WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
     Sentiment เชิงบวกในต่างประเทศ แต่ด้วยระดับ Expected P/E 16.2 เท่า ยังเป็นจังหวะการปรับพอร์ต และให้สลับมาซื้อหุ้น Laggards พื้นฐานแกร่ง มีเงินปันผลรองรับ (STPI, SRICHA, BEC, RS) และยังเลือก BEC(FV@B56) เป็น Top pick เชื่อว่าสุดท้ายทุกอย่างต้องจบด้วยดี โดยคาดว่าจะจ่ายเงินปันผลสูง 4.5% ราคาหุ้น ณ ปัจจุบันเป็นโอกาสสะสม

FED เริ่มออกมาเตือน โอกาสขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น
        ดัชนี ชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังยืนยันการฟื้นตัวแข็งแกร่ง โดยเฉพาะภาคครัวเรือน พบว่ายอดขายบ้านใหม่เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.04 แสนยูนิต เป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีกว่า และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 4.3 แสนยูนิตในปี 2556 (ตลาดบ้านใหม่ได้ฟื้นตัวระดับ 4 แสนยูนิตตั้งแต่ต้นปี 2556 แต่ได้ปรับตัวลดลงมาที่ 3.5 แสนยูนิต ในช่วงกลางปี 2556 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยจำนองเพิ่มขึ้น) ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้าน เดือน ส.ค. ที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน ถึงแม้ว่ายอดการอนุญาตก่อสร้างบ้าน และยอดสั่งสร้าง เดือน ส.ค. จะลดลงจากเดือนก่อนหน้า และเช่นเดียวกับยอดขายบ้านมือสอง เดือน ส.ค. ที่เพิ่มขึ้นในระดับ 5.05 ล้านยูนิต ซึ่งยืนเหนือ 5 ล้านยูนิตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ยังต่ำกว่ายอดสูงสุด 5.38 ล้านยูนิต ใน ก.ค. 2556
เช่นเดียวกับภาคการผลิต ล่าสุดพบว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิต (มาร์กิต) เดือน ก.ย. ทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 ปี และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือน ก.ค.และ ส.ค. กลับมาขยายตัวมากกว่าเดือนละ 30%yoy เป็นอัตราสูงสุด ในรอบกว่า 5 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้ นางเยลเลนฯ (ประธาน FED) ได้ออกมาเตือนนักลงทุน ให้เตรียมตัวกับโอกาสที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยฯ เร็วกว่าที่คาด แม้ที่ผ่านมาจะให้ความหวังนักลงทุนว่าจะยืนดอกเบี้ยระดับต่ำไปอีกระยะแต่ก็ได้เปิดช่อง หรือมีความยืดหยุ่นในการใช้นโยบายที่เข้มงวด ในสถานการณ์ที่เหมาะสม ขณะที่ตลาดคาดหมายว่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยฯ ราว 2H58 ถือว่าเป็นปัจจัยกดดันตลาดที่ต้องให้น้ำหนัก

ต่างชาติยังขายหุ้นในภูมิภาค แต่กลับซื้อไทยหนักสุดในรอบปี
     แม้ว่าวานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคติดต่อเป็นวันที่ 11 แต่ยอดขายลดลงถึง 94% จากวันก่อนหน้า เหลือเพียงราว 33 ล้านเหรียญฯ แต่เป็นการสลับซื้อขายรายประเทศ เริ่มจากไต้หวัน ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 11 ลดลง 12% เหลือราว 181 ล้านเหรียญฯ และ อินโดนีเซีย ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 37 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 26%) สวนทางกับ ไทยที่ยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ราว 143 ล้านเหรียญฯ (4.6 พันล้านบาท, เพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าตัวจากวันก่อนหน้า) ส่วน เกาหลีใต้ และ ฟิลิปปินส์ สลับมาซื้อสุทธิเช่นกัน ราว 32 และ 9 ล้านเหรียญฯ ตามลำดับ
      แรงขายจากต่างชาติในภูมิภาคเริ่มลดลง ในขณะที่ในตลาดหุ้นไทยวานนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหนักถึง 4.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นยอดซื้อสุทธิสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี (ครั้งล่าสุดคือวันที่ 19 ก.ย. 2556 ซื้อสุทธิ 5.5 พันล้านบาท) โดยเป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่อง 15 จาก 18 วันหลังสุด รวมกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท สวนทางกับกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และ พอร์ตโบรกเกอร์ที่สลับมาขายสุทธิทั้งหมด ราว 1.5 พันล้านบาท และ 372 ล้านบาท ตามลำดับ

กลยุทธ์การลงทุนงวด 4Q57 ยังเน้นลงทุนหุ้น Laggards
      จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดข้างต้น คาดว่าน่าจะหนุนให้เงินสกุลดอลลาร์กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง หลังจากที่ชะลอการแข็งค่าในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์ได้แข็งค่า 6.66% นับจากเดือน ก.ค. เป็นต้นมา แต่แข็งค่าขึ้น 2.8% เฉพาะใน ก.ย. โดยวานนี้พบว่าดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ระดับ 85.09 ทำสถิติแข็งค่าสุดเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลกนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2553 เป็นต้นมา ทั้งนี้ สวนทางกับเงินยูโรที่วานนี้ลงไปทำระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน เมื่อเทียบกับดอลลาร์ หลังจากการรายงานดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปอ่อนแอ โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมัน เดือน ก.ย.ลดลงมากกว่าคาด รวมทั้งถ้อยแถลงของนายมาริโอ ดรากิ ประธาน ECB กล่าวในการให้สัมภาษณ์วานนี้ว่า อัตราดอกเบี้ยยูโรโซนจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำต่อไป
      ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคเอเซียในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาก็อยู่ในทิศทางอ่อนค่าเช่นกัน โดยเฉพาะเยนอ่อนค่า 0.43% และ รูปีอ่อนค่า 0.31% ขณะที่เปโซฟิลิปปินส์ และริงกิตมาเลเซีย ยังทรงตัวอยู่ เช่นเดียวกับค่าเงินบาทไทย วานนี้อยู่ที่ 32.21 บาท/ดอลลาร์
      โดยรวมคาดว่ายังเป็นปัจจัยกดดันให้สินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มอ่อนตัวต่อ โดยคาดว่าทองคำ น่าจะลดลงทดสอบ 1200 เหรียญฯต่อ ทรอยออนซ์ และน้ำมันดิบโลก มีโอกาสแกว่งลง โดยน่าจะอยู่ระหว่างต่ำกว่า 95 เหรียญฯต่อบาร์เรลไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่ตลาดหุ้นโลกเชื่อว่าน่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระดับ Expected P/E ปี 2557 ที่สูงเกิน 16 เท่า กล่าวคือ ตลาดหุ้นไทย มี Expected P/E ราว 16.2 เท่า และแม้จะลดลงเหลือ 14.3 เท่าในปีหน้า อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ค่าราว 16.8 เท่า และ 16.8 ในปีนี้ และ 14.3 เท่า และ 15.3 ในปีหน้า ตามลำดับ ทั้งนี้ยกเว้น ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ที่สูงกว่าไทย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย คืออยู่ที่ 20.5 เท่า และ 17.3 เท่า ในปีนี้ และ 17.7 เท่า และ 14.5 เท่า ในปีหน้า ตามลำดับ แต่เป็นที่สังเกตว่าเศรษฐกิจไทย มีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าภูมิภาค กล่าวคือปี 2557 GDP Growth ไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 1.5% แม้จะเพิ่มเป็น 3.5% ขณะที่ฟิลิปปินส์ และอินเดียเติบโต 6.5% และ 5.4% แต่จะเพิ่มเป็น 6.5% และ 6.4% ตามลำดับ ขณะที่อินโดนีเซียปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 5.4% และ 5.8% ในปีหน้า ส่วนมาเลเซีย คาดว่าจะเติบโต 5.2% ในปีนี้ และ 5% ในปีหน้า

      กลยุทธ์การลงทุนจึงยังแนะนำให้สลับขายหุ้นที่ขึ้นแรง และหลบภัยในหุ้นพื้นฐานปลอดภัย สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
หุ้น laggards ที่มี Divi Yield และ upside สูง ได้แก่ INTUCH, BTS, BEC, RS, ADVANC
หุ้น laggards ที่มี Div. Yield และ upside สูง แต่มี P/E ต่ำ ได้แก่ PTTGC, BECL, STPI, SRICHA, SC, TMB

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!