WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

 

กลยุทธ์การลงทุน
ควันหลงจากการรายงานงบ 2Q57 พบหุ้นเด่นกำไรดีกว่าคาด นักวิเคราะห์ ASP ได้ปรับเพิ่มคำแนะนำเป็นซื้อคือหุ้น SRICHA(FV@B43.4) และยังชื่นชอบ BCP(FV@B36) จากค่าการกลั่นฟื้นตัวขึ้นมาที่ 3.5 เหรียญฯต่อบาร์เรล และยังเป็นหุ้น P/E ต่ำ และเงินปันผลสูง เลือกเป็น Top picks

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ปี 2557 น่าจะน้อยว่า 2%
        วานนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจในงวด 2Q57 อยู่ที่ 0.4% แต่ดีกว่างวด 1Q57 ที่ติดลบ 0.5% (แต่ต่ำกว่า ASP คาดเล็กน้อย ที่ 0.6%) หลักๆ แล้ว เป็นการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐเป็นหลัก (1.9%yoy vs 4.2% ในงวด 1Q57) ตามมาด้วยการบริโภคเอกชน (0.2% vs -3% ในงวด 1Q57) ขณะที่การลงทุนโดยรวม (-6.9%yoy vs -9.3% ในงวด 1Q57) และการนำเข้า-ส่งออก ยังชะลอตัว โดยรวมทำให้ ช่วง 1H57 ติดลบ 0.1% และคาดว่าน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในงวด 6 เดือนหลังของปีนี้ โดยหากอิงประมาณการ ASP ที่คาดว่าจะเติบโต 2% ตลอดปี 2557 ในช่วงที่เหลือ 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีจะต้องเติบโตไม่น้อยกว่า 4.1% ซึ่งมีความเป็นไปได้ต่ำ จึงมีโอกาสที่ ASP จะปรับลดประมาณการลงต่ำกว่า 2% แต่อย่างไรก็ตามคาดว่า ปี 2558 จะขยายตัวได้ 3.5-4.5% โดยน่าจะได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐ หลังจากโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมีความคืบหน้า (รถไฟ, ก่อสร้างทางหลวง, พลังงาน และระบบบริหารจัดการน้ำ) ซึ่งจะหนุนการลงทุนเอกชนตามมา นอกเหนือจากการใช้จ่ายและการบริโภค ภาคครัวเรือนเป็นตัวนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


      ส่วนทางด้านสหรัฐ ล่าสุดพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านใน ส.ค. ยังฟื้นตัวต่อเนื่องมาที่ 55 (ติดต่อเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 7 เดือน) อันเกิดจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน แม้ระยะสั้นอาจจะผันผวนอยู่บ้าง เนื่องจากจำนวนแรงงาน Part-time ที่มีจำนวนมากถึง 7.5 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 325,000 คน ในเดือน ก.พ.) และต้องการเข้าสู่การจ้างงานแบบเต็มเวลา (Full time) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงโอกาสการจ้างงานในสหรัฐยังมีอยู่ แม้ว่าอัตราการว่างงานในเดือน ก.ค. จะลดลงมาที่ 6.2% (ต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้นที่ 6.5%) แต่ยังสูงกว่าที่ระดับ 5.5% ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติซับไพร์ม อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการประเมินนโยบายการเงินของนางเยลเลน จากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง และนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก เกี่ยวกับการทบทวนการขยายตัวของตลาดแรงงานอีกครั้ง ที่จัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน เริ่มวันที่ 21 ส.ค. นี้ และวันนี้เวลา 19.30 ตามเวลาประเทศไทยจะมีรายงานอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ

กำไรตลาดใน 2Q57 ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย แต่คงประมาณการเดิม
     Update จนถึงวานนี้ พบว่ากำไรสุทธิของทั้งตลาดงวด 2Q57 หดตัว 13% (qoq) เหลือ 1.94 แสนล้านบาท หลักๆ เกิดจากกลุ่มขนส่ง และกลุ่มท่องเที่ยวประสบภาวะขาดทุน (จากกำไรในงวดก่อน) นำโดยสายการบิน (THAI, AAV และ NOK) ยกเว้นเดินเรือฟื้นตัวเล็กน้อย และโรงแรม (ERW, CENTEL, MINT) ตามมาด้วยกลุ่มที่กำไรหดตัว เริ่มจาก สื่อสาร หดตัว 75% ( จาก ADVANC, DTAC, TRUE ยกเว้น JAS ทรงตัว และ THCOM ที่เติบโต 25%), ยานยนต์ หดตัว 26% ( IHL -33% TSC -40%, HFT -31% แต่มีหลายบริษัทเริ่มทรงตัวคือ SAT, STANLY, GYT, IRC เป็นต้น), ประกัน หดตัว 26% (BLA -85%, BKI -34%, THRE &THREL หดตัวใกล้กันราว 20%), ชิ้นส่วนฯ หดตัว 25% (HANA -56.9%, METCO -63% ยกเว้น SVI ทรงตัว DELTA +6.6% และ KCE 8%), การแพทย์ หดตัว 20% (นำโดย BGH –28% SKR -50%, VIBHA -20% RAM -15% ยกเว้น BH ที่ทรงตัว), วัสดุก่อสร้าง หดตัว 18% (CCP -45%, SCCC -23%, TPIPL -27%, DCC -10% ยกเว้น VNG +85%)
       ตรงข้าม กลุ่มที่กำไรดีขึ้น qoq คือ สื่อและบันเทิง เพิ่มขึ้น 32% (จาก MAJOR งวด 2Q57 ทำกำไรสูงสุด และเพิ่มขึ้น 241% ตามมาด้วย VGI กำไรงวดนี้เติบโต 33.4% และ RS ที่พลิกจากขาดทุนเป็นกำไร ยกเว้น BEC ทรงตัว), อสังหาฯ เพิ่มขึ้น 21% (นำโดย PS กำไรงวดนี้เติบโตถึง 76%qoq, ANAN กำไรเพิ่ม 1.9 เท่า qoq, AP กำไรโตถึง 174.5%, LH เติบโต 40%qoq และ QH เติบโต 54%qoq ยกเว้น BLAND กำไรลดลง 40% qoq), ปิโตรฯ เพิ่มขึ้น 16% (นำโดย IVL กำไรดีดตัวแรงกว่า 302% ยกเว้น PTTGC กำไรอ่อนตัวลงเล็กน้อย), พลังงาน เติบโต 11% (นำโดย PTTEP 46.2%, PTT 10.8% ตรงข้ามกับ BCP, IRPC และ TOP ที่กำไรอ่อนตัวลง) และธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 3% (นำโดย TMB เติบโตถึง 60% SCB เพิ่มขึ้น 23% ส่วน KBANK กับ BBL ทรงตัว ยกเว้น KTB และ KKP หดตัว 9% และ 14% ตามลำดับ)
    โดยภาพรวมกำไรสุทธิของทั้งตลาดงวด 1H57 อยู่ที่ราว 4.17 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 49.2% ของประมาณการกำไรสุทธิตลาดปี 2557 เดิม และแม้จะมีการปรับปรุงประมาณการกำไรบางกลุ่ม เช่น ปรับเพิ่มกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (SCB, KBANK และ TMB) และกลุ่มอสังหาฯ (RML, PS และ SIRI) แต่ก็ถูกหักล้างจากปรับลดลงของกลุ่มบันเทิง (MCOT) ประกันภัย (BLA) วัสดุก่อสร้าง (SCC) รับเหมาก่อสร้าง (TTCL, UNIQ) ปิโตรเคมี (IRPC) และขนส่ง (AAV, PSL, THAI) ทำให้สุทธิแล้วกำไรสุทธิของตลาดในปี 2557 ต่ำกว่าเดิมราว 1.6% แต่ปี 2558 สูงกว่าประมาณการ 1.7% จึงยังคงประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2557 และ 2558 ไว้ที่เดิม 8.74 แสนล้านบาท และ 9.84 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นราว 98.14 บาท และ110.47 บาท ตามลำดับ ซึ่งพบว่า SET Index มีค่า Current P/E 16.19 เท่า หรือแม้จะเป็น Expected P/E 15.75 เท่า แม้จะมีแนวโน้มลดลงเหลือ 14 เท่าในปี 2558 แต่ ASP จะหันไปใช้ประมาณการกำไรตลาดปี 2558 เมื่อสิ้นสุดงบ 3Q57 ระยะสั้นยังคงเน้นการขายทำกำไรหุ้นรายตัวที่ขึ้นมาแพงเกินพื้นฐาน (EA, SSI, BAY, TK, LPN, HMPRO, BMCL, BCH, BIGC, TICON, SNC, BJC, PCSGH, TPIPL) และให้ลงทุนในหุ้น 40% ของเงินลงทุน โดยหุ้นเด่นช่วง 1-2 เดือน เนื่องจากมีประเด็นบวกสนับสนุน คือ BCP (FV@B36), RML (FV@B2.62), SRICHA (FV@B43.4) เป็นต้น

ยอดซื้อขายต่างชาติในภูมิภาคเบาบางลง
      วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 แต่ยอดขายกลับเบาบางเพียง 1 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น (วันก่อนหน้าขายสุทธิ 147 ล้านเหรียญฯ) โดยที่เป็นการขายสลับซื้อสุทธิเบาบางรายประเทศ ขายสุทธิสูงสุดคือไทย ขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 31 ล้านเหรียญฯ (983 ล้านบาท, เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ขายสุทธิเล็กน้อยเป็นวันที่ 2 ราว 1 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 94% จากวันก่อนหน้า) และเกาหลีใต้สลับมาขายสุทธิราว 1.4 แสนเหรียญฯ (ซื้อติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า) สวนทางกับไต้หวันที่ยังซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 23 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 49%) และอินโดนีเซีย สลับมาซื้อสุทธิราว 8 ล้านเหรียญฯ (ซื้อสลับขาย 3 วันหลังสุด)
     เป็นที่สังเกตว่า การที่ยอดซื้อขายในตลาดหุ้นได้ลดลงทั้งภูมิภาค น่าจะเป็นผลมาจากการรอดูตัวเลขเศรษฐกิจของทางฝั่งสหรัฐฯ ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ของไทยนักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิอีกครั้งราว 2.0 พันล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามยังถือว่ายอดซื้อยังคงเบาบางอยู่ หากเทียบกับยอดขายในช่วงก่อนหน้า (ซื้อสุทธิ 2 ใน 10 วันหลังสุด) ส่งผลให้เงินบาทยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 31.85 บาทต่อเหรียญฯ

ค่าการกลั่นฟื้นตัวต่อเนื่อง BCP ได้ประโยชน์มากสุด
      ปัจจุบันค่าการกลั่น ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับน้ำมันดิบ อยู่ที่ระดับ 3.46 เหรียญ/บาร์เรล ฟื้นตัวขึ้นกว่า 38% จากจุดต่ำสุดบริเวณ 2.5 เหรียญ/บาร์เรล เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากสถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลางที่แม้จะรุนแรง แต่ก็ไม่ได้แผ่ขยายวงกว้างไปจนถึงแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญ รวมทั้งการเปิดท่าเรือส่งออกน้ำมันในลิเบียอีกครั้ง ส่งผลให้น้ำมันดิบดูไบลดลงถึงกว่า 10% นับตั้งแต่ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 111 เหรียญ/บาร์เรล เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย. เป็นต้นมา ลงมาอยู่ที่ 100 เหรียญ/บาร์เรล จึงเป็นเหตุที่หนุนให้ค่าการกลั่นฟื้นตัวดังกล่าว และน่าจะดีต่อผู้ประกอบการที่ได้มีรายได้หลักอยู่ในธุรกิจโรงกลั่นกล่าวคือ BCP (ซื้อ : FV@B36) ได้ประโยชน์สูงสุดเนื่องจากเป็นผู้ประกอบที่เน้นโรงกลั่นเป็นหลัก สัดส่วน 75% ของรายได้ ที่เหลือเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (เตรียมขยายกำลังการผลิตเต็มที่ทั้ง 3 Phases ในงวด 2H57 เป็น 118 เมกะวัตต์ (เทียบกับ 70 เมกะวัตต์ ในปี 2556) โดยรวมแม้ผลการดำเนินงานในปี 2557 จะอ่อนตัวลงจากปีที่แล้วราว 13% เนื่องจาก GRM ลดลงต่ำสุด แต่จะกลับมาเติบโต 16.3% ในปี 2558 เนื่องจากไม่ต้องมีการ shutdown โรงงาน

      รวมทั้งจากการขับเคลื่อนหลักของธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่เดินหน้าผลิตครบ 3 เฟส ฝ่ายวิจัยยังคงคำแนะนำซื้อ จากแนวโน้มกำไรที่เติบโตต่อเนื่องและมีเสถียรภาพระยะยาว โดยมีค่า P/E 10 เท่า ในปี 2557 และจะลดเหลือ 8.6 เท่า ในปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก ขณะที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยสูงถึง 5% ต่อปี ขณะที่ TOP (ถือ : FV@B56) มีสัดส่วนรายได้จากโรงกลั่น 65% ที่เหลือเป็นปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ 25% (อีก 10% เป็นท่าเรือ เอทานอล และ โรงไฟฟ้า) ผลประกอบการงวด 2Q57 ย่ำแย่ เพราะค่าการกลั่นหดตัว 13.7% จากงวด 1Q57 รวมทั้งมีการหยุดเครื่องซ่อมบำรุงโรงกลั่น และโรงอะโรเมติกส์ และผลกระทบจากค่าอะโรเมติกส์ที่ลดลง จากปัญหา oversupply ในตลาดโลก และคาดว่าแนวโน้มงวด 3Q57 ของ TOP น่าจะอ่อนตัวต่อ เพราะการปิดซ่อมบำรุงข้างต้นใช้เวลา 40 วัน น่าจะกินเวลานานมาถึงงวด 3Q57 แม้ค่าการกลั่นจะฟื้นตัวดังกล่าวข้างต้นก็ไม่น่าจะมีผลสนับสนุนกำไรมากนัก ขณะที่ธุรกิจอะไรเมติกส์ ยังได้รับแรงกดดันจาก Supply อะโรเมติกส์ (Px) ออกมาสู่ตลาดเพิ่มเติมทำให้ปริมาณเกินความต้องการโดยรวม 2.4 ล้านต้น ทำให้กำไรสุทธิโดยรวมทั้งปีนี้หดตัว 25% แต่คาดว่าปี 2558 จะฟื้นตัวจากปี 2557 ราว 34% เนื่องจากไม่ต้องปิดโรงงาน และ คาดว่าราคาอะโรเมติกส์น่าจะทรงตัวหรือดีขึ้นจากปี 2557 เล็กน้อย หลังจากที่ตกต่ำอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้จะทำให้ค่า P/E ของ TOP ลดลงจาก 13.5 เท่าในปี 2557 เหลือ 10 เท่าในปี 2558 ระยะสั้นแม้นักวิเคราะห์ ASP จะมีคำแนะนำถือ แต่คาดว่า โอกาสที่ราคาหุ้นจะลดลงจากนี้คงน้อยแล้ว จึงแนะนำให้ทยอยสะสม หรือ ซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
      ส่วน PTTGC (ซื้อ FV@B84) น่าจะได้ประโยชน์น้อยเพราะมีสัดส่วนโรงกลั่นเพียง 25% อะโรเมติกส์ 25% และ โอเลฟินส์ 50% สำหรับผลประกอบการงวด 2Q57 ลดลงเล็กน้อยจากการบันทึกค่าใช้จ่ายพิเศษ แต่หากตัดรายการดังกล่าวออกจะมีกำไรจากการดำเนินงาน 19%qoq จากการกลับมาเดินเครื่องโรงงานโอเลฟินส์หลังจาก shutdown ไปในงวด 1Q57 รวมทั้งค่าการกลั่นสุทธิ (Net GRM) เพิ่มขึ้นถึง 41.5%qoq ปัจจุบัน PTTGC ให้ความสำคัญกับการลงทุนในผลิตภัณฑ์ขั้นปลายชนิดพิเศษและขยายช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซียเป็นหลัก เนื่องจากมีศักยภาพการเติบโตในระดับสูงได้ในระยะยาว เพราะ demand ในผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่นยังมีมากกว่า Supply ที่ผลิตได้ในประเทศ ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจในช่วง 2H57 ธุรกิจโอเลฟินส์ถือเป็นธุรกิจหลักที่จะผลักดันการเติบโตของ PTTGC ตาม Spread ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกทั้ง HDPE, LDPE และ LLDPE ที่ล้วนอยู่ในทิศทางขาขึ้นของอุตสาหกรรม โดยรวมแม้ปี 2557 กำไรสุทธิจะหดตัว 10% จากปี 2556 แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัว โดยเติบโต 16% จากปี 2557 ขณะที่ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงสะท้อนปัจจัยลบต่างๆ ระดับหนึ่งแล้ว เห็นได้จากราคาหุ้นมี PER เพียง 9.9 เท่า ในปีนี้ และลดลงเหลือ 8.5 เท่าในปี 2558 โดยยังมี Div Yield เฉลี่ยต่อปีสูงถึง 5% จึงแนะนำซื้อลงทุนระยะยาว

ควันหลงกำไรจาก 2Q57 ดีกว่าคาด เลือก SRICHA เป็น Top pick
     งวด 2Q57 SRICHA ทำกำไรได้ดีกว่าคาด เพราะการบันทึกมูลค่างานเพิ่มจากโครงการที่ทำให้กับไทยออยล์หลังเสร็จโครงการโดยแทบไม่มีต้นทุน ทำให้ SRICHA มี gross margin เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 46% อีกทั้งยังสามารถควบคุม SG&A ให้อยู่ที่ระดับ 5% ของยอดขาย และส่งผลให้ Net Profit Margin งวด 2Q57 ขึ้นเป็น 37.4% ซึ่งช่วยชดเชยกำไรงวด 1Q57 ที่ต่ำกว่าคาด โดยกำไร 6 เดือนแรกคิดเป็นประมาณ 40.4% ของประมาณการเดิม ขณะที่คาดว่ากำไรใน 6 เดือนหลังของปีนี้ คาดว่าจะมีแนวโน้มสดใสกว่า 6 เดือนแรกของปี โดยคาดหวังจะมี backlog ใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้น แม้ ณ สิ้น 2Q57 มี Backlog ต่ำเพียง 553 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้รับงานใหม่ (เป็นโครงสร้างเหล็ก) จาก CUEL Limited ซึ่งเป็นงานเร่งด่วนมาก มูลค่างานราว 400 ล้านบาท และในช่วง 6 เดือนหลังมีแผนประมูลงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2 แห่งในพม่า มูลค่า 200 ล้านบาท และ 600 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ Backlog เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1 พันล้านบาท ทั้งนี้ไม่นับรวมสัญญาซ่อมบำรุงและดูแลรักษาเครื่องจักรในมาดากัสการ์อีกประมาณ 400 ล้านบาท/ปี และยังรับรู้รายได้จากบริษัทลูกคือบริษัทเอสซีซี เมนเทนแนนซ์ เซอร์วิสเซส จำกัด ปีละ 500-600 ล้านบาททุกปี น่าจะทำให้กำไรสุทธิปี 2557 เป็นไปตามเป้าหมาย คือ 1035 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% และ จะน่าจะรักษาระดับ 1,044 ล้านบาท ทรงตัวจากปี 2557 แต่ด้วยจุดเด่นที่มี Expected P/E 10.8 เท่า และเงินปันผลสูง 7.6% โดยกำหนด Fair Value อิง Expected P/E 13 เท่า จะให้ราคาเหมาะสม 43.40 บาท มี Upside 20% นักวิเคราะห์ ASP จึงปรับเพิ่มคำแนะนำจาก ถือ เป็น ซื้อ

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!