WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      แผนกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มีอะไรใหม่ และน่าจะอยู่ในราคาหุ้นแล้ว จึงยังเน้นปรับพอร์ตขายหุ้นเกิน Fair Value และ P/E สูง แต่ยังเลือกซื้อหุ้นพื้นฐานที่มีเงินปันผล + upside สูง (STPI, SRICHA, BEC, RS, AIT) และยังเลือก TASCO(FV@B63.25) เป็น Top pick ได้รับผลดีที่ราคาน้ำมันยังร่วงต่อ

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ตลาดน่าจะรับรู้ไปแล้ว
      การประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค. 2557) ไม่มีอะไรแปลกใหม่ และเชื่อว่าได้สะท้อนในภาพรวมเศรษฐกิจและราคาหุ้นส่วนใหญ่ไปแล้ว ทั้งนี้หลักๆ จะเป็นเพียงการเร่งเบิกจ่ายงบที่ยังค้างท่อ ซึ่งอาจจะช่วยกระตุ้นการลงทุนของรัฐ (I) ในงวด 4Q57 โดยมีวงเงิน 3.24 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
  1. ขยายเวลาการเบิกจ่ายงบฯ ปี 2557 ที่ยังเหลืออยู่ 1.47 แสนล้านบาทหรือราว 46% ของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้ จากเดิมสิ้นสุด ก.ย. นี้ ไปถึง ธ.ค. 2557 เพื่อผลักดันให้หน่วยงานราชการเร่งจ้างงาน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 จะช่วยหนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น
  2. เร่งรัดการทำสัญญาจ้างตามงบฯ ปี 2558 ให้ได้ 30-40% ของงบประมาณหรือราว 1.29 แสนล้านบาท (ราว 40% ของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้) ภายใน 3 เดือนแรกปีงบประมาณ เพื่อให้เกิดการลงทุนเช่นกัน
  3. สร้างงาน ผ่านเร่งซ่อม สร้าง สาธารณูปโภคภาครัฐ เช่น อาคาร โรงเรียน โรงพยาบาล ระบบชลประทาน ระบบขนส่ง ถนน และเส้นทางหลัก โดยใช้งบฯ รวม 2.3 หมื่นล้านบาท (ราว 7% ของวงเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้)
  4. ทบทวนโครงการที่ยังค้างอยู่อีกราว 2.49 หมื่นล้านบาท (7% ของวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้) ให้เร่งพิจารณาลงนาม เพื่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างโดยเร็วภายในสิ้นปี 2557 นี้
นอกจากนี้ยังกำหนดวงเงินให้เงินช่วยเหลือ ชาวนาที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองครอบครัวละไม่เกิน 15,000 บาท (ไม่เกิน 15 ไร่ ๆ ละ 1,000 บาท/ไร่) เป็นค่าปัจจัยการผลิต วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งน่าจะช่วยชาวนาได้ราว 2.66 ล้านครัวเรือน ซึ่งถือว่าน่าจะกระตุ้นกำลังซื้อในระดับรากหญ้าได้ระดับหนึ่ง (C) เนื่องจากภาคเกษตรเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
และสุดท้าย เร่งอนุมัติส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตามคำขอ 380 ราย วงเงินลงทุนรวมประมาณ 429,208 ล้านบาท ซึ่งน่าจะหนุนให้การลงทุนเอกชน (I) มีความคืบหน้ามากขึ้น แต่คาดว่าต้องใช้เวลา ตามขั้นตอนการลงทุน
ทั้งนี้ แม้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่ออกมา อาจจะไม่แรงพอที่จะหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้มากนัก เนื่องจากยังไม่มีการกล่าวถึงโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ แต่ก็คาดว่าน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคครัวเรือน (55% ของ GDP) มีแนวโน้มฟื้นตัวในงวด 4Q57 เป็นต้นไป (ฝ่ายวิจัยคาด GDP Growth งวด 3Q57 และ 4Q57 จะเติบโต 2.7% และ 3.3% ตามลำดับ) รวมทั้งภาคก่อสร้าง ก็น่าจะได้ sentiment บวกด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นในกลุ่มรับเหมาฯ ได้ปรับขึ้นจนเกินมูลค่าพื้นฐาน หรือมี upside จำกัดแล้ว กลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นที่ยัง laggard ตลาด ฝ่ายวิจัยเลือก TASCO เป็น Top pick เนื่องจากได้ประโยชน์มากสุด

ยุโรปย่ำแย่ลง สวนทางสหรัฐ
คาดว่าผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ (จะรู้ผลพรุ่งนี้ตามเวลาไทย) ตลาดคาดว่า จะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกครั้ง เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปยังย่ำแย่ สะท้อนจากล่าสุด รัฐบาลอิตาลีประกาศปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2557 อยู่ที่ ติดลบ 0.3% จากเดิม 0.8% และ PMI การผลิตของยุโรป เดือน ก.ย. ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน โดย PMI ภาคการผลิต ของเยอรมัน อยู่ที่ระดับ 49.9 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 15 ปี และตามด้วยอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. ชะลอตัวที่ระดับ 0.3% (ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้า 0.4% และใกล้เคียงช่วงวิกฤติการเงิน) ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้นที่ 2% อย่างมาก และอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง 11.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง แต่มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งคงต้องติดตามผลการประชุมอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
สวนทางกับสหรัฐ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัว แม้อาจจะชะลอตัวบ้างในช่วงสั้นๆ กล่าวคือภาคการผลิต เดือน ก.ย. ดัชนี ISM ขยายตัวในอัตราการช้าลง ที่ระดับ 56.6 จากระดับ 59 ในเดือนก่อนหน้า (ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ มี.ค. 2554) และ ดัชนี PMI ขยายตัวช้าลงเล็กน้อยที่ระดับ 57.5 จาก 57.9 ในเดือนก่อนหน้า แต่โดยรวมแล้ว ถือว่าภาคการผลิตยังขยายตัวต่อเนื่องและอยู่ในทิศทางขาขึ้น ขณะที่ตลาดแรงงาน ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยการจ้างงานภาคเอกชน ADP เดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 213,000 ตำแหน่ง มากกว่าที่คาด และมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งหลักๆ แล้ว เป็นการเพิ่มขึ้นจากการจ้างงานในภาคบริการ ภาคการผลิต และภาคก่อสร้าง ตามลำดับ
ส่วนในช่วงค่ำของวันนี้ จะมีการรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.ย. ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 215,000 ตำแหน่ง และสูงกว่าเดือนก่อนหน้า และอัตราการว่างงาน ในเดือน ก.ย. ซึ่งคาดว่าจะทรงตัว 6.1% ทั้งนี้ 2 ปัจจัยนี้จะเป็นตัวแปรหลักในการบ่งชี้ ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ (FED) ซึ่งถือว่ายังเป็นปัจจัยกดดันตลาด ตราบที่ยังไม่มีกำหนดกรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจน
และเงินเฟ้อไทยลดลง ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ รายงาน เงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ย. อยู่ที่ 1.75%yoy ชะลอจาก 2.09%yoy ในเดือนก่อนหน้า ทำให้ช่วง ม.ค.-ก.ย. อยู่ที่ 2.15% ทั้งนี้น่าจะเป็นผลจาก จากการลดลงของราคาน้ำมันโลก และราคาเนื้อสัตว์ เนื่องจากอุปทานเพิ่มมากขึ้นจากเทศกาลกินเจ จึงทำให้เงินเฟ้อปีนี้อาจจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย (2.00-2.80%) และตอกย่ำอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยืนที่ 2% ต่อไป

ต่างชาติขายสุทธิหุ้นเอเซียเป็นวันที่ 15
วานนี้แม้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 15 แต่ยอดขายลดลง 95% เหลือเพียงราว 21 ล้านเหรียญฯ และยัง เป็นการขายสุทธิเกือบทุกประเทศ คือ ไต้หวันขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 15 ราว 160 ล้านเหรียญฯ แต่ลดลง 60% จากวันก่อนหน้า ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 ราว 74 ล้านเหรียญฯ และเพิ่มขึ้น 66% ส่วนไทยขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ราว 13 ล้านเหรียญฯ (425 ล้านบาท, ลงลง 76% จากวันก่อนหน้า) และ ฟิลิปปินส์สลับมาขายสุทธิเล็กน้อยราว 3 ล้านเหรียญฯ ทั้งนี้ยกเว้น เกาหลีใต้ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 229 ล้านเหรียญฯ เทียบกับที่ซื้อสุทธิเพียง 15 ล้านเหรียญฯในวันก่อนหน้า
เป็นที่สังเกตว่า แม้ต่างชาติได้ขายสุทธิตลาดหุ้นไทยติดต่อกัน 3 วัน แต่ถือว่าไม่มากนักหากเทียบกับยอดซื้อสุทธิตลอดเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ในตลาดตราสารหนี้วานนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิอีกเล็กน้อยราว 407 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันเงินบาทให้อ่อนค่าต่อเนื่องตลอดกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา

ค่าเงินเอเซียอ่อน หุ้นใหญ่อิ่มตัว เหลือเล็กเริงร่า
ในสถานการณ์ที่ตลาดเงินโลกผันผวนต่อไป ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากความคาดหวังว่าสหรัฐจะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 7 ปี ซึ่งอาจจะแรงดึงให้เงินทุนต่างชาติทยอยไหลกลับ ซึ่งจะมิใช่แต่เพียงตลาดหุ้น แต่มีการขายตลาดตราสารหนี้ไปควบคู่กัน ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ค่าเงินเอเซียอ่อนค่าต่อเนื่องในระยะ 1-2 เดือนที่ผ่านมา โดยพบว่าเงินรูเปียะห์ ของอินโดนีเซียอ่อนค่ามากสุด 4.1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลาเกือบ 2 เดือน และตามมาคือ เงินบาทอ่อนค่า 2% ขณะที่ค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์ และ เงินริงกิตของมาเลเซีย เพิ่งอ่อนค่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แต่อ่อนค่ามากถึง 3.1% และ 3.6% ตามลำดับ และค่าเงินรูปีย์ของอินเดีย อ่อนค่าราว 2.3% ในช่วง 1 เดือน
เชื่อว่าแนวโน้มเงินเอเซียยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่านับจากนี้ โดยเฉพาะ หลังการถอนมาตรการ QE เสร็จสิ้น และจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในระยะ 6-9 เดือนข้างหน้า ขณะที่ตลาดหุ้นในเอเซียได้มีการปรับตัวขึ้นเฉลี่ยกว่า 300% ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (อินโดนีเซีย 347% ฟิลิปปินส์ 319% และไทย 315% ส่วนอินเดียให้ผลตอบแทนราว 230% และจีนให้ผลตอบแทนต่ำสุดเพียง 35%) คือ ในระหว่างที่มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านมา QE การปรับฐานของตลาดหุ้นเอเซียจึงเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนับจากนี้
สำหรับตลาดหุ้นไทย พยายามประคอง หรือ ยืนใกล้ 1600 จุด มานานหลายสัปดาห์ แต่เป็นที่สังเกตว่า หุ้นที่ช่วยพยุงตลาดจะเป็นหุ้นที่มี market cap ขนาดใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท คือ กลุ่มพลังงาน ซึ่งมีเพียงตัวเดียวคือ PTT(FV@B368) เนื่องจากได้ประโยชน์จากการปรับโครงสร้างพลังงานล่าสุด แต่ขณะนี้ราคาหุ้นก็ใกล้ Fair Value ของปี 2557 ทำให้โอกาสขยับเพิ่มจากนี้มีได้จำกัด และกลุ่มที่สองที่เข้ามาช่วยหนุนคือ สื่อสาร ทั้ง ADVANC(FV@B250), DTAC(FV@B122) และ INTUCH(FV@B100) เนื่องจากราคาหุ้นที่ขยับขึ้นน้อยสุด และราคาหุ้นยังมี upside มากสุด จึงคาดว่าภาพตลาดจากนี้น่าจะใช้หุ้น 3 บริษัทนี้เป็นตัวประคอง แต่เป็นที่สังเกตว่าหุ้นที่มี market cap ขนาดเล็กที่อยู่นอกสายตา และนักวิเคราะห์ในตลาดไม่ได้มีการวิเคราะห์ได้ทยอยปรับขึ้นมากกันอย่างมาก แต่ก็มีน้ำหนักต่อดัชนีน้อย
โดยสรุปในภาวะที่ดัชนียังแกว่งตัวลง กลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ปรับพอร์ตลงทุน โดยให้ถือเงินสด 70% และอีก 30% ถือหุ้น และเลือกซื้อหุ้นพื้นฐาน ที่ราคาตลาดต่ำกว่า Fair Value โดยมีองค์ประกอบคือ P/E ต่ำกว่าตลาด มี upside ตั้งแต่ 20% ขึ้นไป + เงินปันผลเกิน 4% ได้แก่ AIT, INTUCH, PTTGC, EASTW, ARROW, BECL, SRICHA

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!