WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
       การแข็งค่าของ USD ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลดีต่อหุ้นกลุ่มส่งออก ส่วน แผนการลงทุนในระบบการขนส่งทางอากาศ โดยเดินหน้าขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 และพัฒนาสนามบินอื่นๆ เป็นผลดีต่อกลุ่มรับเหมาฯ เลือกหุ้น Laggard ในกลุ่มคือ STPI (FV@B 28.46)

ตลาดแรงงานฟื้นตัวชัดเจน เพิ่มน้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ย 2H58 มากขึ้น
      สหรัฐ ตลาดแรงงาน ยังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยช่วงค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา มีการรายงาน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.ย. พบว่าปรับเพิ่มขึ้น 248,000 ตำแหน่ง (เป็นระดับมากสุดในรอบ 3 เดือน และมากกว่าค่าเฉลี่ยต่อเดือน ที่ระดับ 227,000 ตำแหน่ง) ส่งผลให้อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว สู่ระดับ 5.9% (ต่ำสุดในรอบ 6 ปีกว่า และต่ำกว่าที่คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 6.1%) สอดคล้องกับ การจ้างงานภาคเอกชน (ADP) ในเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 213,000 ตำแหน่ง (มากกว่า 200,000 ตำแหน่ง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6)
     แต่อย่างไรก็ตาม อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ในเดือน ก.ย. ยังมีแนวโน้มทรงตัว (จะปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2% ในทุกๆ ปี) ซึ่งคาดว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อ ยังไม่เข้าสู่ระดับเป้าหมายเบื้องต้นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) กำหนด ที่ระดับ 2% โดยเดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 1.7%yoy หรือเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นปี 1.2%ytd แต่โดยรวมแล้วการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน น่าจะมีน้ำหนักที่ชัดเจนมากขึ้นต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ (FED) ในกลางปี 2558
   ยุโรป หลังจากที่ ECB ได้ประกาศว่า จะดำเนินการเข้าซื้อ ABS จากประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะ รวมทั้งจะรับซื้อตราสารหนี้ที่เป็น junk bond จากกรีซ และไซปรัส ล่าสุด ECB เตรียมแผนที่จะเข้าซื้อหนี้กู้ยืมประเภทคุณภาพต่ำ จากเยอรมันมาเพิ่มเติม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์เอกชน อย่างไรก็ตาม ตามหลักความเป็นจริงแล้วความเสี่ยงยังไม่ได้หายไปไหน แต่เป็นเพียงการโอนย้ายจากภาคเอกชนมายังธนาคารกลางแทนเท่านั้น ซึ่งมีการเตือนจากนักเศรษฐศาสตร์ว่า ECB ที่ต้องแบกรับภาระอาจต้องเผชิญความเสี่ยงเอง หากเกิดความผิดพลาด นอกจากนี้ ยังมองว่าการลดค่าเงินยูโร แม้จะดีต่อการส่งออก แต่ก็ทำสูญเสียความสามารถในการแข่งขันบางอย่างไป ซึ่งถือว่าปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลกที่สำคัญนับจากนี้

เงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดีต่อกลุ่มส่งออก
      สถานการณ์เศรษฐกิจ ในสหรัฐ และ ยุโรป ดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวันศุกร์ที่ผ่านมา Dollar Index แข็งค่าขึ้นมากถึง 1.27% เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักของโลก ส่งผลให้นับตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นมา เงินดอลลาร์แข็งค่ามากขึ้นถึง 8.6% กดดันให้ค่าเงินสำคัญของโลกอ่อนค่าลงมาเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคเอเซียที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์ รวมทั้งเงินบาทไทย ล่าสุดอยู่ที่ 32.60 บาท/ดอลลาร์ หากนับตั้งแต่เดือน ก.ย. เป็นต้นมา เงินบาทอ่อนค่าไป 2.13% ในสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่าเช่นนี้ ส่งผลบวกต่อหุ้นในกลุ่มส่งออกชิ้นส่วนฯ และส่งออกอาหาร ดังนี้
     - ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ : ทุกๆ 1 บาท ของเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้กำไรสุทธิของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้นจากเดิม 5.4% นำโดย HANA ได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากเดิม 6.2% ตามมาด้วย DELTA 5.7%, KCE 5.5%, SVI 5.2%, SMT 4.9% และ CCET 3% ฝ่ายวิจัยชื่นชอบ HANA โดยกำหนด Fair value ปี 2557 เท่ากับ 44.00 บาท และ 48.00 บาท ในปี 2558 เป็นหุ้น Top Pick ของกลุ่มฯ เนื่องจากคาดการณ์ Norm Profit ปี 2557 เติบโตถึง 48.5% yoy จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจยานยนต์ ที่มีความต้องการใช้เซ็นเซอร์ และหลอดไฟ LED มากขึ้น นอกจากนี้ แนะนำซื้อ DELTA กำหนด Fair value ปี 2557 เท่ากับ 70.40 บาท และ 78.00 บาท ในปี 2558 ซึ่งคาดว่าธุรกิจ Power Supply จะเติบโตสูงในอนาคต
     - ส่งออกอาหาร : ทุกๆ 1 บาท ของเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้กำไรสุทธิของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้นจากเดิม 3.8% นำโดย STA ได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากเดิม 6.7% ตามมาด้วย KSL 5.7%, CPF 3.2%, TUF 3.3% และ GFPT 2.9% ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยเลือกหุ้น CPF (FV@B34) และ GFPT (FV@B22) เป็น Top picks ของกลุ่มฯ โดยมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของธุรกิจฟาร์มสัตว์บกในประเทศไทย หลังจากที่ขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น และรัสเซีย หนุนให้ปริมาณส่งออกเนื้อไก่ และปริมาณขายอาหารสัตว์บกของ CPF และ GFPT มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่งวด 4Q57 ไปจนถึงปี 2558

ขยายสนามบิน บวกทั้งก่อสร้าง ท่องเที่ยว และธุรกิจการบิน
     รมว. คมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมเชิงปฎิบัติการ เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งทางอากาศ ว่าจะเร่งเดินหน้าโครงการลงทุน สุวรรณภูมิ เฟส 2 ในวงเงิน 6.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย การสร้างทางวิ่งที่ 3 , การสร้างหลุมจอดเพิ่มอีก 28 หลุมจอด ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติเงินลงทุนไปแล้ว คาดว่าจะเร่งสรุปร่าง TOR และเสนอ คณะรัฐมนตรีได้ในช่วงต้นปี 2558 กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2560 นอกจากนี้ ยังได้มีการกล่าวถึงการใช้งบของรัฐวิสาหกิจ ด้านการขนส่งทางอากาศในปี 2558 วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาสนามบิน รวมถึงทางเข้าออก ของ สนามบินกระบี่ และ สนามบินดอนเมือง ส่วนแผนในระยะยาว (5 ปีข้างหน้า) จะลงทุนสร้างสนามบินขนาดเล็กในภูมิภาคอีก 6 แห่ง ประกอบด้วย อ.เบตง จ.ยะลา, อ.แม่สอด จ.ตาก, อ.เลิงนกทา จ.มุกดาหาร, อ.คลองเล็ก จ.ตราด, อ.อรัญประเทศ จ. สระแก้ว, จ.อุตรดิตถ์ และ กาญจนบุรี
     การประกาศแผนลงทุนการขนส่งทางอากาศถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เริ่มจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซี่งหากดำเนินการทั้งหมดในช่วง 5 ปี ข้างหน้า อาจต้องใช้งบลงงทุนอยู่ในกรอบประมาณ 1 แสนล้านบาท ขณะที่ ณ สิ้น 2Q57 บริษัทในกลุ่มรับเหมาฯ มี Backlog อยู่แล้วกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่ง จะทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มรับเหมาฯ มีความมั่นคงในเชิงรายได้ระยะยาว หุ้นที่แนะนำซื้อลงทุนได้แก่ SEAFCO (FV@B 7.04), SYNTEC (FV@B 2.83) ส่วนหุ้นรับเหมาฯ ขนาดใหญ่อย่าง ITD, CK, STEC เก็งกำไรระยะสั้น
      อีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากกระแสในเรื่องนี้คือ การท่องเที่ยว และการบิน โดยหุ้นเด่นได้แก่ AOT (FV@B 265) และ CENTEL (FV@B 40) แต่เนื่องจาก Upside ที่ค่อนข้างจำกัด นักลงทุนควรรอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว

ต่างชาติพลิกกลับมาซื้อ แต่ขาย TIP ต่อ
     ศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันแรก แต่เบาบางเพียง 9 ล้านบาทเท่านั้น หลังจากที่ขายสุทธิติดต่อกัน 17 วันก่อนหน้า โดยยอดซื้อสุทธิมาจากไต้หวันเพียงประเทศเดียวที่พลิกกลับมาซื้อสุทธิราว 141 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิต่อเนื่องกัน 17 วันก่อนหน้า) สวนทางกับประเทศอื่นๆในกลุ่ม TIP ที่ยังขายสุทธิทั้งหมด กล่าวคือ อินโดนีเซียขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 9 ราว 71 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 42% จากวันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไทย ขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 41 ล้านเหรียญฯ (1.3 พันล้านบาท, ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว) และสุดท้ายคือฟิลิปปินส์ขายสุทธิเป็นวันที่ 4 ราว 19 ล้านเหรียญฯ ส่วนตลาดในเกาหลีใต้ปิดทำการเนื่องจากเป็นวัน National Foundation Day
       ในส่วนของตลาดหุ้นไทยนอกเหนือจากกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่ขายสุทธิกดดันดัชนีแล้ว กลุ่มนักลงทุนสถาบันและพอร์ตโบรเกอร์ต่างขายสุทธิออกมาต่อเนื่องเช่นกัน อีกราว 948 และ 593 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ ต่างชาติขายสุทธิติกต่อเป็นวันที่ 5 ราว 3.9 พันล้านบาท รวม 5 วันขายสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท บวกกับการที่ค่าเงินดอลล่าห์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างมาก โดยเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.68 บาทต่อเหรียญฯ และจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!