WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน

กลยุทธ์การลงทุน
      ตลาดหุ้นโลกผ่อนคลายหลังยุโรปเข้าซื้อหุ้นกู้ในบางประเทศ แต่มิใช่แรงหนุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทย ด้วยอุปสรรค Current P/E ที่สูงถึง 16 เท่า โดยยังถือเงินสดส่วนใหญ่ เพื่อรอจังหวะสะสมหุ้นรอบใหม่ วันนี้เลือก DEMCO(FV@B18) เป็น Top pick

การทำงานของ LTF หนุนตลาดหุ้นไทย
      วานนี้ตลาดหุ้นไทยปิดทำการ แต่ตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคยังเปิดทำการตามปกติ โดยนักลงทุนต่างชาติสลับมาขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคอีกครั้ง ราว 144 ล้านเหรียญฯ (วันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 144 ล้านเหรียญฯ, ขายสลับซื้อใน 5 วันหลังสุด) ทั้งนี้ยอดขายหลักมาจาก เกาหลีใต้ที่ขายสุทธิราว 186 ล้านเหรียญฯ (เทียบกับวันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 53 ล้านเหรียญฯ, โดยมีการขายสลับซื้อ 5 วันหลังสุดเช่นกัน) ส่วนอินโดนีเซียสลับมาขายสุทธิเบาบาง ราว 5 แสนเหรียญฯ (วันก่อนหน้าซื้อสุทธิ 4 ล้านเหรียญฯ) สวนทางกับ ไต้หวัน ที่ซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ราว 43 ล้านเหรียญฯ (ลดลง 76%) และ ฟิลิปปินส์ ซื้อสุทธิเบาบางเป็นวันที่ 2 ราว 3 แสนเหรียญฯ (ซื้อสุทธิ 4 แสนเหรียญฯในวันก่อนหน้า)
        อย่างไรก็ตามในวันพุธ นักลงทุนต่างชาติสลับมาซื้อหุ้นไทยเล็กน้อย ราว 109 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค อย่างไรก็ตามเชื่อว่าแรงซื้อจากต่างชาติจะยังไม่กลับเข้ามาในภูมิภาคในระยะสั้นนี้ ซึ่งอาจจะสวนทางกับกลุ่มสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิราว 1.1 พันล้านบาท และเป็นผู้ซื้อสุทธิใน 9 จาก 12 วันหลังสุด รวม 8.9 พันล้านบาท คาดว่าแรงซื้อมาจากกองทุน LTF ที่มักมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงปลายปี และจากข้อมูลในอดีต กองทุน LTF มียอดซื้อสุทธิถึงกว่า 4 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีหลังสุด ในขณะที่ช่วง 7 เดือนแรกของปีมียอดซื้อสุทธิเพียง 8 พันล้านบาทเท่านั้น จึงเชื่อว่าเงินทุนจากกอง LTF จะเป็นผู้พยุงดัชนีหุ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

ตลาดหุ้นยุโรปฟื้นตัว ด้วยความหวังมาตรการกระตุ้นจะเดินหน้าต่อ
      ตลาดหุ้นโลกผ่อนคลายมากขึ้น หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยแผนรับซื้อตราสารหนี้ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อคุณภาพ (covered bonds) จากธนาคารพาณิชย์ ในประเทศ 3 ประเทศ คือ อิตาลี (Intesa Sanpaolo SpA) ฝรั่งเศส (ธนาคาร Societe General SA และ BNP Paribas SA) และ สเปน แม้จะยังไม่กำหนดเงินที่แน่ชัดแต่ก็น่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลก และคาดว่าน่าจะมีประกาศรับซื้อในประเทศที่มีปัญหาเพิ่มเติม ขณะที่ช่วง 4Q57 จะเข้าซื้อ ตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (ABS) จากประเทศที่เศรษฐกิจย่ำแย่ วงเงิน 1.4 หมื่นล้านยูโร (1.8 หมื่นล้านเหรียญฯ) คือ โปรตุเกส 1.12 หมื่นล้านยูโร และ กรีซ 2.7 พันล้านยูโร
อย่างไรก็ตามติดตาม ผลสรุปการทำ stress test ที่จะรายงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ต.ค. ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดเพิ่มเติมว่าการอัดฉีดเงินให้กับธนาคารในยุโรปจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมายของ ECB ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ผลการสำรวจของสำนักข่าวประเทศสเปน คาดว่าจะมีธนาคารราว 12 แห่ง (4 แห่งจากกรีซ, 3 แห่งจากอิตาลี, 2 แห่งจากออสเตรีย และอย่างละ 1 แห่ง จากไซปรัส เบลเยียม และโปรตุเกส) จากทั้งหมด 6 ประเทศ ที่อาจจะไม่ผ่านเกณฑ์การทดสอบ stress test ซึ่งถือเป็นประเด็นหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดทิศทางตลาดหุ้นโลกอีกครั้ง
ส่วนทางด้านสหรัฐพบว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง ล่าสุดจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ พบว่าเพิ่มขึ้น 17,000 ตำแหน่ง อยู่ที่ระดับ 283,000 ตำแหน่ง เป็นไปตามคาด (ค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ ปรับลดลง 3,000 ตำแหน่ง จาก 4 สัปดาห์ก่อนหน้า) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 1.7%yoy ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า (เปลี่ยนแปลง 1.3% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน) ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายเบื้องต้นที่ 2% ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะชะลอตัว ทำให้นักวิเคราะห์บางกลุ่มเริ่มมีความกังวล และ กลับมามีความคิดเห็นแตกต่างจากเดิม โดยคาดว่า FED อาจเลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯ เป็นช่วง 4Q58 จากเดิม 2Q58 แม้ล่าสุด นายริชาร์ด ฟิชเชอร์ (ประธาน FED สาขาดัลลัส) ให้การสนับสนุนการยุติ QE ในเดือนนี้ ขัดแย้งกับความเห็นของ นายเจมส์ บูลลาร์ด (ประธาน FED สาขาเซนต์หลุยส์) ที่มีวามเห็นว่า FED ควรชะลอการตัด QE ไปก่อน ทั้งนี้ ต้องติดตามความชัดเจนจากการประชุม FOMC ในวันที่ 28-29 ต.ค.
เช่นเดียวกับอังกฤษที่คาดว่าอาจจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยเช่นเดียวกับสหรัฐ แม้ก่อนหน้าได้คาดการณ์กันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยฯ ในเวลาใกล้เคียงสหรัฐ หรือ 2Q58 แต่จากดัชนีเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. ล่าสุดพบว่า อยู่ที่ระดับ 1.2%yoy (ลดลงต่อเนื่อง และต่ำสุดในรอบ 5 ปี หรือเปลี่ยนแปลงเพียง 0.7%ytd) ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมาย 2% อยู่มาก จึงทำให้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยฯ ชะลอออกไปจากเดิม อย่างไรก็ตามในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นเชื่อว่ายังเป็นปัจจัยหลักกดดันตลาด
เชื่อว่าการใช้มาตรการเงินที่ผ่อนคลายทั้งในสหรัฐและอังกฤษ ช่วยสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะฝั่งยุโรปและสหรัฐ ซึ่งได้ผ่านการปรับฐานไปอย่างมาก หรือกว่า 10% ตลอด 1-2 เดือนที่ผ่านมา จนมีระดับ Expected P/E เฉลี่ย 13 เท่า ซึ่งต่ำกว่าตลาดกำลังพัฒนา โดยเฉพาะ TIP ซึ่งมีค่า Expected P/E เกิน 16 เท่า ทำให้ตลาดในฝั่งพัฒนาแล้วน่าจะฟื้นตัวได้ดีกว่าหุ้นในภูมิภาคเอเซีย

หุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนมีงานเข้า DEMCO/GUNKUL เด่น
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีมติให้รับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมและเร็วกว่าแผน โดยเฉพาะในส่วนของพลังงานโซล่า จากแผนใหม่ที่กำหนดจะรับซื้อในระยะ 10 ปี 3,000 เมกะวัตต์ (จากทั้งหมด 13927 เมกะวัตต์) แต่ได้เปิดประมูลไปแล้ว 961 เมกะวัตต์ ในครั้งนี้เปิดรับซื้อเพิ่มเติม 2 ส่วน คือ ส่วนที่ค้างท่ออยู่ (ผู้ที่รับการอนุญาตก่อสร้างยังไม่สามารถดำเนินการและส่งไฟฟ้าเข้าระบบ) 576 เมกะวัตต์ และ ของใหม่ 800 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่เร่งการรับซื้อเร็วขึ้นกว่าเดิม เท่ากับ จะมีแผนรับซื้อรอบใหม่ 1,376 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับที่รับซื้อแล้ว 961 เมกะวัตต์ เท่ากับจะมีการรับซื้อทั้งใหม่และเก่ารวม 2337 เมกะวัตต์ เทียบกับในแผนที่ต้องรับซื้อทั้งหมด 3000 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าส่วนต่างอีก 663 เมกะวัตต์น่าจะมีการับซื้อใหม่ในปีถัดๆๆไป ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า ทั้งที่ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า DEMCO(FVB25) และผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้า+ก่อสร้างโรงไฟฟ้า GUNKUL(FV@B25) น่าจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ จึงแนะนำซื้อลงทุนทั้ง 2 บริษัท และเลือกเป็น Top picks ในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ติดตามอ่านรายละเอียดใน Industry Update ที่อออกรายงานแล้วในเช้าวันนี้

หุ้นก่อสร้าง P/E ต่ำ + Beta สูง ยัง out-perform ตลาดในช่วงนี้
นอกจากนี้ตลาดหุ้นโลกยังได้รับ sentiment เชิงบวก จากการรายงานผลประกอบการงวด 3Q57 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น S&P 500 โดยล่าสุดเป็นการประกาสหุ้นในกลุ่ม real sector ซึ่งแนวโน้มกำไรออกมาดีกว่าคาด ได้แก่ Microsoft มีกำไรต่อหุ้นเติบโตถึง 10% Catepillar บริษัทอุปกรณ์เครื่องจักรก่อสร้างขนาดใหญ่ของโลกกำไรเพิ่มขึ้น รวมทั้ง 3M ที่ยอดขายเติบโต หนุนให้คาดการณ์กำไรต่อหุ้น ณ สิ้นปี ของตลาดหุ้น S&P (Estimated Earnings Consensus) รวบรวมโดย Bloomberg อยู่ที่ 120 เหรียญ/หุ้น เพิ่มขึ้นจากที่เคยประเมินไว้เมื่อสิ้นเดือน ก.ย. ที่ 119.31 เหรียญ/หุ้น และ 118.32 เหรียญ/หุ้น เมื่อต้นปี 2557
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่มีปัจจัยบวกชัดเจนนัก นอกจากการรายงานผลประกอบการงวด 3Q57 ซึ่งน่าจะช่วยหนุนราคาหุ้นได้เป็นรายตัว และ แผนการลงทุนภาครัฐ ได้แก่ การรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนดังกล่าวข้างต้นแล้ว โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่รัฐบาลเพิ่มได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา น่าเอื้อต่อผู้รับเหมาที่จะได้ประโยชน์จากความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง(บางใหญ่-บางซื่อ) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค,บางซื่อ-ท่าพระ) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอความชัดเจนในเรื่องของการกำหนดวงเงินที่แน่นอน เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการทบทวนของกระทรวงคมนาคม ประกอบกับราคาหุ้นรับเหมาฯ ขนาดใหญ่ปรับขึ้นไปแรงในช่วงก่อนหน้าแล้วทั้ง ITD,CK,STEC และ UNIQ ปัจจุบันซื้อขายกันที่ PER สูงเกิน 25 เท่า จึงเหลือ Upside ในการปรับตัวขึ้นอีกไม่มาก ฝ่ายวิจัยแนะนำให้เลือกลงทุนหุ้นรับเหมาก่อสร้างขนาดกลาง-เล็ก ที่มีพื้นฐานดีและราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นไม่มาก คือ SEAFCO (FV@B 7.04) PYLON(FV@B 9.00) และ SYNTEC (FV@B 2.83)

ภรณี ทองเย็น, CISA เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์ เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
กษิดิ์เดช รัตนสมบูรณ์
มาราพร กี้วิริยะกุล 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!