 ส.ค. นี้) ที่ 2.26 บาทต่อหุ้น คิดเป็น Div Yield 3.2%

 

RML กลับมาเด่นจากผลกำไร และมีโอกาสจ่ายเงินปันผล
     งวด 2Q57 คาดว่า RML จะบันทึกรายได้จาก 2 โครงการขนาดใหญ่ได้แก่ The River และ 185 ราชดำริ ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้สูงถึง 1.9 พันล้านบาท และด้วยระดับ Gross Margin ของโครงการที่สูงกว่า 40% ทำให้คาดว่าฐานกำไรจะสูงถึง 410 ล้านบาท เพิ่ม 80% YoY นอกจากนี้การที่บริษัทสามารถล้างขาดทุนสะสมได้หมดตั้งแต่งวด 1Q57 ทำให้คาดว่าจะกลับมาจ่ายเงินปันผลอีกครั้งจากผลประกอบการปี 2557 ที่ราคาปัจจุบันให้ Dividend Yield 4.5% Fair Value 2.38 บาท

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!