WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      เชื่อว่าการปรับฐานยังมีอยู่ หลังการรายงานงบ 2Q57 เสร็จสิ้น กลยุทธ์ยังแนะนำซื้อ-ขาย รายหุ้นที่มีประเด็นหนุนช่วงสั้น ๆ วันนี้ยังเลือก BCP(FV@B36) เป็น Top Pick ค่าการกลั่นกำลังฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด หลังราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวต่อเนื่อง และยังชื่นชอบหุ้น BTS, RCL, RML

อังกฤษ/สหรัฐ ขึ้นดอกเบี้ยเร็วสุด 1H58 ล่าช้ากว่าเอเซีย
      อังกฤษ แม้อังกฤษได้มีการทบทวน GDP Growth งวด 2Q57 เป็น 3.2%yoy (จาก3.1%yoy ในการรายงานครั้งก่อนหน้า) นับว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่เร็วที่สุดตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินปี 2552 ทำให้ช่วง 1H57 GDP Growth อยู่ที่ 3.15%yoy ขณะที่ IMF ประเมินทั้งปี 2557 ไว้ที่ 2.9%yoy ในช่วง 2H57 GDP Growth ของอังกฤษต้องไม่ต่ำกว่าไตรมาสละ 1.85%yoy ซึ่งไม่น่าจะยาก เพราะสัญญาณการฟื้นตัวยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี อย่างไรก็ตามธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) กลับมีความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยุโรป และ วิกฤติความขัดแย้งในยูเครน และตะวันออกกลาง ซึ่งทำให้ BOE ส่งสัญญาณที่เลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไปจากที่เคยคาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นปีนี้ ออกไปเป็นงวด 2Q58 ซึ่งถือว่ายังเป็นประเทศแรกๆ ในกลุ่มพัฒนาแล้วที่จะขึ้นดอกเบี้ย และอาจจะอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงสหรัฐ


      สหรัฐ เช่นเดียวกับสหรัฐ แม้ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังส่งสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่เริ่มมีความกังวลเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้น 0.4%mom (ขณะที่เดือน มิ.ย. ทรงตัว) จากการขยายตัวของการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และการผลิตรถยนต์ แต่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ขยายตัว 1.7%yoy แม้จะชะลอเล็กน้อยจาก 1.9% ในเดือน มิ.ย. เพราะได้รับแรงกดดันจากลดต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้น (รอยเตอร์ / ม.มิชิแกน) เดือน ส.ค. ได้อ่อนตัวลงสู่ 79.2 นับว่า ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน (จาก 81.8 ในเดือนก่อนหน้า) ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผลจากสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครน ขณะที่อัตราค่าจ้างที่เพิ่มช้ากว่าระดับราคาสินค้า/บริการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ FED ให้ความสำคัญต่อแนวโน้มอัตราการว่างงานที่จะลดลงไปสู่ระดับ ก่อนวิกฤติที่ 5.5% (เทียบกับปัจจุบันที่ 6.1%) ก่อนจะนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับอังกฤษ ราวช่วง 1H58 หลังจากการตัดลด QE สิ้นสุดในเดือน ต.ค. นี้


      เอเชีย การรายงาน GDP Growth ล่าสุดของมาเลเซีย ดูเหมือนจะเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่สามารถรักษาการขยายตัวได้ดี กล่าวคืองวด 2Q57 เติบโต 6.4%yoy (รวดเร็วที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส เพิ่มจากงวด 1Q57 ที่ขยายตัว 6.2%yoy และสูงกว่าที่คาด 5.8%yoy) เนื่องจากการขยายตัวของภาคส่งออก และการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้ GDP Growth ช่วง 1H57 ขยายตัว 6.3% และหากอิงกับตัวเลข IMF ที่ประเมินการเติบโตทั้งปีไว้ที่ 5.2% แสดงว่าช่วง 2H57 ต้องขยายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4.1% ต่อไปไตรมาส ซึ่งถือว่ามีความเป็นไปได้สูง จึงทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางมาเลเซีย อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มอีกในช่วงเดือน ก.ย. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 3.25% (เป็นครั้งแรกตั้งแต่ พ.ค. 2554 หลังจากยืนดอกเบี้ยที่ 3% มานานเกือบ 3 ปี) เนื่องภาวะเงินเฟ้อที่สูงเกิน 3% นับตั้งแต่สิ้นปี 2556 ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ประเทศของอาเซียน ที่นำร่องขึ้น ดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้


      ไทย วันนี้จะทางสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะประมาณ GDP Growth ไทยงวด 2Q57 ซึ่ง ASP คาดว่าน่าจะ ดีจากงวด 1Q57 เล็กน้อย (1Q57 หดตัว 0.6%yoy) เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคครัวเรือน เล็กน้อยนับตั้งแต่ มิ.ย. จึงมีผลต่อการฟื้นตัวงวด 2Q57 ไม่มากนัก การขับเคลื่อนส่วนใหญ่มาจากการใช้จ่ายภาครัฐ โดย ASP ประเมินว่างวด 2Q57 จะบวกไม่เกิน 0.6% (1H57 ขยายตัวเฉลี่ย 0%) ส่วนประมาณการเดิมของ ASP ที่คาดไว้ปี 2557 จะเติบโต 2% อาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะในช่วง 2H57 แต่ละไตรมาสจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าไตรมาสละ 4%yoy เพื่อให้ตลอดปี 2557 ขยายตัวได้ตามคาด จึงมีแนวโน้มจะปรับลดประมาณการ GDP Growth ปี 2557 ลง โดยคาดว่าจะปรับลดภาคส่งออกสินค้าและบริการที่ประเมินไว้สูงเกินไป ขณะที่เชื่อว่าในปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น มาจากการสนับสนุนการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 3.5-4% ติดตามอ่าน Economic Update ภายในสัปดาห์นี้

เดินหน้าพิจารณางบประมาณวันนี้ หลังได้ประธาน สนช.
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน สนช. , นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นรองประธานคนที่ 1 และนาย พีระศักดิ์ พอจิตต์ เป็นรองประธานคนที่ 2 ทั้งนี้จะมีพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าในวันนี้ (18 ส.ค.2557) เวลา 09.19 น. หลังจากนั้นจะเริ่มประชุม สนช. เวลา 10:00 น. โดยประเด็นสำคัญที่จะมีการพิจารณาในวันนี้นอกจากเรื่องข้อบังคับการประชุม แล้วได้แก่เรื่อง งบประมาณรายจ่ายปี 2558 ซึ่งคาดว่าจะมีการลงมติรับหลักการในวันนี้ หลังจากนั้นจะตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อแปรญัตติ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนที่จะลงมติในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป ซึ่งงบประมาณน่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือน ก.ย.2557 ทันกำหนดเริ่มต้นปีงบประมาณ 1 ต.ค.2557

   สำหรับการประชุมเพื่อคัดเลือกตัวบุคคลเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะดำเนินการได้ในวันที่ 21 ส.ค.2557 หลังจากนั้นก็จะเป็นกระบวนการในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศประมาณช่วง ปลายเดือน ส.ค. หรือ ต้น ก.ย.2557
กระบวนการสำคัญที่เดินหน้าเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2558 และการจัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นกระบวนการที่น่าจะเป็นผลเชิงบวกต่อ Sentiment การลงทุน โดยที่น่าจะทำให้การดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสามารถที่จะเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามในส่วนของ SET Index เชื่อว่าน่าจะมีการตอบรับข่าวดังกล่าวล่วงหน้าไปแล้ว จากนี้ไปก็อาจจะมีการเก็งกำไรในบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการเดินหน้ามาตรการต่างๆ ในทางปฎิบัติ ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง อย่างเช่น SEAFCO (FV@B 7.04) และ SYNTEC (FV@B 2.60)

ต่างชาติขายประเทศในกลุ่ม TIP ทั้งหมด
      วันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาค ราว 147 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่ซื้อสุทธิติดต่อกัน 4 วันก่อนหน้า พบว่าประเทศที่ถูกขายทธิมากสุดคือกลุ่ม TIP นำโดย อินโดนีเซีย สลับมาขายสุทธิราว 165 ล้านเหรียญฯ (ซื้อติดต่อกัน 4 วันก่อนหน้า) ตามด้วยไทย ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 แต่ลดลงจากวันก่อนหน้า 17% เหลือราว 15 ล้านเหรียญฯ (480 ล้านบาท) ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ที่สลับมาขายสุทธิราว 12 ล้านเหรียญฯ (ขายสลับซื้อ 3 วันหลังสุด) สวนทางกับไต้หวันที่สลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 45 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขาย 4 วันหลังสุด) ขณะที่ตลาดในเกาหลีใต้ปิดทำการ
      ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงชะลอการซื้อหุ้นในภูมิภาค และสลับขายออกมาโดยพุ่งเป้ามาที่ประเทศในกลุ่ม TIP ซึ่งเริ่มทยอยขายสุทธิออกมาตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมาหลังจากที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา (มียอดซื้อสุทธิสะสมเกินกว่า 80% ของยอดขายตั้งแต่กลางปี 2556 ถึงต้นปี 2557) เว้นเพียงแต่ตลาดหุ้นไทย ที่ขายสุทธิต่อเนื่อง เพราะได้รับแรงกดดันจากการเมือง (ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยตอนกลางปีนี้เอง) เป็นที่สังเกตว่าดัชนีตลาดหุ้นใน TIP ล้วนกำลังติดแนวต้านที่สำคัญระยะสั้นจึงทำให้โอกาสการปรับฐานยังมีอยู่ต่อเนื่อง

กำไรงวด 2Q57 หดตัว 12% แต่ยังคงกำไรตลาดที่เดิม
    การประกาศผลการดำเนินงานงวด 2Q57 ของบริษัทจดทะเบียน (ข้อมูลถึงช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 15 ส.ค.) ซึ่งตามข้อมูลที่ฝ่ายวิจัยรวบรวม (85% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียน) ภาพรวมกำไรส่วนใหญ่เป็นไปตามคาด โดยมีกำไรสุทธิรวมราว 2 แสนล้านบาท ลดลงจากงวด 1Q57 ที่มีกำไรสุทธิ 2.23 แสนล้านบาท หรือลดลงราว 12%qoq โดยเป็นผลมาจาก การอ่อนตัวของกลุ่มสื่อสาร (-75% โดยเป็นการลดลงของผู้ประกอบการในค่ายมือถือทุกแห่งคือ ADVANC, DTAC, TRUE ยกเว้น JAS ทรงตัว และ THCOM ที่เติบโต 25% ตามตลาดต่างประเทศ), ยานยนต์ (-26% นำโดย IHL-33% TSC -40%, HFT -31% แต่เริ่มมีหลายบริษัททรงตัวคือ SAT, STANLEY, GYT, IRC เป็นต้น), ประกัน (-26% ปรากฏว่าลดลงทุกแห่งคือ BLA -85%, BKI -34%, THRE &THREL หดตัวใกล้กันราว 20%), ชิ้นส่วนฯ (-25% นำโดย HANA -56.9%, METCO -63% ยกเว้น SVI ทรงตัว DELTA +6.6% และ KCE 8%), การแพทย์ (-20% นำโดย BGH –28% และโรงพยาบาลขนาดกลาง SKR -50%, VIBHA -20% RAM -15% ยกเว้น BH ที่ทรงตัว), วัสดุก่อสร้าง (-18% นำโดย CCP -45%, SCCC -23%, TPIPL -27%, DCC -10% ยกเว้น VNG +85%)
      ตรงข้ามมีกลุ่มที่กำไรดีขึ้นจากงวดก่อนหน้าคือ สื่อ-บันเทิง (+32% หลักๆ มาจาก MAJOR งวด 2Q57 สร้างสถิติกำไรสูงสุด เพิ่มขึ้น 241% qoq ตามมาด้วย VGI กำไรงวด 2Q57 เติบโต 33.4% รวมทั้ง RS ที่งวด 2Q57 พลิกมาเป็นกำไร ส่วน BEC กำไรทรงตัว), อสังหาฯ (+21% นำโดย PS กำไรงวด 2Q57 เติบโตถึง 76%qoq, ANAN กำไรเพิ่ม 1.9 เท่า qoq, AP กำไรโตถึง 174.5%, LH เติบโต 40%qoq และ QH เติบโต 54%qoq ยกเว้น BLAND กำไรลดลง 40% qoq),ปิโตรฯ (+16% นำโดย IVL กำไรดีดตัวแรงกว่า 302% ยกเว้น PTTGC กำไรอ่อนตัวลงเล็กน้อย), พลังงาน (+11% นำโดย PTTEP 46.2%, PTT 10.8% ตรงข้ามกับ BCP, IRPC และ TOP ที่กำไรอ่อนตัวลง) และธนาคารพาณิชย์ (+3% นำโดย TMB กำไรเติบโตถึง 60% SCB กำไรเพิ่มขึ้น 23% ส่วน KBANK กับ BBL กำไรค่อนข้างทรงตัว ยกเว้น KTB และ KKP กำไรหดตัว 9% และ 14% ตามลำดับ)
      โดยภาพรวมทำให้กำไรงวด 1H57 อยู่ที่ราว 4.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 49.2% ของประมาณการกำไรสุทธิตลาดปี 2557 เดิม และแม้จะมีการปรับเปลี่ยนประมาณการกำไรในบางกลุ่ม เช่น ปรับเพิ่มประมาณการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (SCB, KBANK และ TMB) และกลุ่มอสังหาฯ (RML, PS และ SIRI) แต่ก็ถูกหักล้างจากการปรับลดประมาณการกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี (BANPU, IRPC) และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง (SCC) ขณะที่ยังมิได้รวมโอกาสที่จะมีปรับลดประมาณการของ THAI ด้วยเหตุนี้จึงยังคงประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2557 และ 2558 ไว้ที่เดิม 8.74 แสนล้านบาท และ 9.84 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นราว 98.14 บาท และ110.47 บาท ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลาดหุ้นไทยมิได้ถูก หากพิจารณาค่า Current P/E 16.19 เท่า หรือแม้จะเป็น Expected P/E 15.75 เท่า แม้จะมีแนวโน้มลดลงเหลือ 14 เท่าในปี 2558 แต่ ASP จะหันไปใช้ประมาณการกำไรตลาดปี 2558 เมื่อสิ้นสุดงบ 3Q57 ระยะสั้นยังคงเน้นการขายทำกำไรหุ้นรายตัวที่ขึ้นมาแพงเกินพื้นฐาน (EA, SSI, BAY, TK, LPN, HMPRO, BMCL, BCH, BIGC, TICON, SNC, BJC, PCSGH, TPIPL) และ ให้ลงทุนในหุ้น 40% ของเงินลงทุน โดยหุ้นเด่นช่วง 1-2 เดือน เพราะมีประเด็นบวกสนับสนุน คือ RCL (FV@B 12) และ BCP(FV@B36), RML(FV@B2.62) เป็นต้น

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!