WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      ภาพรวมวันนี้ตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยบวกใหม่เข้ามาหนุน ขณะที่ยังอาจได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของดาวโจนส์เกือบ 335 จุด ทำให้คาดว่า SET Index จะยังอยู่ในช่วงปรับฐานต่อไป หุ้นที่เลือกลงทุนต้องเน้นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผล เลือก AIT(FV@B 51) เป็น Top Pick

สหรัฐ/อังกฤษ ยังฟื้นตัว สวนทางยุโรปที่ยังอ่อนแรง
     ตลาดแรงงานสหรัฐ ยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยรายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ สิ้นสุด 4 ต.ค. 2557 ลดลง 1,000 ตำแหน่ง อยู่ที่ 287,000 ตำแหน่ง เป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ก่อนช่วงวิกฤติการเงินในปี 2550-2552 ขณะที่ค่าเฉลี่ยใน 4 สัปดาห์ อยู่ที่ 287,750 ตำแหน่ง เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี สอดคล้องกับข้อมูลที่รายงานไปก่อนหน้า โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้นเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. ทำให้อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. ลดลงที่ระดับ 5.9% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ซึ่งยังไม่เข้าสู่ระดับการจ้างงานเต็มที่ และต่ำกว่าที่ FED คาดว่าควรจะอยู่ในช่วง 5.2-5.5% อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ แต่ก็คาดว่าจะยังไม่เกิดขึ้นก่อน 2H58 ภายหลังจากโครงการ QE สิ้นสุดลงในเดือน ต.ค. 2557 ทั้งนี้ต้องติดตามความชัดเจนในประชุม FOMC วันที่ 28-29 ต.ค. 2557 ต่อไป
      เช่นเดียวกับธนาคารอังกฤษ (BOE) ล่าสุด ยังคงดอกเบี้ยฯ ที่ระดับต่ำ 0.5% ต่อเนื่อง 5 ปีกว่า และคงวงเงิน QE 3.75 แสนล้านปอนด์ (6.07 แสนล้านเหรียญฯ) ตามคาด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังชะลอตัวอยู่ในระดับที่ต่ำ 1.5% (ต่ำกว่าเป้าหมายเบื้องต้นที่ 2% และต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ซึ่งใกล้เคียงระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี) เนื่องมาจากการชะลอตัวของตลาดอสังหาฯ และ การชะลอตัวของอัตราค่าจ้าง ซึ่งเป็นเหตุผลให้ BOE ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยฯ และคาดว่าจะปรับขึ้นราวช่วง 2H58 ใกล้เคียงกับสหรัฐ
       สวนทางกับ สหภาพยุโรป ที่เยังมีความเสี่ยงต่อการถดถอยทางศรษฐกิจ ล่าสุด เยอรมัน (ประเทศยักษ์ใหญ่ในกลุ่มยูโรโซน) รายงานการส่งออก เดือน ส.ค. ติดลบ 5.8% (หลังจาก 4.8% ในเดือนก่อนหน้า และเป็นต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี) เป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรทางการค้า ระหว่างยุโรปกับรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ค้าที่สำคัญของโลก (ปีที่แล้วมีมูลค่าการค้าสูงถึง 3.26 แสนล้านยูโร) และมีความยืดเยื้อมานาน ขณะที่ล่าสุดรัสเซียเตรียมการตอบโต้การคว่ำบาตรจากยุโรปอีกครั้ง โดยการให้รัฐบาลรัสเซียจ่ายเงินชดเชยให้กับภาคเอกชนที่ถูกยึดทรัพย์จากการคว่ำบาตรของยุโรป และให้รัฐบาลรัสเซีย สามารถยึดทรัพย์ชาวต่างชาติในประเทศได้ ถึงแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองระหว่างประเทศก็ตาม ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง เชื่อว่าเศรษฐกิจของทั้งยุโรป และรัสเซีย จะเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดมุ่งความสนใจไปที่ การประชุมใหญ่ของ IMF-World Bank รวมทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา 19 ประเทศ และสหภาพยุโรป (G-20) ในระหว่างวันที่ 9-12 ต.ค. นี้ เพื่อหาแนวทางที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน ภายหลังการตัดลด QE สิ้นสุดใน ต.ค. นี้

ต่างชาติกลับเข้ามาซื้อ แต่เบาบางมาก
      กระแสเงินทุนไหลออกเริ่มชะลอตัวลงวานนี้ โดยนักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อยราว 16 ล้านเหรียญฯ หลังจากที่ขายสุทธิติดต่อกัน 3 วันก่อนหน้า เริ่มจากไทย สลับมาซื้อสุทธิสูงสุดราว 45 ล้านเหรียญฯ (1.5 พันล้านบาท, ขายสุทธิ 2 วันก่อนหน้า) ตามมาด้วยไต้หวัน สลับมาซื้อสุทธิเบาบางราว 1 ล้านเหรียญฯ (ขายสุทธิ 3 วันก่อนหน้า) สวนทางกับอินโดนีเซียที่ยังคงขายสุทธิเป็นวันที่ 2 ราว 20 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 4% จากวันก่อนหน้า) และฟิลิปปินส์ขายสุทธิเป็นวันที่ 7 ราว 11 ล้านเหรียญฯ (เพิ่มขึ้น 35% จากวันก่อนหน้า) ขณะที่ตลาดในเกาหลีใต้ปิดทำการเนื่องจากวัน Hangeul Proclamation Day
ทั้งนี้ แม้ว่าหลังจากการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED จะหนุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นภูมิภาคอีกครั้ง แต่ปริมาณการซื้อยังคงเบาบางอย่างมาก และเป็นการเลือกซื้อรายประเทศเท่านั้น โดยเฉพาะไทยซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ยอดสะสมตั้งแต่ต้นปีของนักลงทุนต่างชาติเป็นขายสุทธิ ราว 5.1 พันล้านบาท (ประเทศอื่นๆเป็นซื้อสุทธิทั้งหมด) ขณะที่นักลงทุนสถาบันกลับมาซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ราว 2.7 พันล้านบาท รวม 3 วันซื้อสุทธิราว 5.7 พันล้านบาท และเชื่อว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนักลงทุนกลุ่มนี้น่าจะมีแรงซื้อเข้ามาเพิ่มเติมอีกจากกองทุน LTF

Earning Yield Gap เหลือ 4.19% = ตลาดหุ้นไทยยังแพง ... ปรับฐานต่อ
      ฝ่ายวิจัยได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Earning Yield Gap ซึ่งเกิดจากการ นำ Market Earning Yield (กำไรต่อหุ้นของตลาด หารด้วย SET Index) มาลบออกด้วยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร (Bond Yield) อายุ 1 ปี ซึ่งผลที่ออกมาอาจถือได้ว่าเป็นอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น จากกรณีที่ต้องการย้ายเงินลงทุนจาก ตลาดพันธบัตรมาสู่ตลาดหุ้น (อาจเทียบเคียงได้ว่าเป็น Risk Premium) เช่นกรณีที่ Market Earning Yield Gap อยู่ที่ 5% ก็หมายความว่า หากนักลงทุนย้ายเงินลงทุนจากพันธบัตรอายุ 1 ปี เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากเดิม 5% หรือหากออกมาที่ 3% ก็เท่ากับว่านักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเพียง 3% ซึ่งก็หมายความว่าหากค่า Earning Yield Gap ที่คำนวนได้ออกมาอยู่ในระดับต่ำ ก็ถือว่าตลาดหุ้นอยู่ในภาวะที่แพง และไม่น่าสนใจ แต่หากค่าที่ออกมาอยู่ในระดับสูง ก็ถือว่าตลาดหุ้นมีความน่าสนใจ และราคายังถูก ทั้งนี้จากการวัดค่า Earning Yield Gap ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2547 พบว่า ค่าเฉลี่ย Earning Yield Gap อยู่ที่ 4.93% หมายความว่าโดยเฉลี่ยการที่นักลงทุนยอมย้ายเงินจากพันธบัตร 1 ปี มาลงทุนในตลาดหุ้นจะได้ผลตอบแทนเพิ่ม 4.93%
สำหรับที่ระดับ SET Index ปัจจุบัน ค่า Earning Yield Gap อยู่ที่ 4.19% ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตพอสมควร ซึ่งก็หมายความว่าตลาดหุ้นไทยอยู่ที่เกณฑ์ที่ค่อนข้างแพง และหากจะทำให้ Earning Yield Gap สูงขึ้น ก็ต้องเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ Bond Yield ลดลง ซึ่งก็คือการทำให้อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลง ซึ่งกรณีนี้คงไม่เกิดขึ้นในภาวะปัจจุบัน หรือ อีกทางหนึ่งคือทำให้ Market Earning Yield สูงขึ้น ซึ่งก็คือการที่ SET Index จะต้องปรับลดลง ซึ่งดูเหมือนจะมีความเป็นได้มากที่สุด ทั้งนี้หากกำหนดเป้าหมายเบื้องต้นว่า Earning Yield Gap อยู่ที่ 4.5% ก็สามารถคำนวนกลับมาได้ว่า PER ของ SET Index ควรอยู่ที่ 15.38 เท่า ซึ่งให้เป้าหมาย SET Index ณ สิ้นปี 2557 ที่ประมาณ 1510 จุด ซึ่งถือเป็น Downside ของตลาดหุ้นไทยที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงของการปรับฐานราคา และที่ระดับ SET Index ปัจจุบัน การปรับฐานราคายังเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ชะลอการลงทุนในหุ้นที่คาดว่ากำไรจะชะลอตัวในงวด 3Q57
      วานนี้ฝ่ายวิจัยได้นำเสนอหุ้นที่งวด 3Q57 น่าจะมีผลประกอบการโดดเด่น และแนะนำลงทุนไปแล้ว ในวันนี้จะได้นำเสนอหุ้นที่เป็นช่วง low season หรือผลประกอบการชะลอตัว ซึ่งควรหลีกเลี่ยงในการลงทุน หรือให้รอจังหวัดซื้อเมื่ออ่อนตัว ดังนี้
       - กลุ่มเกษตร-ยางพารา : สถานการณ์ราคายางโลกยังอยู่ในช่วงขาลง สะท้อนได้จากราคาเฉลี่ยของยางแผ่นรมควันอ้างอิงตลาดสินค้าล่วงหน้าในสิงคโปร์ (SICOM) งวด 3Q57 ลดลงจาก 2Q57 กว่า 5.68% โดยแนวโน้มราคายางโลกในช่วง 3Q-4Q57 คาดว่าจะยังมีโอกาสปรับลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยกดดันหลักๆ จากปัญหาผลผลิตยางล้นตลาดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณสต็อกยางยางพาราในเมืองชิงเต่า ประเทศจีน ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ตามนโยบายจำกัดปริมาณสั่งซื้อยางธรรมชาติเพื่อลดแรงเก็งกำไรของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งปริมาณความต้องการใช้ยางในจีนปรับลดลงเช่นกัน โดย STA (FV@B 16) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ของไทย น่าจะได้รับผลกระทบต่อแนวโน้มกำไรสุทธิ 3Q-4Q57 เนื่องจากต้องรับรู้ผลขาดทุนจากสต็อกสินค้าคงคลังอย่างมีนัยฯ และมีความเสี่ยงที่อาจปรับลดประมาณการทั้งปี 2557 หากทิศทางราคายางโลกยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
       - กลุ่มโรงกลั่น : ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบอ้างอิงดูไบเฉลี่ย ณ สิ้นงวด 3Q57 ลดลงจาก 2Q57 ราว 4.5% โดยมีปัจจัยกดดันยังมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี รวมทั้งอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด หลังจากที่ซาอุดิอาระเบียยังไม่มีการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในประเทศลง รวมทั้งการผลิตน้ำมันดิบจากลิเบียที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ยังทรงตัวจากเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้คาดการณ์งวด 3Q57 ผู้ประกอบการโรงกลั่น ต้องเผชิญกับผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ (ยังไม่รวมไว้ในประมาณการ) ขณะที่ค่าการกลั่นงวด 3Q57 ยังปรับลดลงมากถึง 23% QoQ คาดว่า TOP (FV@B 56) อาจมีผลประกอบการขาดทุน ขณะที่ BCP (FV@B 36) และ IRPC (FV@B 3.8) ผลการดำเนินงานงวด 3Q57 มีแนวโน้มอ่อนตัวลง ส่วน PTTGC (FV@B 84) ธุรกิจโรงกลั่นอ่อนตัวเช่นกัน แต่จะได้ธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ช่วยพยุง
      - กลุ่มสายการบิน : คาดว่างวด 3Q57 จะยังไม่สดใสนัก โดย AAV (FV@B 4.8) และ THAI (FV@B 13.7) ที่ยังมีความเสี่ยงเผชิญขาดทุนปกติในงวด 3Q57 เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว รวมทั้งการแข่งขันด้านราคาจากการเพิ่มสัดส่วนตั๋วราคาถูกมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการเดินทาง อย่างไรก็ตามกลุ่มสายการบินน่าจะกลับมาสร้างกำไรทำระดับสูงสุดของปีได้ใน 4Q57 ด้วยนโยบายการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หนุนใช้ปริมาณผู้ใช้บริการให้เพิ่มขึ้น คาดว่า AAV ผลประกอบการปีนี้ไม่ขาดทุน ส่วน THAI ปีนี้น่าจะยังขาดทุน และทั้ง 2 บริษัทน่าจะกลับมาสร้างผลกำไรปกตินับจากปีหน้า นอกจากนี้ กลุ่มสายการบินยังได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบโลกช่วงหลังที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ราว 95 เหรียญต่อบาร์เรล เป็นประโยชน์ต่อต้นทุนหลัก คือ ต้นทุนน้ำมัน (สัดส่วน 30%-40% ของต้นทุนรวม)
        - กลุ่มค้าปลีก : โดยปกติไตรมาสที่สามของปี มักจะเป็น Low season (ฤดูฝน) ของกลุ่มค้าปลีก สำหรับปีนี้งวด 3Q57 คงยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างมีนัยฯ เนื่องจากผู้บริโภคยังค่อนข้างระมัดระวังการใช้จ่าย จากภาวะเศรษฐกิจยังชะลอตัวและภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง ขณะที่ยอดขายสาขาเดิมงวด 3Q57 น่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงกับช่วง 1H57 ที่ราว 3% yoy แต่เชื่อว่าแนวโน้มกำไรงวด 4Q57 จะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นที่ชัดเจน จากภาพรวมเศรษฐกิจที่คาดจะเริ่มเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลปลายปี คาดจะช่วยหนุนให้ยอดขายสาขาเดิมทั้งกลุ่มฯ กลับมาเติบโตโดดเด่นไม่ต่ำกว่า 5% yoy นอกจากนี้ อีกปัจจัยสนับสนุนคือ การเปิดสาขาใหม่ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเปิดในงวดครึ่งหลังของปีเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นส่วนใหญ่ในกลุ่มฯ ซื้อขาย ณ ระดับ PER ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดก่อนหน้า ที่ราว 33 เท่า จึงคาดหวังการกลับมา Outperform อีกครั้งได้ยากในช่วงระยะสั้น

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!