WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
       เป็นไปได้ที่จะเห็นการดีดตัวกลับในระยะสั้นของ SET Index แต่ช่วงเวลาของการปรับฐานยังไม่จบ แนะนำเลือกหุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง, Dividend Yield สูง และราคายังต่ำกว่า Fair Value ซึ่ง BEC (FV@B 56) น่าจะโดดเด่นในวันนี้ เพราะนอกจากมีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องข้อสรุปการออกอากาศคู่ขนานของทีวีดิจิทัล และอนาล็อกเข้ามาเสริม

สหรัฐยังคงดอกเบี้ยต่อถึงกลางปีหน้า ตราบที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง
      วานนี้ FED เปิดเผยรายงานการผลการประชุมในวันที่ 16-17 ก.ย. ที่ผ่านมา ทิศทางการรายงานยังคงเหมือนที่เคยนำเสนอ แต่ทั้งนี้ FED ได้มีความกังวลเกี่ยวกับ 2 เรื่องหลักๆ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่ามากขึ้น เนื่องจากจะไปกระทบต่อการขยายตัวของสหรัฐ ในงวด 3Q57 ได้ โดยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จะส่งผลกระทบภาคส่งออก รวมทั้งยังกดดันให้อัตราเงินเฟ้ออ่อนตัวลง โดยล่าสุด เดือน ส.ค. อยู่ที่ระดับ 1.7%yoy (ต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้น 2% และเปลี่ยนแปลงตั้นแต่ต้นปีเพียง 1.2%ytd) ซึ่งหากอิงประมาณการ IMF ที่ปรับเพิ่มการคาดกาณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ในปี 2557 ที่ระดับ 2.2%yoy นั่นคือ ในช่วง 2H57 ต้องขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าไตรมาสละ 2.15% (1H57 ขยายตัวได้ 2.25%) ซึ่งคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายได้ และหากพิจารณาถึงอัตราการว่างงานในเดือน ก.ย.ที่ลดลงอยู่ที่ระดับต่ำ 5.9% แต่ยังถือว่าไม่เข้าสู่ระดับการจ้างงานเต็มที่ และสูงกว่าที่ FED คาดว่าควรจะอยู่ในช่วง 5.2-5.5% ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลให้ FED ยังคงใช้ดอกเบี้ยฯ ระดับต่ำต่อไป และในการกระชุม FED ครั้งถัดไป 28-29 ต.ค. นี้ FED น่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ ครั้งแรก ซึ่งเดิมตลาดคาดว่าจะเกิดขึ้นราว 2H58 ภายหลังจากโครงการ QE สิ้นสุดลง ดังนั้นจึงถือเป็นประเด็นกดดันตลาดหุ้นโลก นับจากนี้เป็นต้นไป

P/E ตลาดหุ้นไทยยังแพง โอกาสปรับฐานยังมีอยู่
      ฝ่ายวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบความถูกแพงของตลาดหุ้นหลักในภูมิภาคเอเซีย โดยใช้อัตราส่วน PER to Growth (PEG) ซึ่งเป็นการนำเอาค่า PER ของตลาดหุ้นต่างๆ หารด้วย อัตราการเติบโต หากตัวเลขออกมาสูงก็แสดงว่า ตลาดหุ้นมีราคาแพง และหากอยู่ในระดับต่ำ ก็ถือว่ามีราคาถูก ทั้งนี้เพือให้การเปรียบเทียบอยู่บนฐานเดียวกัน จึงใช้ฐานข้อมูลจาก Bloomberg Consensus เป็นตัวคำนวณ ซึ่งพบว่า เมื่อพิจารณาค่า current PEG Ratio (current P/E หารด้วย EPS Growth ปี 2557) ของตลาดหุ้นไทย อยู่ที่ 6.68 เท่า ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเป็นลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นมาเลเซียที่ 7.27 เท่า และฟิลิปปินส์ 7.23 เท่า ส่วนอินโดนีเซีย อยู่ที่ 2.61 เท่า ขณะที่ตลาดหุ้นอินเดีย และ จีน มีค่า PEG Ratio ต่ำเพียง 0.98 และ 0.95 เท่า ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐ มีค่า current PEG Ratio เฉลี่ยอยู่ที่ 1.9 เท่า ญี่ปุ่น 1.13 เท่า และ เยอรมัน 2.2 เท่า อย่างไรก็ตามค่า PEG Ratio ในปีหน้า 2558 ของตลาดหุ้นไทยน่าจะมีแนวโน้มลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 1 เท่า น้อยกว่าตลาดหุ้นมาเลเซีย 1.57 เท่า และฟิลิปปินส์ 1.1 เท่า
     พิจารณาจากผลการคำนวณดังกล่าว ทำให้ยังมีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสที่จะปรับฐานลงต่อ โดยเป้าหมายของการปรับฐานน่าจะมีแนวรับที่บริเวณค่า PER 15.5 เท่า ก็จะอยู่ในช่วง 1503 – 1521 จุด หรือเหลือ Downside อีกประมาณ 2.6% จากระดับดัชนีปัจจุบัน แต่เมื่อผ่านจุดของการปรับฐานราคาไปแล้ว ก็เชื่อว่าทิศทางของ SET Index ในปี 2558 ก็จะกลับมาสดใสได้อีกครั้ง จึงน่าจะเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการทยอยลดหุ้นเก็งกำไร และไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ และสลับมาทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดีที่เข้าองค์ประกอบ 4 ประการ คือ (1) มีผลกำไรต่อเนื่อง (2) โครงสร้างทางการเงินแข็งแกร่ง (3) จ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง (4) มี upside สูง เช่น INTUCH (FV@B100), STPI (FV@B 28.46), PTTEP (FV@B 195) และKBANK (FV@B 260) เป็นต้น

เงินทุนไหลออกต่อเนื่อง
      วานนี้เงินทุนต่างชาติยังไหลออกจากภูมิภาคต่อเนื่อง โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 342 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 10% จากวันก่อนหน้า) ซึ่งเป็นการขายสุทธิในทุกประเทศ สูงสุดคือไต้หวัน ขายสุทธิเป็นวันที่ 3 ราว 134 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 6 ล้านเหรียญฯ) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ราว 102 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 41% จากวันก่อนหน้า) ส่วนไทยขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 78 ล้านเหรียญฯ (2.6 พันล้านบาท, วันก่อนหน้าขายสุทธิเพียง 144 ล้านบาท) ขณะที่อินโดนีเซียสลับมาขายสุทธิอีกครั้งราว 19 ล้านเหรียญฯ และสุดท้ายคือฟิลิปปินส์ขายสุทธิเป็นวันที่ 6 แต่ลดลงถึง 94% เหลือราว 8 ล้านเหรียญฯ
      ทั้งนี้การที่ FED ออกมาประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำน่าจะมีส่วนชะลอกระแสเงินทุนไหลออกลงบ้าง หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นภูมิภาคออกมาถึง 20 จาก 21 วันหลังสุด จากปัจจัยกดดันต่างๆ ในส่วนของตลาดหุ้นไทย วานนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกมา 2.6 พันล้านบาท (ยอดขายสุงสุดในรอบกว่า 3 เดือน) โดยเป็นการขายสุทธิ 7 จาก 9 วันหลังสุดรวมกว่า 5.1 พันล้านบาท ในทิศทางเดียวกับตลาดตราสารหนี้ที่นักลงทุนกลุ่มนี้ขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 ราว 2.4 พันล้านบาท รวม 8 วันขายสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง แตะระดับ 32.61 บาทต่อเหรียญฯ

งวด 3Q57 ช่วง High Season ของกลุ่มส่งออก
แนวโน้มกำไรสุทธิของกลุ่มส่งออกฯ ในงวด 3Q57 จะเป็นช่วงที่เติบโตสูงสุดของปี เนื่องจากเป็นช่วง High Season โดยกลุ่มส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่ๆ จากลูกค้าต่างประเทศที่ยังคงทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต้องการใช้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้แนวโน้ม Gross Margin ของกลุ่มฯ ดีขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทางธุรกิจ (Overhead Cost) ที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ลดลง นอกจากนี้ ยังได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า โดยทุกๆ 1 บาท ของเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้กำไรสุทธิของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้นจากเดิม 5.4% นำโดย HANA ได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากเดิม 6.2% ตามมาด้วย DELTA 5.7%, KCE 5.5%, SVI 5.2%, SMT 4.9% และ CCET 3% ฝ่ายวิจัยเลือก HANA (FV@B44) เป็นหุ้น Top Pick ของกลุ่มฯ เนื่องจากคาดการณ์ Norm Profit ปี 2557 เติบโตถึง 48.5% yoy ขณะที่ Div. Yield สูงถึง 4.5% นอกจากนี้ แนะนำซื้อ DELTA (FV@B 70.40) ปี 2557 เติบโต 14.6% yoy และ 16.4%yoy ในปี 2558 และ Div. Yield สูงถึง 4.5% เช่นกัน
ขณะที่กลุ่มส่งออกอาหาร งวด 3Q57 มีปัจจัยบวกจากช่วงฤดูกาลส่งออกของธุรกิจอาหาร หนุนให้ปริมาณขายทั้งอาหารสัตว์ และอาหารแปรรูปในกลุ่มฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสัตว์บกในประเทศไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น และรัสเซีย จึงหนุนให้ปริมาณส่งออกเนื้อไก่ของไทยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง และยังส่งผลบวกทางอ้อมต่อธุรกิจอาหารสัตว์บกให้เติบโตมากขึ้นด้วยเช่นกัน และเช่นเดียวกันที่กลุ่มส่งออกอาหาร ยังได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า โดยทุกๆ 1 บาท ของเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้กำไรสุทธิของกลุ่มฯ เพิ่มขึ้นจากเดิม 3.8% นำโดย STA ได้รับประโยชน์มากที่สุด โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากเดิม 6.7% ตามมาด้วย KSL 5.7%, CPF 3.2%, TUF 3.3% และ GFPT 2.9% โดยฝ่ายวิจัยเลือกหุ้น CPF (FV@B34) และ GFPT (FV@B22) เป็น Top picks ของกลุ่มฯ นอกจากจะมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของธุรกิจฟาร์มสัตว์บกในประเทศไทยดังข้างต้นแล้ว ยังมีการเติบโต ถึง 40% ในปีนี้ และปีหน้ากว่า 20% ขณะที่ Div. Yield อยู่ในระดับ 3%

ช่อง 3 ออกอากาศคู่ขนาน คาดราคาหุ้น BEC ตอบสนองเชิงบวก
ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ บจ.บีอีซี มัลติมีเดีย เจ้าของช่องทีวีดิจิทัล 33HD สามารถนำรายการของ ช่อง 3 อนาล็อก ซึ่งเป็นของ BEC ไปออกอากาศคู่ขนาน และให้ช่อง 33HD ส่งผังรายการออกอากาศให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) พิจารณาก่อน 12:00 น. ของวันที่ 10 ต.ค.2557 คำวินิจฉัยของ ศาลปกครองดังกล่าวถือเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย โดยในส่วนของ BEC ทำให้เกิดความชัดเจนว่า การนำรายการไปออกอากาศในช่วง 33HD สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ขณะที่ ฐานผู้ชมรายการซึ่งปัจจุบันรับชมผ่านระบบดาวเทียม-เคเบิล 70% และเสารับสัญญาณ 30% ก็ยังสามารถเข้าถึงรายการของช่อง 3 ได้ต่อเนื่อง ส่วน กสท. ก็จะน่าจะทำให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาลอก ไปสู่ดิจิทัล มีประสิทธิภาพมากขึ้นหากมี Magnate อย่างช่อง 3 ซึ่งมีฐานผู้ชมขนาดใหญ่เข้ามาสู่ระบบอย่างเต็มที่
ในส่วนของราคาหุ้น BEC พบว่าในช่วงเวลาที่มีความไม่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวได้ปรับลดลงมาประมาณ 10% ทำให้ระดับราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานกล่าวคือ มีระดับ Dividend yield ปี 2557 เข้าใกล้ 5% และ 5.3% ในปี 2558 ขณะที่มี Upside เมื่อเทียบกับ Fair Value ปี 2557 ที่นักวิเคราะห์ ประเมินไว้ที่ 56 บาทเกือบ 20% ทำให้เชื่อว่าความชัดเจนในกรณีการออกอากาศคู่ขนาน ดังกล่าวมาข้างต้น น่าจะทำให้ราคาหุ้น BEC ตอบสนองเชิงบวก คงคำแนะนำ ซื้อ

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!